อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่เคยทำรายได้ถึง 3 ล้านล้านบาท มีสัดส่วน GDP ราว 20% กำลังถูกจับตามองอีกครั้ง เมื่อ 7 สมาคมท่องเที่ยวรายใหญ่ยกแผงลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) หรือสภาท่องเที่ยว
ประกอบด้วย สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA), สมาคมโรงแรมไทย (THA), สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.), สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA), สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.), สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย (PGAT) และสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.)
รวมตัวตั้ง “สมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยว” หรือ FETTA พร้อมจัดแถลงข่าวประกาศภารกิจและเป้าหมายในวันที่ 28 มิถุนายน 2566
แตกซ้ำรอยอดีตในรอบ 15 ปี
อดีตประธาน สทท.ให้ข้อมูลกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประกาศแยกตัวอย่างชัดเจนครั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์ซ้ำรอยอดีตเมื่อปี 2551 หรือ 15 ปีที่แล้ว ในยุคสมัยที่มี “กงกฤช หิรัญกิจ” นั่งเป็นประธาน สทท. และมี “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ
ครั้งนั้นสมาคมที่ลาออกจากสภาท่องเที่ยวมีจำนวน 6 สมาคม ได้แก่ สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA), สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA), สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน), สมาคมโรงแรมไทย (THA), สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ และสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.)
และตั้งเป็น “สหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย” หรือเฟสต้า ทำงานบทบาทในเวทีแสดงความคิดเห็นต่อภาครัฐ ททท. และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ
โดยเหตุผลของการลาออกคือ สภาท่องเที่ยวไม่สามารถเป็นตัวแทนเอกชนภาคธุรกิจการท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง ทำงานเฉพาะกลุ่ม ไม่ดูภาพรวมทั้งอุตสาหกรรม ขาดความร่วมมือกัน ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในระดับชาติ
มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจ-ไม่ขัดแย้ง
สำหรับการลาออกของ 7 สมาคมท่องเที่ยวรายใหญ่ครั้งนี้ “ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) บอกว่า เป็นการทำให้การทำงานระหว่างสมาคมต่าง ๆ มีความเข้มแข็งมากขึ้น ไม่ได้ต้องการสร้างความขัดแย้ง หรือเกิดการแข่งขันระหว่างองค์กร
พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาสมาคมต่าง ๆ ได้ร่วมทำงานกับ สทท. เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวมาตลอด แต่ยอมรับว่ามีการสื่อสารภายในระหว่างสมาชิกกันน้อย
รวมไปถึงมองว่าสมาคม ATTA มีบทบาทน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้แนวคิดอาจไม่ได้ถูกขับเคลื่อนตามแนวทางที่คาดไว้ เช่น มาตรการกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยว กองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ ฯลฯ
“สมาคม ATTA เรามีตัวตน เรามีความสามารถในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ แต่เราเห็นว่ายังไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร” ดร.อดิษฐ์ย้ำ
ทั้งนี้ มองว่าการจัดตั้งสมาพันธ์ FETTA นั้นจะช่วยให้สมาชิกได้ประโยชน์ สามารถนำเสนอแนวคิดและผลักดันนโยบายที่มาจากสมาชิกโดยตรงได้ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง
นอกจากนี้ยังสามารถดำเนินงานในเชิงวิชาการ นำข้อมูลเชิงลึกที่แต่ละสมาคมมีมาต่อยอดได้อีกด้วย
ปัญหารุมเร้าหนักรอต่อไม่ไหว
สอดรับกับ “ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร” นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) ที่บอกว่า ความเดือดร้อนของสมาชิกในปัจจุบันอยู่ในขั้นรุนแรง ไม่สามารถรอเวลาที่จะได้รับความช่วยเหลืออีกต่อไปได้
ทั้งนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สมาคม สปข.ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวแบบไม่ประจำทางได้รับความเสียหายมากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมมากว่า 15 ปี
โดยปี 2562 ในตลาดมีรถให้บริการทั่วประเทศอยู่กว่า 30,000 คัน ปัจจุบันเหลือรถให้บริการเพียงแค่ 15,000 คัน หายไปครึ่งหนึ่ง ทั้งเลิกกิจการ ถูกธนาคารยึดรถ ฯลฯ
ประกอบกับสมาคมยังไม่เห็นทิศทางที่ทางสภาท่องเที่ยวจะแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ทั้ง ๆ ที่ทีมบริหารชุดใหม่ถูกเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารได้ 6 เดือนแล้ว
“ตอนนี้ทุกอย่างกำลังฟื้น รัฐบาลใหม่ก็กำลังจะเข้ามา แต่สมาชิก สปข.ยังเดือดร้อนหนัก ไม่สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ ไม่มีเงินซ่อมบำรุงรถให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามกฎหมาย”
ด้วยเหตุนี้ทำให้ สปข.จึงรอไม่ได้อีกต่อไป ต้องเร่งขยับและนำเสนอประเด็นปัญหาให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแล เพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยเดินหน้าต่อได้ในทุกเซ็กเตอร์
“ทั้ง 7 สมาคมมีความแข็งแรงระดับหนึ่ง การแยกมาขับเคลื่อนเองโดยตรงน่าจะทำให้พวกเราเดินได้เร็วขึ้น”
เชื่อสมาชิกได้ประโยชน์
เช่นเดียวกับ “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ที่ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลในการลาออกจากสมาชิกสภาท่องเที่ยวว่า ต้องการความคล่องตัวและความอิสระในการทำงานที่มากขึ้น และเชื่อว่าการออกมาขับเคลื่อนเองน่าจะบรรลุเป้าหมายได้มากกว่า ที่สำคัญจะเป็นประโยชน์กับสมาชิกของสมาคมโรงแรมมากกว่า
“สมาคมโรงแรมเป็นสมาคมใหญ่ สมาชิกเป็นผู้ประกอบการที่แอสเซสมีมูลค่าสูง มีการจ้างงานจำนวนมาก ซึ่งก็น่าจะต้องมีบทบาทในสภาท่องเที่ยวและควรที่จะสามารถของบประมาณเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้เช่นกัน”
เร่งแก้ “วีซ่ากรุ๊ป-ฟื้นไฟลต์บิน”
สำหรับนโยบายที่ต้องเร่งผลักดัน เพื่อฟื้นฟูภาคท่องเที่ยวไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 นั้น “ดร.อดิษฐ์” ให้ข้อมูลว่า ในส่วนของสมาคม ATTA มี 2 ประเด็นใหญ่คือ 1.เสนอแนวคิดสนับสนุนให้สายการบินกลับมาให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้าประเทศมากขึ้น
และ 2.การเร่งแก้ไขปัญหาความไม่สะดวกในการลงทะเบียนวีซ่าแบบกลุ่ม หรือวีซ่ากรุ๊ป ซึ่งต้องหาแนวทางว่าจะทำอย่างที่จะทำให้ผู้ขอวีซ่าจะได้รับวีซ่าที่เร็วขึ้น โดยกำหนดว่าน่าจะมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหานี้ภายใน 1-2 เดือนหลังจากการตั้งสมาพันธ์
“ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เป็นช่วงเวลาที่ประเทศจีนเข้าสู่ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน และตรงกับช่วงที่ภาคการท่องเที่ยวไทยเข้าสู่โลว์ซีซั่น ซัพพลายไซด์ภาคการท่องเที่ยวต้องการนักท่องเที่ยวจากตลาดจีนมาเข้าเติม”
จัดหากองทุนสนับสนุนการเงิน
ในส่วนของผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) นั้นได้สรุปความเดือดร้อนและสิ่งที่อยากได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไว้ 6 เรื่อง ได้แก่ 1.จัดหากองทุนสนับสนุนการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปซ่อมบำรุงรถที่ให้กลับมาให้บริการด้วยมาตรฐานความปลอดภัยตามกฎหมายกำหนด
2.จัดโครงการส่งเสริมการเดินทางด้วยรถทัวร์โดยตรง เนื่องจากที่ผ่านมาต้องผ่านบริษัททัวร์ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการรถไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างแท้จริง 3.เร่งมาตรการนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศโดยเร็ว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่
4.เร่งการเดินทางโดยรถทัวร์ โดยผ่านหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะองค์กรปกครองท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น การจัดประชุมสัมมนา การศึกษาดูงาน เป็นต้น 5.ดำเนินการแก้ไขระเบียบสำนักงบประมาณที่ออกเมื่อเดือนเมษายน 2566 เรื่อง ไม่อนุญาตให้จัดจ้างบริษัทที่งบการเงินติดลบในปีที่ผ่านมา
และ 6.เร่งให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการมาตรฐานความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และสร้างคุณภาพมาตรฐานกลาง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ดันแก้ “ค่าไฟ-แรงงาน-ภาษี”
ด้าน “มาริสา” บอกว่า สำหรับสมาคมโรงแรมไทยจะโฟกัสผลักดันประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมาก ๆ เช่น ค่าไฟฟ้า แรงงาน และเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยปัจจุบันประเทศประสบปัญหาขาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างหนัก
และที่ผ่านมาสมาคมได้เสนอให้ภาครัฐเปิดรับแรงงานนอกเหนือจากประเทศที่เคยมีการตกลง MOU ไว้ รวมถึงพัฒนาแรงงานที่มีทักษะ และกระตุ้นให้แรงงานเข้าสู่สายงานการโรงแรมมากขึ้น
ขณะที่ปัญหาเรื่องค่าไฟที่ปรับตัวขึ้นราว 20% ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการดำเนินงาน ขณะที่ธุรกิจโรงแรมยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นหนี้และมีภาระเรื่องดอกเบี้ยที่สูง
เช่นเดียวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่สมาคมมองว่าการปรับเพิ่มภาษียังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ผู้ประกอบการยังคงมีกระแสเงินสดไม่สมดุล
“ที่สมาคมโรงแรมไทยเป็นสมาชิกสภาหอการค้าด้วย ที่ผ่านมาเราผลักดันหลายเรื่องผ่านทางสภาหอการค้า เช่น เรื่องซอฟต์โลน แรงงาน ค่าไฟ ฯลฯ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่สภาหอการค้าผลักดันในภาพใหญ่อยู่แล้วด้วย”
แห่ซบอก “สภาหอการค้า”
ผู้คลุกคลีในวงการท่องเที่ยวรายหนึ่งบอกกับ “ประชาชาติธรกิจ” ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับสภาท่องเที่ยวครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านความเชื่อมั่น หมดความน่าเชื่อถือจากหน่วยงานภาครัฐ
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นประเด็นที่ผู้บริหารสภาท่องเที่ยวจำเป็นต้องเร่งแก้ไข เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่น ความเป็นหนึ่งเดียวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาโดยด่วน
พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่า มั่นใจอย่างมากว่า 7 สมาคมที่ลาออกจากสภาท่องเที่ยวนั้น จะหันไปทำงานกับสภาหอการค้าไทย ขณะที่สภาหอการค้าเองก็อยากได้ท่องเที่ยวเข้าไปอยู่ด้วยเช่นกัน นับตั้งแต่ยุค “กลินท์ สารสิน” นั่งเป็นประธานหอการค้าไทย โดยตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวคุณภาพสูง มาดูแลกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว
เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นเซ็กเตอร์ใหญ่ในการสร้างรายได้เข้าประเทศ และเป็นธุรกิจที่กำลังฟื้น และสร้างรายได้เข้าประเทศได้เร็วที่สุดเมื่อเทียบกับขาธุรกิจอื่น ๆ
และไม่เพียงแค่ 7 สมาคมใหญ่เท่านั้น ล่าสุดยังมีกระแสข่าวว่าจะมีสมาคมท่องเที่ยวอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งลาออกจากสภาท่องเที่ยวมาซบอกสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยว ซึ่งมี “สภาหอการค้าไทย” หนุนหลังอยู่เช่นกัน
ปรากฏการณ์หักดิบตบเท้าลาออกจาก “สภาท่องเที่ยว” ของ 7 สมาคมท่องเที่ยวครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการพลิกโฉมของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยแล้ว ยังสะท้อนชัดเจนถึงภาพลักษณ์และยุทธศาสตร์ที่เหนือกว่าของ “สภาหอการค้า” ด้วย