โควิดระลอกใหม่ลากยาว สทน.เตรียมชงแผนกระตุ้นเที่ยวในประเทศ

ธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ดูแลตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศ (domestic)
ธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ดูแลตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศ (domestic)
สัมภาษณ์

สะดุดกันตั้งแต่ต้นปีสำหรับตลาดไทยเที่ยวไทย หรือท่องเที่ยวภายในประเทศที่ทุกฝ่ายต่างคาดหวังว่าจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสำหรับปี 2564 นี้ เพราะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่อย่างหนักตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ และยังคงมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “แตงโม-ธนพล ชีวรัตนพร” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ดูแลตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศ (domestic) ถึงแนวทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวภายในประเทศท่ามกลางวิกฤตโควิดระลอกใหม่สำหรับปี 2564 ไว้ดังนี้

ยันบางพื้นที่ยังเที่ยวได้

“ธนพล” บอกว่า ส่วนตัวยังเชื่อว่าการท่องเที่ยวภายในประเทศจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยสำหรับปีนี้อยู่เหมือนเดิม เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังคงไม่ออกเดินทางจนกว่าจะมีวัคซีนบริการอย่างทั่วถึง แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่นี้ทำให้หลายฝ่ายต้องหันไปโฟกัสในเรื่องของการหยุดการแพร่ระบาดเป็นอันดับแรกก่อน

โดยมองว่าท่ามกลางวิกฤตก็ยังพอมีโอกาส เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในขณะนี้ยังกระจุกอยู่ในบางพื้นที่ และบางจังหวัดเท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่สามารถเดินทางได้ทั้งประเทศ

“ตอนนี้โครงการเราเที่ยวด้วยกันยังคงเดินหน้าอยู่ คนได้สิทธิก็ยังสามารถจองโรงแรมที่พัก ตั๋วเครื่องบินเดินทางกันได้ แสดงว่าการเดินทางท่องเที่ยวในบางพื้นที่ยังมีอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาทาง สทน.ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมรัฐบาลถึงไม่สนับสนุนโครงการเที่ยวไทยวัยเก๋าสำหรับคนสูงวัยอายุ 55 ปีขึ้นไปออกเที่ยวในวันธรรมดาที่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ เพราะบางพื้นที่ยังสามารถเดินทางได้”

วอนรัฐหนุนจริงจังต่อเนื่อง

“ธนพล” บอกอีกว่า ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ยอมรับว่าเข้าใจการทำงานของภาครัฐ แต่ก็อยากให้รัฐบาลมองในมุมของการเตรียมแผนสำหรับกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศไว้ล่วงหน้าด้วย เพื่อรองรับและเดินหน้าขับเคลื่อนการเดินทางท่องเที่ยวทันทีหลังจากที่การแพร่ระบาดเริ่มเบาบางลง

ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคเอกชน คนทำงาน มีเวลาเตรียมตัว ทำการตลาดล่วงหน้า ไม่ใช่รอให้การแพร่ระบาดหมดไปก่อนจึงมาทำแผน เพราะจะทำให้แผนการกระตุ้นการเดินทางล่าช้าและไม่ต่อเนื่อง

“เราเข้าใจว่ารัฐบาลเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย แต่ก็ควรเป็นห่วงปัญหาเรื่องปากท้องด้วย โดยเตรียมทำแผนรองรับอย่างเร่งด่วน จุดไหนทำตลาดได้ก็ทำไปก่อน ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลยที่สำคัญที่ผ่านมาภาครัฐเองยังไม่ได้ให้การช่วยเหลือเยียวยาเอกชน โดยเฉพาะบริษัททัวร์ ยกเว้นโครงการ อสม. ซึ่งก็มีบริษัทเข้าร่วมเพียงแค่ 300 กว่ารายเท่านั้น หรือโครงการสนับสนุนการเที่ยวผ่านรถบัสจำนวน 4,000 คันที่คุยกันมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้วจนถึงวันนี้ก็ยังไม่เกิด”

พร้อมทั้งบอกว่า สทน.เองก็ได้แต่หวังว่าในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ต้องพึ่งพารายได้หลักจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ รัฐบาลจะให้การสนับสนุนและอนุมัติโครงการต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องและชัดเจนขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัททัวร์ได้กลับมามีงานทำกันอีกครั้ง แม้จะไม่ทั้งหมดก็ขอเพียงแค่บางส่วนก็ยังดี

เชื่อกระทบยาว 6 เดือน

ต่อคำถามที่ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่นี้น่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศนานแค่ไหน “ธนพล” บอกว่า คาดว่าน่าจะยาวไปประมาณครึ่งปีหรือราว 6 เดือนแน่นอน ส่วนจะออกเดินทางมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลด้วย

“ตอนนี้รัฐบาลพยายามพูดว่าพื้นที่ในภาคอีสาน เหนือ หรืออันดามันไม่เป็นปัญหา ยังสามารถเที่ยวได้ แต่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่มีนโยบายกระตุ้นออกมา ดังนั้น จึงอยากให้กลไกของรัฐทำงานมากขึ้น เพราะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติคงไม่ไหวแล้ว ทุกฝ่ายตายกันหมดแน่นอน”

และบอกอีกว่า ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ รัฐบาลก็ต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเอกชนตายกันมาเกือบ 1 ปีเต็ม ๆ แล้ว ปีนี้จึงอยากให้รัฐช่วยดูแล ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องซอฟต์โลนมาต่อลมหายใจเท่านั้น แต่หมายรวมถึงรัฐต้องใส่เงินลงมาช่วยกระตุ้นด้วย

ชง “เที่ยวคนละครึ่ง”

“ธนพล” บอกด้วยว่า ในส่วนของ สทน.เอง ขณะนี้ได้เตรียมนำเสนอโครงการให้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ พิจารณาใหม่ 2 โครงการ คือ

1.ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณ 40% สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับแพ็กเกจทัวร์ทุกระดับราคาและทุกกลุ่มอายุ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มสูงอายุ 55 ปีขึ้นไปเท่านั้น

และ 2.โครงการเที่ยวคนละครึ่ง โดยให้รัฐสนับสนุน 50% สำหรับการซื้อบริการและสินค้าด้านการท่องเที่ยว สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาท โดยทั้ง 2 โครงการนี้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเดินทางข้ามจังหวัดและเดินทางในวันธรรมดา

“เราพยายามผลักดันให้รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่าย 40% สำหรับแพ็กเกจทัวร์ ราคาเท่าไหร่ก็ได้ สูงสุดคือไม่เกิน 5,000 บาท แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกว่าผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องซื้อแพ็กเกจทัวร์ไม่ต่ำกว่า 12,500 บาทเท่านั้น รัฐถึงจะสนับสนุน 5,000 บาท ซึ่งส่วนตัวผมยังมองว่ายังไม่ตอบโจทย์นัก จึงเรียกร้องต่อว่าไม่ต้องจำกัดราคาขั้นต่ำ ซื้อแพ็กเกจทัวร์เท่าไหร่ก็ได้แล้วให้รัฐสนับสนุน 40% สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท”

เป้าเที่ยวไทย 200 ล้านคน-ครั้ง

นายก สทน.ย้ำด้วยว่า ส่วนตัวยังคงเชื่อมั่นว่าปี 2564 นี้จะยังเป็นปีที่ดีสำหรับตลาดไทยเที่ยวไทย โดยปีที่แล้วคนไทยเที่ยวในประเทศมีจำนวนประมาณ 90-95 ล้านคน-ครั้ง ลดลงจากปี 2562 ถึงประมาณ 70 ล้านคน-ครั้ง (166 ล้านคน-ครั้ง) หากปีนี้รัฐไม่ออกแรงช่วยกระตุ้นแบบจริงจังและชัดเจนเศรษฐกิจในประเทศจะยิ่งลำบากขึ้น

“สทน.ตั้งเป้าจำนวนคนไทยเที่ยวในประเทศปีนี้อยู่ที่ 200 ล้านคน-ครั้ง หรือมากกว่าปี 2563 ที่ผ่านมาเท่าตัว ถึงเวลานี้ผมก็ยังมั่นใจว่าโดยศักยภาพเราสามาถทำได้ ขอเพียงแค่รัฐให้การสนับสนุนตามที่ภาคเอกชนนำเสนอบ้างเท่านั้น”

พร้อมทิ้งท้ายว่า แนวทางต่าง ๆ เหล่านี้ ทาง สทน.จะเข้าไปนำเสนอกับทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องเร็ว ๆ นี้ เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้า และทำให้คนไทยสามารถเดินทางได้ทันทีที่สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ และเพื่อเป้าหมายมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวจำนวน 200 ล้านคน-ครั้งในปีนี้