“ไทยสมายล์”ชูมาตรฐานปลอดภัย ตอกย้ำความเชื่อมั่น

กัปตันอภิธัช ลิมปิสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการ บริษัท ไทยสมาลย์ แอร์เวย์ จำกัด
“ไทยสมายล์” ตอกย้ำความเชื่อมั่นผู้โดยสาร เผยเข้มมาตรฐานด้านความปลอดภัยทุกกระบวนการตั้งแต่ซื้อเครื่องบินใหม่ป้ายแดง ทุ่มงบฯฝึกอบรม-พัฒนานักบินมาตรฐานระดับโลก ซ่อมบำรุงตามมาตรฐานสากล พร้อมรับการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกตลอดเวลา

กัปตันอภิธัช ลิมปิสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการ บริษัท ไทยสมาลย์ แอร์เวย์ จำกัด ผู้บริหารสายการบินไทยสมายล์ เปิดเผยว่า แม้การเดินทางด้วยเครื่องบินจะมีสถิติเกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุด แต่ยอมรับว่าทุกครั้งที่มีข่าวอุบัติเหตุเครื่องบินตก สูญหาย หรือแค่เที่ยวบินมีปัญหาจนเกิดความล่าช้า ฯลฯ ส่งผลให้หลายคนวิตกและขาดความเชื่อมั่นในการโดยสารทางอากาศไปโดยปริยาย

ไทยสมายล์จึงมุ่งสร้างความเชื่อมั่นของผู้โดยสารด้วยการสื่อสารเบื้องหลังการบินผ่านผู้ที่ใกล้ชิดและเป็นกูรูเรื่องความปลอดภัยมากที่สุด นั่นคือ นักบินที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง ขณะที่มาตรฐานเครื่องบินทั้ง 20 ลำ ที่ให้บริการอยู่ขณะนี้ ล้วนเป็นเครื่องบินใหม่แกะกล่อง Airbus A320-232 จากประเทศฝรั่งเศส และเยอรมนี

“เราให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอน ด้วยการส่งทีมงานไปสำรวจตั้งแต่กระบวนการประกอบเครื่องบิน และมีทีมงานรับเครื่องบินพร้อมตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งจะต้องผ่านรูปแบบการตรวจรับว่าทุกชิ้นส่วนทุกองค์ประกอบจะต้องทำงานอย่างถูกต้องสมบูรณ์ ไม่ผิดพลาดอย่างเด็ดขาด” กัปตันอภิธัชกล่าวและว่า นอกจากนี้ยังได้ส่งนักบินเข้าร่วมทำการบินทดสอบกับทีมงานของแอร์บัส ก่อนที่จะมีการส่งมอบและนำเครื่องบินมาให้บริการแก่ผู้โดยสาร

สำหรับกระบวนการซ่อมบำรุงเครื่องบินนั้น บริษัทได้ส่งเครื่องบินทุกลำเข้ารับการซ่อมบำรุงจากบริษัทการบินไทย ซึ่งมีมาตรฐานระดับสากลรองรับ

กัปตันอภิธัชกล่าวด้วยว่า ในส่วนของมาตรฐานความปลอดภัยจากนักบินนั้น บริษัทให้ความใส่ใจตั้งแต่มาตรการคัดกรองนักบินคุณภาพ ประกอบด้วย นักบินที่มีประสบการณ์และมีชั่วโมงบินมาแล้วอย่างเชี่ยวชาญในเครื่องบินรุ่นที่ให้บริการอยู่ หรือนักบินที่มีประสบการณ์บินมาแล้วกับเครื่องบินแบบอื่น แต่ยังไม่เคยบินกับเครื่องบินที่บริษัทมี (qualified pilot) รวมถึงนักบินผู้ช่วย (copilot) และนักเรียนทุนการบินของบริษัท (student pilot) ซึ่งต้องผ่านการทดสอบอย่างเข้มงวด ทั้งพื้นฐานความรู้ ความสามารถ และความถนัดในด้านการบิน รวมถึงต้องผ่านการทดสอบด้านทัศนคติ ที่เรียกว่า aptitude test อีกด้วย

นอกจากนี้ บุคลากรของบริษัททุกคนยังมีความคุ้นชินกับการควบคุมมาตรฐานและการตรวจสอบภายในจากส่วนกลางเสมอ และตระหนักรู้ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งสำหรับนักบินแล้วต้องสอบผ่านทั้งด้าน quality control ซึ่งมีการตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องบิน ศักยภาพการบินของนักบิน และกระบวนการสอนของครูการบินในรอบปี รวมทั้งระบบ quality assurance ที่ควบคุมการตรวจสอบอีกขั้นหนึ่ง รวมทั้งต้องถูกตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกอีกด้วย อาทิ Sar Alliance สำหรับด้านความปลอดภัย และในบทบาทธุรกิจการบินก็จะต้องผ่านมาตรฐาน ISO เป็นต้น

กัปตันฐณัฐ เพียนอก

ขณะที่กัปตันฐณัฐ เพียนอก ผู้อำนวยการฝ่ายฝึกอบรมการปฏิบัติการ สายการบินไทยสมายล์ กล่าวเพิ่มเติมถึงกระบวนการฝึกอบรมนักบินของไทยสมายล์ว่า ก่อนจะเป็นนักบินของไทยสมายล์จะต้องผ่านการเคี่ยวกรำอย่างเข้มข้น นักบินทุกคนต้องผ่านการฝึกที่ได้มาตรฐาน ตั้งแต่พื้นฐานจากศูนย์ฝึกโรงเรียนการบิน จนได้เป็นนักบินพาณิชย์ตรี (commercial pilot license) ก่อนที่จะมาเป็นนักบินสายการบินพาณิชย์

จากนั้นจึงจะเข้ารับการอบรมความรู้เพิ่มเติมที่บริษัทเพื่อเตรียมเข้ารับการอบรมการฝึกบินเครื่องบินแบบ Airbus A320 นอกจากนี้ยังต้องผ่านหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ล่าสุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทลงทุนกว่า 2 ล้านบาทต่อคน สำหรับส่งนักบินไปฝึกที่หน่วยงานมาตรฐานระดับโลกอย่าง Airbus Asia Training Centre สิงคโปร์ เพื่อทำการฝึกกับเครื่องฝึกบินจำลองให้เชี่ยวชาญและเรียนรู้เทคโนโลยีทางด้านการบินที่พัฒนาขึ้น จากนั้นจะกลับมาเข้ารับการฝึกร่วมกับครูการบินบนเครื่องบินจริงที่มีผู้โดยสาร

โดยนักบินจะต้องนำความรู้ความสามารถที่ฝึกฝนมา นำมาใช้ปฏิบัติให้เกิดทักษะความชำนาญบนพื้นฐานของความปลอดภัยสูงสุด นำไปสู่เส้นทางอาชีพนักบินพาณิชย์ ซึ่งความเข้มงวดทั้งหลาย โดยเฉพาะเรื่องมาตรการความปลอดภัยนั้น ไม่เพียงแต่เป็นคีย์ซักเซสของธุรกิจการบินเท่านั้น แต่เพื่อให้ทุกเที่ยวบินของไทยสมายล์มีความปลอดภัยสูงสุดอีกด้วย