ศึกศักดิ์ศรี “ดิวตี้ฟรี” กับ “เป้าหมาย” ที่แตกต่าง

นับเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีของ “บิ๊กดิวตี้ฟรีโลก” ที่ไม่มีใครยอมใครอย่างแท้จริง สำหรับโครงการประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรอบนี้

คงปฏิเสธไม่ได้ว่างานนี้ “คิง เพาเวอร์” ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีรายเดิมต้องรับศึกหนักแน่นอน เพราะผู้ท้าชิงสัมปทานทั้ง 2 ราย คือ บางกอกแอร์เวย์ส และรอยัล ออคิด เชอราตันฯ นั้นแม้ว่าตัวเองจะยังไม่แข็งแกร่งในธุรกิจนี้นัก แต่พันธมิตรที่ดึงมาร่วมถือว่าโปรไฟล์แน่นปึ้ก มีรายได้สูงสุดระดับ 1-2 ของโลกเลยทีเดียว

กลุ่มโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) ที่ผนึกพันธมิตรยุโรป WDFG UK บริษัทลูกของ Dufry Group ยักษ์ดิวตี้ฟรีที่มีรายได้อันดับ 1 ของโลก ต่อเนื่องถึง 4 ปี (2014-2017) ปัจจุบันมีร้านค้ากว่า 2,300 แห่งใน 65 ประเทศ

ขณะที่กลุ่มบางกอกแอร์เวย์ส มี “ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี” พันธมิตรสัญชาติเกาหลี มีรายได้อันดับ 2 ของโลก ให้บริการร้านค้าใน 8 ประเทศ เป็นหัวหอก

ในฟากของพื้นที่เชิงพาณิชย์ “คิงเพาเวอร์” ผู้รับสัมปทานรายเดิม ต้องสู้กับ “เซ็นทรัลพัฒนา” หรือ CPN บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศรวมมากกว่า 30 แห่ง

ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจดิวตี้ฟรีกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประมูลรอบนี้น่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะเป็นช่วงสุดท้ายของการประมูล ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ของแต่ละรายนั้นมีที่มาที่ไปและเป้าหมายที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

บางกลุ่มตั้งใจเข้าสู่ธุรกิจดิวตี้ฟรีอย่างจริงจัง บางกลุ่มเข้ามาเพื่อปั่นราคาสัมปทาน ชนิดที่เรียกว่า คนที่ได้สัมปทานก็ไม่ได้สบายเหมือน 10 ปีที่ผ่านมา และบางกลุ่มก็ต้องการเข้ามาเพียงแค่ศึกษาข้อมูลเท่านั้น

พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่า “คิง เพาเวอร์” เป้าหมายคือต้องรักษาแชมป์ รักษาธุรกิจ เนื่องจาก “ดิวตี้ฟรี” คือ ธุรกิจหลักที่ต้องทุ่มสุดตัว

เรียกว่าเทหนักขนาดที่คนวงในพูดกันว่า รอบนี้ “คิง เพาเวอร์” ลงทุนใช้ทีมงานต่างประเทศทำรายละเอียดทั้งหมด แถมยังวางแผนกันไว้หลายซีเนริโอ พร้อมรับมือคู่แข่งทุกรูปแบบ หากซีเนริโอแรกที่วางไว้นั้นไม่สามารถรับมือคู่แข่งได้ก็พร้อมควักซีเนริโอ 2, 3 ออกมาสู้เป็นสเต็ปโดยมีพลังของคู่แข่งเป็นตัวแปรหลัก

ส่วน “บางกอกแอร์เวย์ส” เป็นอีกบริษัทหนี่งที่มีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการขยายฐานธุรกิจสู่ “ดิวตี้ฟรี” พร้อมระบุชัดว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต เพราะธุรกิจสายการบินมาร์จิ้นต่ำ แข่งขันสูง แถมต้นทุนแกว่งควบคุมยาก

“งานนี้เชื่อว่า หมอเสริฐ (ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ) เอาจริง และทุ่มหมดหน้าตักเช่นกัน โดยคนในวงการวิเคราะห์กันว่า เป้าหมายของบางกอกแอร์เวย์สน่าจะอยู่ที่สัญญาดิวตี้ฟรีสนามบินภูมิภาค 3 สนามบิน มากกว่าสุวรรณภูมิ เพราะเจ้าถิ่นอย่างคิง เพาเวอร์ คงไม่ปล่อยให้สัมปทานหลุดมือไปง่าย ๆ ขณะที่สนามบินในภูมิภาค ที่ผ่านมาก็ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ทำรายได้มากนัก หากคิง เพาเวอร์ ปล่อยไป ก็ไม่ได้กระทบตัวเลขรายได้มากนัก ขณะที่มุมมองการลงทุนของบางกอกแอร์เวย์สนั้นพร้อมที่จะลงทุนแม้จะรู้ว่าในช่วงเริ่มต้นธุรกิจนั้นขาดทุนแน่นอนก็ตาม”

ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลนั้น ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจดิวตี้ฟรีรายเดิมวิเคราะห์ว่า เป้าหมายอยู่ที่พื้นที่เชิงพาณิชย์มากกว่า เพราะรู้ตัวอยู่เต็มอกว่าสู้ในส่วนดิวตี้ฟรีไม่ไหว เนื่องจากบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. เลือกใช้วิธีประมูลแบบเหมาสัญญาเดียว แต่ถ้าหากใช้รูปแบบแยกประมูลตามประเภทสินค้าตามที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยออกมาเขย่าสำเร็จ เชื่อว่ากลุ่มเซ็นทรัลลงแข่งแน่นอน

ประกอบกับนโยบายด้านการลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัลจะดูตัวเลขกำไร-ต้นทุนเป็นที่ตั้ง งานนี้เลยใจไม่ถึงพอ จึงถอดใจไม่ร่วมวงประมูลดิวตี้ฟรี เหลือสู้แค่สนามพื้นที่เชิงพาณิชย์เพียงสัญญาเดียวเท่านั้น

กล่าวสำหรับกลุ่ม “ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าที่ผ่านมา ไมเนอร์ฯเป็นผู้เช่าช่วงรายใหญ่จากคิง เพาเวอร์ จึงไม่แปลกและดูมีเหตุมีผลที่ประกาศตัวเข้าชิงสัมปทานทั้งส่วนดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์แต่เกิดอะไรขึ้นในระหว่างทางยังไม่มีใครเปิดเผยว่า เหตุใดไมเนอร์ฯถึงไม่มีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจดิวตี้ฟรีเข้ามาร่วม และสุดท้ายก็ไม่เข้าร่วมชิงสัมปทานดิวตี้ฟรี เหลือเข้าประมูลเพียงส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่ในที่สุดก็ไม่ผ่านคุณสมบัติด้านเอกสารตามที่ระบุไว้ในทีโออาร์

ชื่อของ “ไมเนอร์ฯ” จึงหลุดหายไปจากการประมูลรอบนี้ไปแล้วโดยปริยาย

สำหรับกลุ่มโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) ที่มีพันธมิตรเป็นดิวตี้ฟรีเบอร์ 1 ของโลก ถือว่าเป็น “ม้ามืด” ที่มาแรงในช่วงปลายของการประมูลอย่างแท้จริง จากม้านอกสายตาในช่วงแรก แต่ทันทีที่ “ชายนิด อรรถญาณสกุล” ซีอีโอ พร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟคผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในแกรนด์ แอสเซสฯผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) ออกมาประกาศถึงความมั่นใจในการร่วมวงประมูลครั้งนี้ ก็ทำให้สนามแข่งขันมีสีสันขึ้นมาอีกมากโขทีเดียว

อย่างไรก็ตาม วงในก็ยังวิเคราะห์ว่าเป้าหมายของกลุ่ม “รอยัล ออคิด เชอราตัน” น่าจะอยู่ที่การลงทุนในส่วนของ “ดาวน์ทาวน์ ดิวตี้ฟรี” มากกว่า เพราะธุรกิจของ WDFG UK ในต่างประเทศนั้นมีแต่ร้านขนาดเล็ก

จึงกล่าวได้ว่าการประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในครั้งนี้เป็น “ศึกแห่งศักดิ์ศรี” และมีเป้าหมายที่แตกต่างกันอย่างแท้จริง !