“แอร์ไลน์” สำลักพิษโควิด แห่ลดเที่ยวบิน-ติดหล่มสภาพคล่อง

สายการบิน

แม้ว่าปี 2563 ที่ผ่านมาจะเป็นปีที่สาหัสมากสำหรับธุรกิจการบิน เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ดูสถานการณ์ในวันนี้ดูเหมือนว่าแนวโน้มของธุรกิจการบินสำหรับปี 2564 นี้จะยิ่งหนักกว่า

ธุรกิจแผ่วตั้งแต่ปี’61-62

แหล่งข่าวในธุรกิจสายการบินรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากย้อนกลับไปสักปี 2 ปี ธุรกิจสายการบินส่งสัญญาณไม่ดีนักตั้งแต่ปี 2561-2562 ธุรกิจสายการบินของไทยเริ่มขาดทุนเป็นตัวแดงทางบัญชีค่อนข้างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นไทยแอร์เอเชียที่ขาดทุน 474 ล้านบาท ในปี 2562 จากที่มีกำไร 1,477.49 ล้านบาท ในปี 2560 และกำไร 69.97 ล้านบาท ในปี 2561

หรือนกแอร์ที่ขาดทุนปี 2562 จำนวน 2,054.39 ล้านบาท จากที่กำไร 1,854.30 ล้านบาท ในปี 2560 และขาดทุน 2,786.76 ล้านบาท ในปี 2561 เช่นเดียวกับบางกอกแอร์เวย์สที่มีตัวเลขกำไร 350.86 ล้านบาทในปี 2562 ลดลงจาก 787.91 ล้านบาท ในปี 2560 และกำไร 249.26 ล้านบาท ในปี 2561

เมื่อเผชิญกับการแพร่ระบาดทั่วโลกของไวรัสโควิดตั้งแต่ 2563 เป็นต้นมา ธุรกิจสาการบินที่มีความอ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้วยิ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยจากตัวเลขรายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์ฯจะพบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 นั้นสายการบินขาดทุนกันมหาศาลกับทุกค่าย

ความยากลำบากของสายการบินแต่ละแห่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อทั่วโลกเผชิญกับวิกฤต “โควิด-19” ทำให้สถานการณ์ในปี 2563 ติดลบอย่างชัดเจนนับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ซึ่งหลายประเทศประกาศปิดการเดินทางระหว่างประเทศและภายในประเทศ รวมถึงประเทศไทย ทำให้ผลประกอบการของธุรกิจสายการบินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของไทยในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2563 ขาดทุนหนักยกแผง

ตั้งแต่พี่ใหญ่ “การบินไทย” ที่ขาดทุน 9 เดือนแรก 49,561 ล้านบาท, ไทยแอร์เอเชีย 3,649 ล้านบาท, นกแอร์ 2,270 ล้านบาท และบางกอกแอร์เวย์ส 3,313 ล้านบาท

โควิดระลอกใหม่ทุบซ้ำ

แหล่งข่าวยังวิเคราะห์ต่ออีกว่า เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มบรรเทาทั้งเอกชนและรัฐบาลต่างเร่งเครื่องเพื่อกระตุ้นการเดินทางภายในประเทศผ่านหลากหลายโครงการ ทำให้ธุรกิจสายการบินเริ่มกลับมาตั้งหลักและกลับมาไล่เปิดเส้นทางบินภายในประเทศกันอีกครั้งนับตั้งแต่ช่วงกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา

บางสายการบินสามารถกลับมาเพิ่มเส้นทางการบินภายในประเทศได้มากกว่าช่วงก่อนโควิด-19 กระทั่งเข้าสู่ธันวาคม 2563 ช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวเต็มตัว โควิด-19 ได้กลับมาแพร่ระบาดภายในประเทศซ้ำอีกครั้ง

รอบนี้ยิ่งเจ็บหนัก เปรียบเสมือนกับคนไข้ที่เริ่มฟื้นและกลับมาเดินได้แล้ว กำลังจะกลับเข้าห้องไอซียูอีกครั้ง ทุกสายการบินทยอยลดจำนวนเที่ยวบินในแต่เส้นทางบินลง บางเส้นทางก็ทำการยกเลิกชั่วคราว เพื่อให้สอดรับกับคามต้องการของผู้โดยสารในแต่ละวัน รวมถึงต้องการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินการด้วย

แอร์ไลน์ยกเลิกไฟลต์รายวัน

แหล่งข่าวจากสายการบินไทยแอร์เอเชียกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สายการบินทำการปรับลดความถี่เที่ยวบินในหลายเส้นทางลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2563 หลังจากที่พบการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่เชียงราย, เชียงใหม่ จนกระทั่งปัจจุบันสถานการณ์ก็ยังไม่นิ่ง ยังคงทำการปรับเที่ยวบินกันแบบรายวัน เนื่องจากรัฐออกประกาศมาตรการใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หลัก ๆ แล้วเป็นการลดความถี่ลง จำนวนจุดหมายปลายทางหลักยังคงให้บริการอยู่เหมือนเดิม ยกเว้นเที่ยวบินที่ทำการบินจากสนามบินอู่ตะเภา และเส้นทางการบินข้ามภาคที่ต้องหยุดให้บริการชั่วคราวไปก่อน

สอดรับกับบทสัมภาษณ์ของ “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานกรรมการบริหาร “ไทยแอร์เอเชีย” ที่ระบุว่า ปัจจุบันสายการบินได้ทำการปรับลดเที่ยวบินไปแล้วมากกว่า 50-60% และยังมีแนวโน้มปรับลดลงอีกเรื่อย ๆ ตามจำนวนผู้โดยสาร

เช่นเดียวกับ “ไทยสมายล์” ที่ “ชาริตา ลีลายุทธ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันสายการบินได้ทำการปรับลดเที่ยวบินไปแล้วจำนวนมาก หรือกว่า 50-60% เช่นกัน เนื่องจากผู้โดยสารยังคงทำการเลื่อนการเดินทางต่อเนื่อง โดยแนวทางการลดนั้นจะเป็นการลดความถี่เป็นหลัก

เช่น ในเมืองหลักจากที่เคยให้บริการ 5-6 เที่ยวบินต่อวัน ลดลงเหลือ 1-2 เที่ยวบินต่อวัน หรือสำหรับเมืองเล็กจากที่ให้บริการวันละ 1 เที่ยวบิน ก็ปรับลดเหลือประมาณ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับเส้นทางบินข้ามภาคนั้นทางไทยสมายล์ก็ได้ทำการหยุดให้บริการแล้วเช่นกัน อาทิ เส้นทางนครศรีธรรมราช-เชียงใหม่, นครศรีธรรมราช-อุดรธานี เป็นต้น ส่วนเส้นทางที่อยู่ในแผนเปิดให้บริการใหม่ก็ต้องทำการชะลอไปก่อน

ขณะที่ “บางกอกแอร์เวย์ส” ได้ประกาศปรับตารางบินใหม่ช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ไปอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ 8 มกราคมที่ผ่านมา โดยได้ยกเลิกเที่ยวบินเป็นการชั่วคราวเส้นทางกรุงเทพฯสู่สุโขทัย, ตราด และเส้นทางภูเก็ตสู่อู่ตะเภา, เส้นทางสมุยสู่ภูเก็ต และภูเก็ตสู่หาดใหญ่

และปรับลดความถี่ของเที่ยวบินบางเส้นทาง อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯสู่สมุย, ลำปาง, เชียงใหม่, กระบี่, ภูเก็ต เป็นต้น นอกจากนี้ยังเลื่อนแผนการเปิดเส้นทางบินใหม่ 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ (1 เมษายน 2564), เส้นทางกรุงเทพฯ-ขอนแก่น (1 พฤษภาคม 2564) และเส้นทางกรุงเทพฯ-แม่สอด (1 มิถุนายน 2564)

แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า ไม่เพียงเท่านี้ สายการบินอื่น ๆ ที่ให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศ เช่น นกแอร์, ไทยไลอ้อนแอร์ ฯลฯ ต่างปรับลดเที่ยวบินลงในสัดส่วนมากกว่า 50-60% แล้วทั้งสิ้น

ผู้โดยสารสนามบินลดฮวบ

สอดรับกับแหล่งข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ที่ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า หลังการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ปริมาณผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการสนามบินภายในประเทศที่กรมดูแลทั้ง 28 แห่ง ลดลงถึงราว 30% หรือจากประมาณ 30,000 คนต่อวัน เหลือประมาณ 18,000 ต่อวันคน และมีการยกเลิกเที่ยวบินไปแล้วประมาณ 20-30%

สอดรับกับ “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ผู้บริหารสนามบินหลัก 6 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, หาดใหญ่ (สงขลา), ภูเก็ต, เชียงใหม่ และแม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) ที่ระบุว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ปริมาณผู้โดยสารภายในประเทศกลับมาเกือบเท่าก่อนโควิด คือประมาณ 1.27 แสนคนต่อวัน แต่ตัวเลข ณ วันที่ 5 มกราคม 2564 พบว่า ปริมาณผู้โดยสารลดลงเหลือประมาณ 4 หมื่นคนต่อวัน

หวั่นสภาพคล่องหมด-ธุรกิจเดี้ยง

แหล่งข่าวในธุรกิจสายการบินอีกรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาที่น่าเป็นห่วงของธุรกิจสายการบินในขณะนี้คือ เงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากธุรกิจเริ่มส่งสัญญาณไม่ค่อยดีนักมาตั้งแต่ปี 2561-2562 กระทั่งกระทบหนักในปี 2563 นั้นทำให้สายการบินทุกแห่งเริ่มขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ตัวเลขหนี้สินหมุนเวียนพุ่งแซงหน้าสินทรัพย์หมุนเวียนอย่างชัดเจน

โดยจะเห็นว่าทุกค่ายได้เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 แต่กระทั่งวันนี้ก็ยังไม่มีวงเงินดังกล่าวออกมาช่วยพยุงธุรกิจแอร์ไลน์ ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

ทั้งนี้ ล่าสุด “ไทยแอร์เอเชีย” ระบุว่า สภาพคล่อง หรือเงินทุนหมุนเวียนมีเหลือใช้ถึงเดือนมีนาคมนี้เท่านั้น เช่นเดียวกับ “บางกอกแอร์เวย์ส” ที่อาจต้องเพิ่มทุน หรือกรณีของนกแอร์, การบินไทย ที่ต้องยอมเดินสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อบวกกับ “ข้อจำกัด” ของธุรกิจที่มีต้นทุนการบริหารที่สูง และยังไม่สามารถเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศได้ยิ่งทำให้ธุรกิจสายการบินกลับมาพลิกฟื้นได้ยากลำบากขึ้น


คงต้องจับตาดูกันว่า นับจากนี้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไร และธุรกิจสายการบินของไทยจะยืนหยัดฝ่าวิกฤตต่อไปได้อย่างไร