“นพพร” ปั้น “ไทยไฟท์” สู่โกลบอลแบรนด์ครองใจคนทั่วโลก

นพพร วาทิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด ผู้จัดการแข่งขันชกมวยไทย THAI FIGHT

นับตั้งแต่การจัดชกมวย “ไทยไฟท์” ครั้งแรก ณ สนามกีฬาอินดอร์ สเตเตี้ยม หัวหมาก เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมาไทยไฟท์เดินหน้าจัดอีเวนต์ชกมวยทั้งในประเทศและในหลาย ๆ ภูมิภาคของโลก โดยเป้าหมายคือการเข้าถึงคนทั่วโลก นาทีนี้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลกไม่มีใครที่ไม่รู้จักไทยไฟท์

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “นพพร วาทิน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด ผู้จัดการแข่งขันชกมวยไทย THAI FIGHT ถึงแนวคิดในการสร้าง พัฒนา และต่อยอดแบรนด์ “ไทยไฟท์” ไว้ดังนี้

“นพพร” บอกว่า ปีนี้เป็นปีที่ “ไทยไฟท์”ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 10 แล้ว “ไทยไฟท์” ในวันนี้ไม่ใช่แค่อีเวนต์จัดการแข่งขัน “ชกมวย” เท่านั้น แต่ “ไทยไฟท์” ถือเป็นแบรนด์ของประเทศไทยที่สะท้อนและขายความเป็นไทย หรือ Thainess ทั้งในเรื่องของวัฒนธรรมไทย (Thai culture) และอาหารไทย (Thai food)

“ที่ผ่านมาโมเดลธุรกิจของไทยไฟท์มีส่วนในการสร้างเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวของประเทศได้มหาศาล” นพพรย้ำ

“ไทยไฟท์” คือแบรนด์ไทย

พร้อมย้อนความถึงแนวคิดในช่วงเริ่มต้นที่เขาตั้งใจพัฒนาแบรนด์ “ไทยไฟท์” ตั้งแต่วันแรกว่า เขาอยู่ในธุรกิจบันเทิงมานานกว่า 30 ปี เห็นอะไร ทำอะไรมามากมาย และก็เห็นว่าอะไรที่เร็วเกินไป ลงทุนแบบไม่คิดหน้าคิดหลังก็จะไปเร็ว

ตัวอย่างที่เห็นชัด ๆ คือ ธุรกิจบันเทิงที่เปลี่ยนเร็วมาก ใครจะคิดว่าวันหนึ่งทีวีแต่ละช่องจะเริ่มหายไป วันนี้ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 ช่อง 7 อาร์เอส แกรมมี่ ฯลฯ รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนไปหมด

สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าโลกของการทำธุรกิจเปลี่ยนไปเร็วมาก เขาจึงตั้งธงว่าจะทำทุกอย่างแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือช้า ๆ แต่ชัวร์ เพื่อให้ก้าวแต่ละก้าวถูกต้อง แม่นยำ

โดยเริ่มสร้างแบรนด์จากการจัดอีเวนต์แข่งขันชกมวย เพราะมองว่ามวยไทยซึ่งเป็นกีฬาประจำชาตินั้นสามารถสะท้อนความเป็นไทยได้ชัดเจนกว่ากีฬาอื่น ๆ

ขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามที่จะเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อกีฬามวยไทยให้เป็นเรื่องของกีฬาจริง ๆ ไปพร้อม ๆ กับเปลี่ยนเรื่องมวยให้เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับเรื่องแบรนด์และเรื่องของการพัฒนาสินค้า

อีเวนต์คือครื่องมือสร้างแบรนด์

พร้อมย้ำว่า อีเวนต์จัดชกมวยไทยไฟท์นั้นเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการสร้างแบรนด์ให้เข้าถึงคนทั่วโลก ไม่ใช่ธุรกิจที่สามารถสร้างเงินสร้างกำไรได้มากนัก เพราะการจัดอีเวนต์แต่ละครั้งต้นทุนสูงมหาศาล ทั้งค่าถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ค่าตัวนักมวย ค่าโปรโมต ค่าดูแลเรื่องความปลอดภัย ค่าขนส่ง ฯลฯ และนี่คือเหตุผลที่เวลาใครมาจัดอีเวนต์แข่งกับไทยไฟท์ก็เจ๊งหมดทุกราย

“นพพร” บอกอีกว่า จุดสำคัญที่ทำให้อีเวนต์และแบรนด์ “ไทยไฟท์” มีความแตกต่างอย่างชัดเจนและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลก และกลายเป็นทัวร์นาเมนต์กีฬาระดับโลกอย่างรวดเร็วนั้นมาจาก 2 ส่วนหลัก ๆ ฃประกอบด้วย 1.โปรดักชั่นที่ยิ่งใหญ่อลังการ ทั้งแสง สี เสียง มีเรื่องราวและ 2.เลือกสถานที่จัดที่มีขนาดใหญ่ รองรับผู้เข้ามาได้ไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นคน ไปจนถึงกว่า 1 แสนคน และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญและมีเรื่องราวทั้งสิ้น อาทิ ลานพระบรมรูป, แหลมบาลีฮาย, เรือหลวงจักรีฯ, สี่แยกราชประสงค์, ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, มาเก๊า, รัสเซีย ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน, กัมพูชา ฯลฯ ทุกแมตช์การแข่งขันพบว่าทุกที่คนดูต่อแถวเข้าชมยาวเป็นกิโลเมตรเรียกว่าไม่แพ้การเข้าชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเลยทีเดียว

“บิ๊กดาต้า” หัวใจของโลกยุคใหม่

“นพพร” บอกด้วยว่า ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นเฉลี่ยจัดชกมวยไทยไฟท์มาแล้วประมาณ 80 ไฟต์ หรือประมาณ 8 ครั้งต่อปี โดยในช่วงแรกนั้นเน้นปูพรมในประเทศเพื่อให้คนในประเทศรู้จักก่อน จากนั้นก็ได้ขยายฐานตลาดไปยังต่างประเทศ ทั้งในโซนยุโรป เอเชีย จีน และอาเซียน เพราะเชื่อว่าเมื่อไหร่ที่คนรู้จักและจดจำแบรนด์ “ไทยไฟท์” ได้แล้วเราจะสามารถต่อยอดและสร้างธุรกิจอื่น ๆ ตามมาได้อีกมหาศาล

“ผมได้ยินได้ฟังคนที่มีชื่อเสียงและนักธุรกิจในบ้านเราพูดเยอะว่า ธุรกิจในอนาคตจะเป็นรูปแบบที่ต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ไม่จำเป็นต้องทุ่มลงทุนมหาศาล 5-6 พันล้าน หรือหมื่นล้านอีกต่อไป เราต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ซึ่งผมก็มานั่งคิดวิเคราะห์และศึกษาโมเดลธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก เน็ตฟลิกซ์ ฯลฯ และก็ได้มาเรียนรู้ว่าธุรกิจใหม่จะต้องเชื่อถือคน เพราะคนคือ “บิ๊กดาต้า” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจในโลกใหม่”

เข้าถึงทั่วโลกกว่า 1 พันล้านคน

สำหรับไทยไฟท์นั้น “นพพร” บอกว่าวันนี้คนทั่วโลกรู้แล้วว่าไทยไฟท์คือประเทศไทย และก็เชื่อมั่นว่าแบรนด์ “ไทยไฟท์” นั้นจะมีศักยภาพในการเข้าถึงกลุ่มคนทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อไป

โดยล่าสุดมีบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทย-จีน ซึ่งสนใจร่วมธุรกิจกับกลุ่ม “ไทยไฟท์” ได้ทำการสำรวจถึงความแข็งแกร่งและการรับรู้ในแบรนด์ “ไทยไฟท์” ของกลุ่มคนทั่วโลก พบว่าตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีคนรู้จักและเข้าถึงแบรนด์ไทยไฟท์แล้วมากกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก

ผู้เข้าถึงแบรนด์ “ไทยไฟท์” กว่า 1,000 ล้านคนนี้ถือเป็น “บิ๊กดาต้า” สำคัญที่บริษัทสามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการและคิดค้น ต่อยอดธุรกิจใหม่ ๆ ออกมาตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างถูกต้อง สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในทั่วโลกได้

โดยโจทย์สำคัญในการก้าวย่างปีที่ 11 และนับจากนี้คือการต่อยอดแบรนด์ “ไทยไฟท์” ไปในธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงการนำพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในอีก 2 ปีข้างหน้า พร้อมพิสูจน์ว่า “บิ๊กดาต้า” คือหัวใจสำคัญของธุรกิจในโลกยุคใหม่…