บางกอกแอร์เวย์ส เปิดแผน “ปั๊มรายได้-พลิกทำกำไร”

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ
พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ประกาศเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจเต็มที่สำหรับบริษัท “การบินกรุงเทพ” หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส หลังจากที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 พร้อมทั้งวางแผนพัฒนาขับเคลื่อนธุรกิจในทุกหน่วยธุรกิจหลังจากมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานในปี 2565 อยู่ที่ 889.3 ล้านบาท

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถึงแผนธุรกิจ ทั้งสายการบินและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายสำหรับปี 2566 ดังนี้

การบินทั่วโลกฟื้นตัว

“พุฒิพงศ์ บอกว่า ข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่าภาพรวมสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 โดยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีการฟื้นตัวช้าที่สุด ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารเทียบเท่ากับปี 2562 ได้ในปี 2568 ส่วนภาพรวมของประเทศไทยนั้นมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังการผ่อนคลายมาตรการเข้าออกพรมแดน

ในส่วนของ “บางกอกแอร์เวย์ส” ปี 2565 ที่ผ่านมา “พุฒิพงศ์” บอกว่า มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร 2.65 ล้านคน หรือราว 45% ของปริมาณผู้โดยสารของปี 2562 ที่มีผู้โดยสาร 5.86 ล้านคน จากให้บริการเที่ยวบิน 29,832 เที่ยวบิน คิดเป็นราว 42.2% ของปี 2562 ที่สายการบินได้ให้บริการเที่ยวบิน 70,810 เที่ยวบิน

ตั้งเป้าปี’66 กลับมา “กำไร”

สำหรับปี 2566 นี้มีเป้าหมายให้บริการเที่ยวบินรวม 48,000 เที่ยวบิน ขนส่งผู้โดยสาร 4.4 ล้านคน หรือราว 70-80% ของปี 2562 มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยที่สัดส่วน 76% ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,400 บาท และมีรายได้จากผู้โดยสาร 15,000 ล้านบาท

โดยปัจจุบันให้บริการเส้นทางบินในประเทศ 15 เส้นทาง เส้นทางระหว่างประเทศ 7 เส้นทาง ส่วนเส้นทางบินประเทศจีน คือ สมุย-ฉงชิ่ง และ สมุย-เฉิงตูนั้น คาดว่าจะกลับมาให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2566 นี้

โดยปัจจุบัน “บางกอกแอร์เวย์ส” มีเครื่องบินในฝูงบิน 32 ลำ มีแผนจำหน่ายหรือคืนเครื่องบินที่หมดสัญญาแก่ผู้ให้เช่า 7 ลำ และจัดหาเครื่องบินเพิ่มอีก 2-3 ลำ ทำให้ในปลายปี 2566 นี้ คาดว่าจะมีเครื่องบินคงเหลือในฝูงบินทั้งสิ้น 27-28 ลำ

“ปีนี้คาดว่าน่าจะกลับมาทำกำไรสุทธิได้ เห็นได้จากผลตอบรับของผู้โดยสารในช่วงต้นปี ซึ่งภาพรวมดีกว่าที่วางงบประมาณไว้”

เสริมจุดแข็ง 3 สนามบิน

นอกจากในส่วนของรายได้จากการขายตั๋วโดยสารแล้ว ในปี 2566 นี้บริษัทยังมีแผนลงทุนพัฒนาสนามบินที่อยู่ภายใต้การบริหารทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินสมุย สนามบินตราด และสนามบินสุโขทัย เพื่อให้สามารถรองรับเที่ยวบินและเป็นศูนย์กลางการบินในการเชื่อมต่อระหว่างจุดหมายปลายทางต่าง ๆโดยมีแผนเพิ่มศักยภาพในด้านระบบการจัดการ การปรับปรุงด้านกายภาพ การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ทั้งนี้ ในปลายปี 2566 นี้บริษัทมีแผนลงทุนพัฒนาสนามบินตราด (จังหวัดตราด) ครั้งใหญ่ โดยขยายทางวิ่ง (Runway) จากปัจจุบันที่มีความยาว 1,800 เมตร ให้สามารถรองรับเครื่องบินไอพ่น หรือเครื่องแอร์บัส A320 ได้ พร้อมทั้งขยายลานจอดเครื่องบิน และย้ายอาคารผู้โดยสาร ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาปรับปรุงทั้งสิ้นประมาณ 2 ปี

จับตา ศก.โลก-ราคาน้ำมัน

“พุฒิพงศ์” ยังให้สัมภาษณ์ถึงปัจจัยท้าทายอุตสาหกรรมการบินในปีนี้ด้วยว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการบินจะยังส่งผลกระทบต่อการขยายเส้นทางบินของบางสายการบินอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าปัจจุบันหลายสายการบินได้เปิดรับพนักงาน แต่อัตราสมัครเข้าทำงานยังน้อยกว่าความต้องการ โดยเฉพาะพนักงานบริการภาคพื้น

และจากการที่สายการบินทั่วโลกเริ่มกลับมาให้บริการทำให้เกิดปัญหาต่อห่วงโซ่อุปทานของอะไหล่เครื่องบินที่เกิดความล่าช้ากว่าอดีต ปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการขยายเส้นทางบินหรือเพิ่มความถี่ของสายการบิน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปัญหาจะค่อย ๆ คลี่คลาย

ไม่เพียงเท่านี้ ธุรกิจสายการบินยังต้องจับตาสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย รวมถึงราคาน้ำมัน ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนของสายการบิน และการออกเดินทางของนักท่องเที่ยว

พร้อมทิ้งท้ายว่า อยากฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมืองให้พิจารณามาตรการที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินให้มีความคล่องตัวในการทำธุรกิจ พร้อมสนับสนุนภาคสายการบินดังที่ผ่านมา

…เพราะปัจจุบันธุรกิจสายการบินยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว