“มายแอร์ไลน์” น้องใหม่ รุกหนักตั้งเป้า 5 ปี มีฝูงบิน 80 ลำ

สัมภาษณ์

สร้างความฮือฮาไม่น้อยสำหรับการเปิดตัวของสายการบิน “MyAirline” สายการบินโลว์คอสต์สัญชาติมาเลเซีย ที่ขยายเส้นทางการบินระหว่างประเทศเข้าสู่กรุงเทพฯ เป็นแห่งแรก พร้อมสโลแกน “Your Experience Matters” หรือประสบการณ์ของคุณคือสิ่งสำคัญ

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “เรเนอร์ เทียว เคง ฮอก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของสายการบิน MyAirline (มายแอร์ไลน์) ถึงกลยุทธ์ แผนการดำเนินธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงมุมมองต่อภาพการแข่งขันของธุรกิจสายการบิน ดังนี้

“โควิด” สร้างโอกาส

“เรเนอร์” เริ่มต้นเล่าถึงที่มาของสายการบินมายแอร์ไลน์ว่า เกิดขึ้นจากตัวเขาเองซึ่งเคยทำงานในอุตสาหกรรมการบิน ร่วมพูดคุยกับผู้ก่อตั้งอีกรายซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวมาเลเซีย โดยมองว่า “มายแอร์ไลน์” เข้าสู่อุตสาหกรรมการบินในช่วงเวลาที่เหมาะสม

กล่าวคือ ช่วงโควิด-19 เป็นห้วงเวลาที่ผู้เล่นรายอื่น ๆ กำลังเจ็บหนักจากต้นทุนทางการเงิน หรือหนี้สินที่เกิดขึ้น ทำให้ศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจลดลง มายแอร์ไลน์จึงใช้โอกาสนี้ “ล็อกต้นทุน” ด้วยการทำสัญญาระยะยาว ทำให้มีต้นทุนที่ได้เปรียบผู้เล่นรายอื่น ๆ

“ผู้ประกอบการธุรกิจสายการบินแต่ละราย ต่างมีต้นทุนที่คล้าย ๆ กันคือ ต้นทุนด้านอากาศยาน ค่าเชื้อเพลิง พนักงาน ต้นทุนด้านค่าเงิน แต่หากสามารถจัดการต้นทุนได้ดี ประกอบกับการนำเสนอราคาบัตรโดยสารที่เหมาะสม ผลิตภัณฑ์ที่ดี โปรแกรมสมาชิก หรือ loyalty program ที่ดีจะทำให้มายแอร์ไลน์สามารถแข่งขันได้”

จ่อเพิ่ม “ภูเก็ต-กระบี่-เชียงใหม่”

“เรเนอร์” บอกว่าสายการบินมายแอร์ไลน์เริ่มให้บริการเที่ยวบินแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2565 ปัจจุบันให้บริการเส้นทางบินในประเทศ (มาเลเซีย) จำนวน 9 จุดบิน ได้แก่ กัวลาลัมเปอร์ กูชิง โคตาคินาบาลู ลังกาวี โคตาบาร์ ปีนัง ซีบู ตาเวา (Tawau) มีรี และเส้นทางบินต่างประเทศ 1 จุดบิน คือ กัวลาลัมเปอร์-กรุงเทพฯ ทำการบินสู่ทั้งท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยความถี่เส้นทางละ 1 เที่ยวบินต่อวัน

ADVERTISMENT

โดยการบินสู่ 2 สนามบินของกรุงเทพฯ นั้นจะช่วยสร้างความยืดหยุ่นแก่สายการบิน เพราะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทำให้สายการบินเข้าถึงผู้โดยสารขาเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นเหมือนศูนย์กลางทางด้านการบินของสายการบินต้นทุนต่ำ

“ในเดือนสิงหาคมนี้เราเตรียมเพิ่มความถี่เที่ยวบินสู่กรุงเทพฯ จากเดิมสนามบินละ 1 เที่ยวบินต่อวัน เป็นสนามบินละ 2 เที่ยวบินต่อวัน ทำให้สายการบินมีเที่ยวบินสู่กรุงเทพฯ จำนวน 4 เที่ยวบินต่อวัน และมีแผนขยายเส้นทางบินไปยังจุดบินอื่น ๆ เช่น ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ ภายในสิ้นปี 2566 นี้”

ADVERTISMENT

เล็งบินสู่ “อาเซียน-จีน-อินเดีย”

ส่วนการเปิดเส้นทางบินอื่น ๆ นั้น สายการบินอยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดเส้นทางบิน ในเส้นทางที่ใช้เวลาบินประมาณ 1-4 ชั่วโมง เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินเดียตอนใต้ และจีนทางตอนใต้

จากนั้นในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า เมื่อฝูงบินมีความพร้อม อาจพิจารณาเส้นทางที่ทำการบินไกลขึ้น เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย อีกทั้งในอนาคตมีแผนขยายศูนย์กลางการบิน (Hub) ไปยังเมืองกูชิง และโคตาคินาบาลู ของมาเลเซียด้วย

โดยในปี 2566 สายการบินตั้งเป้าให้บริการผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 4.5 ล้านคน และเติบโตขึ้นเป็น 10.5 ล้านคนในปี 2567 ขณะที่ปี 2568 สายการบินวางเป้าหมายขนส่งผู้โดยสารจำนวน 14.5 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านคน ในปี 2569

และในปี 2570 สายการบินตั้งเป้าขนส่งผู้โดยสารจำนวน 21 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศ 8.4 ล้านคน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 12.6 ล้านคน ครองสัดส่วน 60% ของปริมาณผู้โดยสารที่ขนส่งทั้งหมด

มายแอร์ไลน์

ไม่หวั่น “โอเว่อร์” ซัพพลาย

“เรเนอร์” บอกอีกว่า ปัจจุบันสายการบินมายแอร์ไลน์มีเครื่องบินที่ประจำการอยู่ในฝูงบินทั้งสิ้น 8 ลำ โดยเป็นเครื่องบินแบบแอร์บัส A320ceo ทั้งหมด เหตุที่สายการบินเลือกใช้เครื่องบินรุ่นดังกล่าวแทนที่จะเป็นเครื่องบินแอร์บัส A320neo ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นใหม่กว่า และประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่านั้น เป็นเพราะเครื่องบินแอร์บัส A320ceo มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน

และปัจจุบันสายการบินได้ลงนามสัญญาเช่าเครื่องบินจำนวน 17 ลำ ทั้งหมดเป็นเครื่องบินแบบแอร์บัส A320ceo โดยภายในสิ้นปี 2566 นี้มีเป้าหมายขยายจำนวนฝูงบินเป็น 20 ลำ และเพิ่มขึ้นเป็น 35 ลำในปี 2567

ส่วนในปี 2568 มายแอร์ไลน์มุ่งเป้าขยายฝูงบินเป็น 50 ลำ จากนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 65 ลำ ในปี 2569 และ 80 ลำในปี 2570

ทั้งนี้ สายการบินจะพิจารณาเครื่องบินของทั้งแอร์บัส เช่น แอร์บัส A321neo, แอร์บัส A321XLR (Xtra Long Range) ซึ่งรองรับการปฏิบัติการบินได้ไกลขึ้น และเครื่องบินจากโบอิ้ง เช่น โบอิ้ง 737 Max8 และโบอิ้ง 737 Max10

แม้ว่าสายการบินในเอเชีย รวมถึงภูมิภาคอาเซียนจะจัดหาเครื่องบินกันจำนวนมาก เช่น กลุ่มเวียตเจ็ทแอร์ที่จัดหาเครื่องบินโบอิ้ง 737 กว่า 200 ลำ แอร์อินเดีย จัดหาเครื่องบินกว่า 470 ลำ แต่ “เรเนอร์” บอกว่า ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าซัพพลายเครื่องบินยังไม่มากจนเกินไป

“การหาเครื่องบินใหม่ของแต่ละสายการบินมีหลายปัจจัย ทั้งการนำเครื่องบินใหม่เข้าประจำการ แล้วจำหน่ายเครื่องบินเก่าออกจากฝูงบิน”

ที่สำคัญคือ ภูมิภาคอาเซียนมีประชากรกว่า 600 ล้านคน หากรวมประเทศรอบ ๆ อาเซียน ประชากรย่อมมีมากกว่านั้น ภูมิภาคอาเซียนจึงยังมีโอกาสและมีศักยภาพในการขยายตัว

“เราไม่ได้มองแค่ตลาด 2-3 ประเทศ แต่เรามองไกลมากกว่านั้น ดังนั้น แผนการสั่งซื้อเครื่องบินดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร”

ประสบการณ์คือสิ่งสำคัญ

“เรเนอร์” ยังบอกถึงจุดแข็งของมายแอร์ไลน์ด้วยว่า เป็นสายการบินให้ความสำคัญและชูจุดแข็งด้านการให้บริการลูกค้า ผู้โดยสารสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่คอยให้บริการลูกค้าที่เป็นมนุษย์ ไม่ใช่ระบบแชตบอต โดยเห็นเพนพอยต์ของลูกค้าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยมองว่าปัจจุบันแชตบอตยังไม่สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์

ขณะเดียวกันสายการบินยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และการให้บริการตรงต่อเวลา ขณะที่ในส่วนของโปรดักต์ก็มีจุดขายที่ชัดเจน เช่น ในส่วนของห้องโดยสาร เบาะที่นั่งจะได้รับการปรับปรุงใหม่ทั้งหมดและออกแบบให้มีองศาเอียงเล็กน้อย

หรือเบาะที่นั่งตรงกลางมีความกว้างกว่าที่นั่งริมหน้าต่างและทางเดิน รวมถึงมีระยะห่างระหว่างที่นั่ง 34 นิ้ว และมีช่องวางโทรศัพท์บนโต๊ะที่นั่งด้านหน้า ทำให้ผู้โดยสารยังได้รับความสะดวกสบาย

อีกทั้งเบาะโดยสารที่ปรับปรุงใหม่เลือกใช้วัสดุที่เบาขึ้น ทำให้ลดน้ำหนักบรรทุกได้สูงสุดถึง 800 กิโลกรัม ซึ่งจะช่วยลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงด้วย

โดยที่ผ่านมา “มายแอร์ไลน์” มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยทุกเส้นทางสูงกว่า 90% และมีอัตราการตรงต่อเวลาสูงที่ระดับ 95% และให้บริการขนส่งผู้โดยสารไปแล้วมากกว่า 1 ล้านราย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันนี้ (12 ตุลาคม 2566) สายการบินออกแถลงการณ์ประกาศหยุดทำการบิน โดยอ้างเหตุผลปัญหาด้านการเงิน และยังไม่ได้ประกาศถึงแนวทางเยียวยา ชดเชยผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบนอกเหนือจากให้ติดต่อศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์