“ท่องเที่ยว” วอนเดินหน้า “เราเที่ยวด้วยกัน-ทัวร์เที่ยวไทย”

ท่องเที่ยว

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าหมายสำหรับตลาดท่องเที่ยวในประเทศปี 2564 นี้ว่าจะมีจำนวนคนไทยเที่ยวในประเทศที่ราว 100 ล้านคน-ครั้ง และสร้างรายได้ท่องเที่ยวที่ประมาณ 5 แสนล้านบาท และเป็นรายได้หลักของภาคการท่องเที่ยวไทยในปีนี้

แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศตั้งแต่ปลายปี 2563 และต่อเนื่องมาถึงขณะนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ภายใต้กรอบงบประมาณสนับสนุนกว่า 10,000 ล้านบาท กับ 2 โครงการใหญ่คือ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 และโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” จำนวน 1 ล้านสิทธิ (รัฐสนับสนุนสูงสุด 5,000 บาทต่อคน) ที่เลื่อนโครงการมาเป็นระยะตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา

โดยภาคเอกชนท่องเที่ยวต่างลุ้นให้สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายบ้างในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ เพื่อที่จะเดินหน้ากระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีต่อไป

ส่อยุติ 2 โครงการใหญ่

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” มีปัญหาค่อนข้างมากตั้งแต่เฟสแรกที่กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดำเนินการ กระทั่งเกิดปัญหาทุจริตและส่งต่อโครงการดังกล่าวให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับผิดชอบและดำเนินการต่อ

และนอกจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ต้องเดินหน้าต่อเฟส 3 แล้วยังมีโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” อีกโครงการที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงโค้งสุดท้ายของปี หรือในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

“มีความเป็นไปได้สูงว่าด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ยังคงรุนแรงอยู่ในขณะนี้อาจทำให้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ทั้ง 2 โครงการดังกล่าวนี้ต้องยุติไปก่อนเพราะติดเงื่อนไขการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐ” แหล่งข่าวกล่าว

ครม.ขีดเส้นตายตุลาคมนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปพิจารณาความเหมาะสมของช่วงระยะเวลาที่จะเริ่มดำเนินโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย”

พร้อมทั้งพิจารณากำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดของการเข้าร่วมโครงการทั้ง 2 โครงการให้มีความรัดกุม โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 อันเนื่องจาก
การดำเนินโครงการ

โดยหากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สามารถเริ่มต้นดำเนินโครงการได้ภายในเดือนตุลาคม 2564 อาจจะพิจารณาเสนอขอยุติโครงการและคืนกรอบวงเงินกู้เหลือจ่ายตามขั้นตอนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป

วอนเก็บงบฯไว้อัดฉีดปีหน้า

ด้าน “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในมุมของเอกชนมองว่าภาคเอกชนท่องเที่ยวอยากวิงวอนให้รัฐเดินหน้าทั้ง 2 โครงการต่อ เพราะมาตรการดังกล่าวเป็นความหวังเดียวที่จะช่วยให้การท่องเที่ยวภายในประเทศพลิกฟื้นกลับมา และช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการในเฮือกสุดท้ายนี้

โดยในมุมของภาคเอกชนมองว่า ภาคการท่องเที่ยวต้องเดินหน้าขับเคลื่อนการท่องเที่ยวภายในประเทศต่อ โดยงบประมาณการกระตุ้นของรัฐบาลนั้นจะช่วยให้การท่องเที่ยวของคนไทยเป็นไปได้ แต่พอเห็นข่าวที่รัฐขีดเส้นตายให้แค่เดือนตุลาคมนี้ คนท่องเที่ยวรู้สึกหมดหวังสำหรับการทำการตลาดในไตรมาส 4

“ที่ผ่านมางบฯอนุมัติแล้วแต่ที่ทำไม่ได้นั้นเป็นเพราะการกระจายวัคซีนที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึง ขณะที่การแพร่ระบาดก็ยังสูง ไม่ได้เป็นเพราะว่าให้งบประมาณมาแล้วแต่คนท่องเที่ยวกระตุ้นกันไม่ได้ ดังนั้นหากรัฐต้องยุติแล้วเก็บงบฯคืนกระทรวงการคลังก็อยากขอร้องให้รัฐบาลเก็บไว้สำหรับกระตุ้นการท่องเที่ยวในรอบปีงบประมาณใหม่ต่อไป”

ชงอัด “เที่ยวคนละครึ่ง”

ประธาน สทท.ยังบอกด้วยว่าหากไม่สามารถดำเนินการทั้ง 2 โครงการดังกล่าวได้จริง ๆ เชื่อว่าตลาดไทยเที่ยวไทยก็เดินมาถึงจุดของความ “สิ้นหวัง” แน่นอน ที่สำคัญผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ปัจจุบันนี้เหลือประมาณอยู่ที่ราว 20-30% นั้นก็จะหมดลมหายใจแบบเบ็ดเสร็จเช่นกัน

“เราอยากให้รัฐทบทวนด้วยว่า หากโครงการเดิมไม่สามารถเดินต่อได้ ทาง สทท.มีแผนจะให้รัฐบาลพิจารณาโครงการใหม่ออกมาช่วยกระตุ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และต่อเนื่องถึงปีหน้า อาทิ โครงการเที่ยวคนละครึ่ง โดยต่อยอดความสำเร็จจากโครงการ ‘คนละครึ่ง’ ที่ประสบความสำเร็จดีอยู่แล้ว เป็นต้น และต้องออกมากระตุ้นการท่องเที่ยวให้ทันในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ หรือต่อเนื่องถึงปีหน้าเพื่อให้เอกชนท่องเที่ยวมองเห็นความหวังบ้าง”

พร้อมยืนยันด้วยว่า ตลอดเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาพวกเราภาคการท่องเที่ยวบอกได้เลยว่า รัฐบาลยังไม่มีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ชัดเจนออกมาเป็นรูปธรรมเลย

ททท.ยันเดินหน้าทั้ง 2 โครงการ

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ททท.พิจารณาแล้วยืนยันว่าจะยังคงดึงงบประมาณดังกล่าวไว้และเดินหน้าทั้ง 2 โครงการต่อ เพราะนอกจากจะช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว สร้างเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นเรื่องการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการเองก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือโดยตรงจากรัฐแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน ททท.เองได้ประเมินแล้วว่า หากรัฐบาลทำการปลดล็อกหรือผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโรคติดต่อของแต่ละพื้นที่ คนไทยยังอยากออกเดินทางท่องเที่ยว

ดังนั้นแม้ว่าจะเหลือระยะเวลาเพียง 1 เดือน หรือ 1 เดือนครึ่ง ททท.จะยังคงดำเนินการทั้ง 2 โครงการต่อไปพร้อม ๆ กันแน่นอน โดยเร็วสุดน่าจะเป็นช่วงกลางเดือนกันยายน หรือช้าสุดคือเดือนตุลาคมนี้

“ที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงและต่อเนื่องมาเป็นเวลานานนั้น ทางสภาพัฒน์มีความกังวลว่าทั้ง 2 โครงการใหญ่ดังกล่าวนี้จะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไหร่ เนื่องจากว่ากระบวนการเบิกจ่ายงบต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เพื่อให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2564 จึงให้ทาง ททท. และกระทรวงการท่องเที่ยวฯกลับมาพิจารณาความเหมาะสมของช่วงระยะเวลาที่จะเริ่มดำเนินโครงการ เนื่องจากต้องดำเนินการภายในเดือนตุลาคม 2564”

ผู้ว่าการ ททท.ยังบอกด้วยว่าที่ผ่านมาทางสภาพัฒน์ก็ถามมาต่อเนื่องจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งทาง ททท.ก็ยังรอประเมินสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องและยืนยันว่าจะยังเดินหน้าทั้ง 2 โครงการต่อไปมาโดยตลอดเช่นกัน โดยรูปแบบการดำเนินการนั้นคงโฟกัสทำตลาดในพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสูงเป็นหลัก ไม่ปูพรมทั่วประเทศ

พร้อมย้ำว่า ประเด็นสำคัญที่ทำให้การท่องเที่ยวไม่สามารถขยับได้ในช่วงที่ผ่านมานั้นเป็นเพราะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการควบคุมโรคติดต่อ ไม่ใช่ไม่มีคนเดินทาง