ชื่นมื่น! ศาลสั่ง “การบินไทย” ฟื้นฟูกิจการ-เห็นชอบคณะผู้จัดทำแผน

การบินไทย ฟื้นฟูกิจการ
(Photo by SAEED KHAN / AFP

ศาลล้มละลายกลาง สั่ง “การบินไทย” ฟื้นฟูกิจการ-เห็นชอบคณะผู้จัดทำแผน อีวายฯ-ขุนพลทั้ง 6 ผ่านฉลุย ศาลเชื่ออีวายมีความเชี่ยวชาญ-เป็นไปตามเจตนารมณ์ พรบ.ล้มละลาย การบินไทยมีศักยภาพหารายได้ชำระหนี้-รักษาการจ้างงาน-สร้างประโยชน์ให้ประเทศ ระบุการแข่งขัน-โควิดทำล้มละลายไม่ได้เกิดจากพื้นฐานธุรกิจ การบินไทยคาดส่งแผนฟื้นฟูต่อสาลได้ไตรมาส 4 นี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากศาลล้มละลายกลาง แจ้งวัฒนะว่า ในการอ่านคำพิจารณาคดีเรื่องคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในวันนี้ (14 กันยายน 2563) ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบให้การบินไทยฯ ฟื้นฟูกิจการ พร้อมให้บริษัท อีวาย คอร์ปอร์เรท แอดไวซอรี่ เซอวิสเซส จำกัด และคณะผู้จัดทำแผนอีก 6 คน ได้แก่ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้จัดทำแผน

โดยหลังศาลพิจารณาในหลายประเด็น อาทิ การบินไทยฯ มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงหรือไม่ คณะผู้จัดทำแผนที่การบินไทยเสนอมีความสามารถเหมาะสมต่อการดำเนินการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ และช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ โดยในประเด็นแรก ศาลเห็นว่าลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ โดยลูกหนี้มีทรัพย์สินบางรายการที่ไม่สามารถยึดหรือบังคับชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ นอกจากนั้น ปัจจุบันมีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระและลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ลูกหนี้จึงเป็นลูกหนี้อย่างอื่นที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่สามารถที่จะชำหนี้ตามกฎหมายได้จริง

ประเด็นต่อมา ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงสร้างธุรกิจของลูกหนี้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และมีความจำเป็นต่อระบบการคมนาคมและขนส่งทางอากาศ ลูกหนี้มีทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจที่มีมูลค่าและมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งชื่อเสียงและประสบการณ์จากการประกอบกิจการมานาน ทำให้ปัจจุบันลูกหนี้ยังเป็นผู้มีศักยภาพในการสร้างรายได้

โดยสาเหตุที่ประสบปัญหาทางการเงินไม่ได้เกิดจากพื้นฐานธุรกิจของลูกหนี้อย่างแท้จริง แต่เกิดจากสภาพการแข่งขันและผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ลูกหนี้ต้องลดบริการลงอย่างฉับพลัน หากลูกหนี้ไม่ได้รับการฟื้นฟูกิจการ กรณีย่อมเกิดความเสียหายต่อลูกหนี้ เจ้าหนี้ทั้งหลาย ลูกจ้าง ผู้ลงทุนในกิจการของลูกหนี้ ประชาชน และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ศาลสั่งฟื้นฟูกิจการ การบินไทย
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร

ส่วนของช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ผู้ให้เช่าหรือผู้ให้เช่าซื้อเครื่องบินหลายรายสนับสนุนให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และยินยอมให้ลูกหนี้ใช้เครื่องบินที่ให้เซ่า โดยพักหรือขยายระยะเวลการชำระหนี้บางส่วน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้ อีกทั้งลูกหนี้ ยังมีหนังสือสนับสนุนการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและไม่ประสงค์คัดค้านคณะผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอมาแสดงเป็นหลักฐานยืนยันว่า ลูกหนี้ได้เจรจาประนอมหนี้เรื่อยมาและได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้ให้เช่าเครื่องบิน ผู้ให้บริการด้านอากาศยาน สายการบินคู่ค้า ผู้ถือหุ้นกู้รายใหญ่ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบธุรกิจของลูกหนี้ทำให้ข้อกล่าวอ้างของลูกหนี้มีน้ำหนัก

ดังนั้น หากมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โครงสร้างองค์กร และการบริหารจัดการของการบินไทยฯ สอดคล้องกับความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดในอนาคตตามความเหมาะสมภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ และสามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเป็นธรรมในจำนวนที่ดีขึ้นกว่าเดิม รักษาการจ้างงานจำนวนมาก ศาลจึงฟังได้ว่ามีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

ประเด็นต่อมา ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอพื้นฟูกิจการโดยสุจริตหรือไม่ ศาลเห็นว่าการบินไทยฯ เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่อาจชำระหนี้ตามกำหนดได้ ย่อมยื่นคำรองขอได้ตามกฎหมาย รวมถึงเจ้าหนี้ผู้คัดค้านในคดีไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานใดที่ระบุว่าคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ประเด็นต่อมาว่าด้วยเจตนารมณ์ของ พรบ.ล้มละลาย ผู้ทำแผนต้องจัดทำแผนบนหลักการก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อเจ้าหนี้ และเจ้าหนี้จะต้องได้รับชำระหนี้มากกว่าการล้มละลาย ด้วยหลักการดังกล่าว บุคคลซึ่งลูกหนี้เสนอเป็นผู้ทำแผนย่อมไม่สามารถจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการไปตามที่ตนเองต้องการโดยปราศจากความร่วมมือจากเจ้าหนี้อื่นได้ทั้งเจ้าหนี้ผู้คัดค้านในคดีก็ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานอื่น ศาลจึงเห็นชอบคณะผู้จัดทำแผนที่ลูกหนี้เสนอ พร้อมระบุ บริษัท อีวายฯ เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญจริง

ศาลจึงมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ผู้ร้องขอโดยตั้งบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวชอรี่ ซอร์วิสเชส จำกัต ร่วมกับพลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายพีระพันธุ์ สลีรัฐวิภาคนายบุญทักษ์ หวังจริญนายปียสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายจักรกฤศฏิ พาราพันธกุล และ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกรเป็นผู้ทำแผน

ทั้งนี้ ในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมา มีเจ้าหนี้ยื่นคัดค้านรวม 16 รายที่ขอให้ศาลยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและคัดค้านผู้ทำแผนที่ลูกหนี้ผู้ร้องขอเสนอ ซึ่งระหว่างการพิจารณาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 16 ถอนคำคัดค้าน ศาลไต่สวนพยานลูกหนี้ผู้ร้องขอรวม 5 ปาก และไต่สวนพยานเจ้าหนี้ผู้คัดค้าน รวม 3 ปาก โดยใช้เวลาพิจารณาคดีรวม 3 นัด

วันเดียวกัน บมจ.การบินไทย โดยนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการบริษัทฯ รักษาการแทน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า หลังจากนี้คณะผู้ทำแผนจะดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะใช้เวลาโดยเร็วที่สุดคาดว่าจะนำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลได้ภายในไตรมาส 4/63 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการประมาณต้นปี 2564 ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแต่งตั้งผู้บริหารแผนภายในไตรมาส 1/64 และการบินไทยจะดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมถึงแจ้งความคืบหน้าอื่นเพิ่มเติมต่อไป