อพท.นำเสนอ 3 เส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนพื้นที่พัทยาโชว์สมาชิก “พาต้า” หวังพลิกภาพลักษณ์ใหม่เมืองพัทยา

ในช่วงระหว่าง 28-29 พฤศจิกายน 2562 นี้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.,) สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานใหญ่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับอาเซียน PATA Destination Marketing Forum 2019 ซึ่งมีสมาชิกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) เดินทางมาจากทั่วโลกเพื่อเข้าร่วมประชุมใหญ่ครั้งนี้

“ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” ผู้อำนวยการ อพท.บอกว่า ในงานดังกล่าวนอกจากการเข้าร่วมเสวนา นำเสนอองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนแล้ว อพท. ยังมีโอกาสได้นำเสนอเส้นทางและกิจกรรมทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท. 3) รวม 3 เส้นทางในรูปแบบ Technical Tour ให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสประสบการณ์ตรง ดังต่อไปนี้ 1.เส้นทางการท่องเที่ยวตามรอยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : โครงการป่าสิริเจริญวรรษ / ตลาดจีนโบราณชากแง้ว โดยโครงการป่าสิริเจริญวรรษ : เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนของนักท่องเที่ยว

อพท.ได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางและปรับใช้พัฒนาชุมชนในพื้นที่พิเศษให้เกิดความยั่งยืน และพัฒนากิจกรรมเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ซึ่งในครั้งนี้มีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เลือกทำ เช่น กิจกรรมยิง DASTA Ball หรือ EM Ball ที่ช่วยบำบัดน้ำและให้ปุ๋ยกับบัว / กิจกรรมเดินป่าเส้นทางศึกษาธรรมชาติ / กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ / การทำโป่งเทียม เป็นต้น

ชากแง้ว พัทยา

ส่วนตลาดจีนโบราณชากแง้ว : เคยเป็นย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อน โดยคนจีนโพ้นทะเล จีนแต้จิ๋ว อพยพย้ายเข้ามาอยู่บริเวณบ้านชากแง้ว สร้างเป็นบ้านเรือนตึกแถวไม้แบบเก่า ซ่อนเสน่ห์ของความคลาสสิครวมไปถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานในอดีต กับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบไทยและจีนที่ผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกัน และอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน กิจกรรมที่ให้เลือกทำ เช่น การเรียงเม็ดข้าวสาร การพับดอกโบตั๋น การเพ้นท์หน้ากาก การพับใบเตย เป็นต้น

2.เส้นทางการท่องเที่ยววิถีมะพร้าวชาวตะเคียนเตี้ย ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่ยังคงอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนคนภาคตะวันออกไว้ได้เป็นอย่างดี ชุมชนที่มีวิถีเกษตรกรรมโดยการทำสวนมะพร้าวเป็นหลัก ชุมชนฯ จึงได้มีการจัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลตะเคียนเตี้ย เพื่อใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชน กิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนตะเคียนเตี้ยได้มีการนำกิจกรรมเพื่อเสนอวิถีชีวิตของชุมชน อาทิเช่น กิจกรรมปั่นจักรยานชมสวนมะพร้าว, การร้องลำตัด, การปล่อยแตนเบียนกำจัดศัตรูพืช (หนอนหัวดำ), การปอกมะพร้าวด้วยหอก และการชิมกาแฟมะพร้าว เป็นต้น

ตะเคียนเตี้ย พัทยา
ตะเคียนเตี้ย พัทยา

นอกจากนี้ ชุมชนยังเปิด “บ้านร้อยเสา” เป็นลานวัฒนธรรมให้ผู้ที่สนใจได้เที่ยวชม และเรียนรู้เรื่องการนวดกัวซาซึ่งเป็นการขูดไล่พิษเพื่อรักษาโรคแบบโบราณ การตัดพวงมโหตร การพับดอกกุหลาบใบเตย เป็นต้น
และ 3. เส้นทางการท่องเที่ยววิถีถิ่น วิถีไทย หนองปรือ และหนองปลาไหล โดยชุมชนหนองปลาไหล เป็นชุมชนที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวนาภาคตะวันออกไว้ได้เป็นอย่างดี เพื่อรองรับกับการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นของเมืองพัทยา แต่ก็ไม่ได้ทำให้วิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่เปลี่ยนไปจากเดิม เห็นได้จากพื้นที่ทำนาข้าวในชุมชนที่ยังคงหลงเหลืออยู่กว่า 190 ไร่ ทำให้ชาวนาในพื้นที่เกิดแนวคิดที่จะรักษาผืนนาผืนนี้ไว้ เกิดการรวมกลุ่มของคนในชุมชน เพื่อนำเสนอวิถีชีวิตชาวนาท้องถิ่นผ่านรูปแบบการท่องเที่ยว โดย อพท. สนับสนุนในการจัดกิจกรรมดำนาวันแม่ (ในช่วงเดือนสิงหาคม) และกิจกรรมเกี่ยวข้าววันพ่อ (ในช่วงเดือนธันวาคม) เป็นประจำทุกปี

หนองปลาไหล พัทยา

ส่วนชุมชนหนองปรือ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ตั้งรกรากมากว่า 200 ปี โดยมีกิจกรรมเด่นคือบ้านโขนหนองปรือ ที่ฝึกหัดโขนให้แก่เด็กๆ ในชุมชน ได้เรียนรู้ศิลปะการแสดงแบบไทยและมีกิจกรรมการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองทำ ได้แก่ การเรียนรู้เรื่องท่ารำโขนและนุ่งโจงเบน การปักผ้าสำหรับชุดแสดงโขน เป็นต้น
โดยทั้ง 3 เส้นทาง จะเปิดให้สมาชิกที่สนใจร่วมเดินทางเส้นทางละ 50 ท่าน โดยทุกเส้นทางนอกจากได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนในแต่ละชุมชนแล้ว ผู้เข้าร่วมเดินทางยังได้ประสบการณ์การเรียนรู้การบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยคนในชุมชนไปพร้อมกัน

หนองปลาไหล พัทยา

“การนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่เมืองพัทยา เพื่อเพิ่มความหลากหลายในแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่นี้ ให้แก่ผู้ร่วมประชุม ซึ่งมีทั้งบริษัทนำเที่ยว และผู้อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับรู้ ซึ่งทุกคนมีศักยภาพที่จะนำประสบการณ์ที่ได้รับไปต่อยอดด้านการตลาดนำเสนอขายให้แก่นักท่องเที่ยวที่สนใจ เพราะเมืองพัทยา ถือเป็นเดสติเนชั่นที่ทั่วโลกรู้จัก และมีการเติบโตของนักท่องเที่ยวทุกปี การเพิ่มกิจกรรมที่เป็นทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยว” ผู้อำนวยการ อพท. กล่าว

อย่างไรก็ตาม การร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ อพท. โดยภาพรวม อพท. จะนำเสนอมิติใหม่ของสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรท่องเที่ยวในท้องถิ่นของตน นำเสนอเป็นสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาท่องเที่ยว สัมผัสและแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมที่จริงแท้ และเกิดการกระจายรายได้และประโยชน์จากการท่องเที่ยวสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เราเรียกรูปแบบการท่องเที่ยวนี้ว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-based Tourism) คือให้คนในชุมชนได้มามีส่วนร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับประโยชน์และร่วมรับผิดชอบ เมื่อชุมชนได้รับประโยชน์และกระจายประโยชน์จากการท่องเที่ยวไปสู่คนในชุมชน คนในชุมชนก็จะช่วยกันอนุรักษ์ดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติสืบต่อไปยังรุ่นลูกหลาน การท่องเที่ยวก็จะเติบโตอย่างยั่งยืน