การบินไทย เผยผลประกอบการปี 2565 ขาดทุน 252 ล้าน

การบินไทย

การบินไทย เผยผลประกอบการปี’65 รายได้จากค่าโดยสารพุ่งแตะ 7.4 หมื่นล้าน ขาดทุนสุทธิ 252 ล้าน เหตุต้นทุนน้ำมันพุ่ง ส่วนไทยสมายล์ขาดทุน 4 พันล้าน

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานสำหรับปี 2565 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2565 โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี บริษัทมีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 36,902 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 367% มีค่าใช้จ่ายไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 28,020 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (EBIT) 8,882 ล้านบาท ดีกว่าปีก่อนหน้าซึ่งขาดทุน 2,579 ล้านบาท

ส่งผลให้บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานติดต่อกัน 2 ไตรมาสตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 เป็นต้นมา จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว การปรับโครงสร้างทางธุรกิจและต้นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีกำไรสุทธิ 11,154 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงาน 11,061 ล้านบาท ดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 660%

ในส่วนของผลการดำเนินงานสำหรับปี 2565 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2565 บริษัทมีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 97,514 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 341% จากปี 2564 จากกิจกรรมขนส่งผู้โดยสาร สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ที่เติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีค่าใช้จ่ายไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 86,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127% จากปี 2564 จากค่าใช้จ่ายผันแปรในส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่มีการปรับราคาขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และต้นทุนการบริการในกิจกรรมขนส่งด้วยปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น

โดยเป็น EBIT เป็นเงิน 11,207 ล้านบาท ดีกว่าปี 2564 ที่ขาดทุน 15,906 ล้านบาท และมี EBITDA จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน 19,689 ล้านบาท ดีกว่าประมาณการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขความสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการที่ระบุว่าบริษัท ต้องมี EBITDA จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบินไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนก่อนหน้าที่จะรายงานผลถึงผลสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการ

จากผลการดำเนินงานของบริษัทย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ซึ่งมีผลการดำเนินงานขาดทุน 4,248 ล้านบาท และรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิของบริษัท และบริษัทย่อยสุทธิที่เป็นรายได้ 1,187 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากการกลับรายงานผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ กำไรจากการขายสินทรัพย์ การขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากการตีมูลค่าทางบัญชีอันเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินบาท และต้นทุนทางการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9) 11,148 ล้านบาท

ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 252 ล้านบาท หรือคิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 0.12 บาท อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าประมาณการในแผนฟื้นฟูกิจการ ในขณะที่ปี 2564 มีกำไรต่อหุ้น 25.25 บาท

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 เปรียบเทียบกับวันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 198,178 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.9% มีหนี้สินรวม 269,202 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทและบริษัทย่อยติดลบจำนวน 71,024 ล้านบาท ลดลง 227 ล้านบาท

ในขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทติดลบ 63,493 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 3,165 ล้านบาท มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 34,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29,025 ล้านบาท อันเป็นผลจากการดำเนินธุรกิจเป็นสำคัญ

ในปี 2565 บริษัทและบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิต (ASK) เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 243% และมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้นถึง 1,118% มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 67.9% สูงกว่าปี 2564 ซึ่งเฉลี่ยเท่ากับ 19.1%

จำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 9.01 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 449% มีปริมาณการผลิตด้านการขนส่งสินค้า (ADTK) สูงกว่าปีก่อน 249% ปริมาณการขนส่งสินค้า (RFTK) สูงกว่าปีก่อน 134% อัตราส่วนการขนส่งสินค้า (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 63.1%

ปัจจุบันบริษัท และบริษัทย่อยมีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวมทั้งสิ้น 64 ลำ และในตารางการบินฤดูร้อน ปี 2566 ให้บริการเที่ยวบินสู่ 39 เส้นทางบินทั่วโลก พร้อมเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย อาทิ โตเกียว (นาริตะและฮาเนดะ) โอซากา โซล ไทเป ฮ่องกง สิงคโปร์ กัลกัตตา มุมไบ เป็นต้น

รวมถึงกลับมาให้บริการเส้นทางบินเพิ่มเติมในเส้นทางประเทศจีนในช่วงต้นปีได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง เฉิงตู กว่างโจว เพื่อรองรับการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเร่งขยายขนาดฝูงบินให้เพียงพอต่อแผนเส้นทางบินและจำนวนเที่ยวบิน เพื่อบรรลุเป้าหมายการหารายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทนำไปสู่ความเจริญอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป