ฉีดครบ 32% ก็เปิดประเทศได้ ความเสี่ยงที่ต้องยอมรับ

 

การประกาศแถลงการณ์ “เปิดประเทศ” ที่จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อช่วงเย็นย่่ำค่ำวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ด้านหนึ่งได้สร้างความหวังและทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจหลาย ๆ ราย “โล่งอก” มากขึ้นบ้าง หลังจากที่ตั้งตารอคอยฟังความชัดเจนเพื่อจะได้กลับมาเตรียมตัวเปิดให้บริการอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร

แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ “ไม่เห็นด้วย” เนื่องจากยังไม่วางใจในสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เป็นอยู่ในวันนี้กับตัวเลขจำนวนผู้ป่วยที่ยังยืนอยู่ที่หลักหมื่น (คน) ต่อวัน และในจำนวนนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังไม่นับรวมตัวเลขจำนวนผู้ป่วยที่เข้าข่ายการติดเชื้อจากการตรวจด้วยชุดเอทีเคที่มีวันละหลายพันคน บางวันพุ่งไปแตะหลักหมื่น นับรวมเข้าไปด้วย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตก็ยังสูงเฉียดหลักร้อยต่อวัน ที่สำคัญในแต่ละวันก็จะมีคลัสเตอร์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ

ครบ 2 เข็ม 32% เปิดประเทศ

ถึงวันนี้ แม้ว่าในภาพรวมการฉีดวัคซีนของประเทศ ตัวเลขจะทะลุ 60.23 ล้านโดส (ยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-10 ตุลาคม) ในจำนวนนี้แบ่งเป็น จำนวนผู้ที่ได้รับเข็ม 1 จำนวน 35.09 ล้านคน หรือ 48.7% จากจำนวนประชากร 72.03 ล้านคน ขณะที่ผู้ที่ได้รับการฉีดเข็ม 2 มีจำนวน 23.40 ล้านคน หรือ 32.5%

อย่างน้อยที่สุด ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ยังมีเปอร์เซ็นไม่มากนัก คือ 32.5% ซึ่งยังไม่มากพอและห่างไกลกับการจะสร้างเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ได้

หรือหากเทียบกับหลาย ๆ ประเทศที่ได้ทยอยประกาศเปิดประเทศไปก่อนหน้านี้ ตัวเลขการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ก็ยังห่างไกลประเทศอื่น ๆ มาก โดยเฉพาะสิงคโปร์ ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วมากถึง 81% ขณะที่แคนาดา 72% อังกฤษ 68% ฝรั่งเศส 66%

เช่นเดียวกับออสเตรเลีย ที่เตรียมจะเปิดประกาศในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็ตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนเข็ม 2 ให้ได้ 55% ภายในกลางเดือนตุลาคมนี้ จากตอนนี้ที่ทำได้มากกว่า 50%

ส่องยอดวัคซีนเมืองท่องเที่ยว

รายงานจากกระทรวงสาธารณสุข ที่รวบรวมตัวเลขการได้รับฉีควัคซีนโควิด-19 สะสม (20 กุมภาพันธ์-10 ตุลาคม) จากระบบฐานข้อมูล (MOPH Immunization Center) ของจังหวัดหรือพื้นที่นำร่องเมืองท่องเที่ยวตามแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ จะพบว่า ตัวเลขสัดส่วนการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ที่มีสัดส่วนสูงมีอยู่เพียง 2-3 จังหวัดเท่านั้น (ดูตารางประกอบหน้า 1)

ยกตัวอย่าง จังหวัดภูเก็ต มีประชากร 547,584 คน มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 437,157 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 79.8% ส่วนเข็ม 2 จำนวน 414,250 คน หรือ 75.7% ขณะที่กรุงเทพฯ ประชากร 7.69 ล้านคน ฉีดเข็ม 1 ไปแล้ว 7.88 ล้านคน หรือ 102.4% ส่วนเข็ม 2 ฉีดไปแล้ว 4.69 ล้านคน หรือ 61.0% และชลบุรี ประชากร 2.05 คน ฉีดเข็ม 1 ไปแล้ว 1.46 ล้านคน หรือ 71.2% ส่วนเข็ม 2 ฉีดไปแล้ว 1.01 ล้านคน หรือ 49.6%

ส่วนจังหวัดอื่น ๆ หากพิจารณาลงไปในรายละเอีดจะพบว่า สัดส่วนการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ยังมีสัดส่วนที่ไม่สูงนัก ไม่ว่าจะเป็น กระบี่ ประชากร 503,537 คน ฉีดเข็ม 1 ไปแล้ว 203,599 คน หรือ 40.4% เข็ม 2 ฉีดไปแล้ว 155,186 คน หรือ 30.8%, พังงา ประชากร 286,338 คน ฉีดเข็ม 1 ไปแล้ว 161,662 คน หรือ 56.5% ขณะที่เข็ม 2 ฉีดไปแล้ว 137,516 คน หรือ 48.0%

ประจวบคีรีขันธ์ ประชากร 578,093 คน ฉีดเข็ม 1 ไปแล้ว 281,350 คน หรือ 48.7% ส่วนเข็ม 2 ฉีดไปแล้ว 216,602 คน หรือ 37.5%, เพชรบุรี ประชากร 502,826 คน มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 268,270 คน หรือ 53.4% ส่วนเข็ม 2 มีจำนวน 198,616 คน หรือ 39.5% ส่วนเชียงใหม่ ประชากร 1.73 คน มีผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 772,293 คน หรือ 44.7% ส่วนเข็ม 2 จำนวน 531,445 คน หรือ 30.7% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จากนี้ไป สธ.จึงต้องเร่งมาตรการต่าง ๆ ในการกำหนดประเทศที่เดินทางเข้ามาต้องมีความเสี่ยงต่ำ การกำหนดเรื่องหลักฐานการฉีดวัคซีน รวมถึงการเร่งปูพรมฉีดวัคซีนในพื้นที่เป้าหมายของการท่องเที่ยวในเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น

สธ.ยืนยันวัคซีนมีมากพอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนแผนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ 3 เดือนสุดท้ายที่เหลืออยู่ จะมีเข้ามาเพิ่มอีกประมาณ 71 ล้านโดส จากก่อนหน้านี้ที่มีวัคซีนยี่ห้อต่าง ๆ ทยอยส่งมอบและฉีดไปแล้ว (กุมภาพันธ์-กันยายน) ประมาณ 55.5 ล้านโดส

โดยในเดือนตุลาคมนี้ตามแผนจะมีวัคซีนเข้ามา 24 ล้านโดส เป็นซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดส ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส ส่วนเดือนพฤศจิกายน จะมีวัคซีนเข้ามารวม 23 ล้านโดส เป็นแอสตร้าเซนเนก้า 13 ล้านโดส และไฟเซอร์ 10 ล้านโดส ขณะที่เดือนธันวาคม จะมีวัคซีนเข้ามา 24 ล้านโดส เป็นแอสตร้าเซนเนก้า14 ล้านโดส และไฟเซอร์ 10 ล้านโดส

เท่ากับว่าอย่างน้อยที่สุดภายในปีนี้ประเทศไทยจะมีวัคซีนทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 126 ล้านโดส และนี่ยังไม่นับรวม ซิโนฟาร์ม (ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์) ที่จะทยอยเข้ามา เข้ามาอีก 6 ล้านโดส 12.5 ล้านโดส และ 12.5 ล้านโดส ตามลำดับ และโมเดอร์นา (องค์การเภสัชกรรมและสมาคโรงพยาบาลเอกชน) อีก 2 ล้านโดส ที่จะเข้ามาในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังมีการเจรจาขอซื้อวัคซีนจากต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่งที่พร้อมจะขายให้ อาทิ สเปน ประกอบด้วย แอสตร้าเซนเนก้า 165,000 โดส และไฟเซอร์ 2.78 ล้านโดส, ฮังการี เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 4 แสนโดส นอกจากนี้ ประเทศไอซ์แลนด์ยังได้ประกาศจะบริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้ไทย จำนวน 1 แสนโดส

ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังได้กำหนดเป้าหมายและแผนการฉีดวัคซีน ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี (ตุลาคม-ธันวาคม) โดยประชากรจะได้รับวัคซีนทั้งหมด 62 ล้านคน คิดเป็น90% ของประชากรประเทศไทย โดยเป้าหมายการฉีดภายในปี 2564 ได้แก่ 1.ครอบคลุมผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อย 70% ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 และอย่างน้อย 80% ภายในเดือนธันวาคม 2564 2.ครอบคลุมผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างน้อย 70% ภายในเดือนธันวาคม 2564

และ 3.ให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 เข็ม และผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดได้รับเข็มกระตุ้น 1 เข็ม โดยมีแผนการจัดสรรให้มีผู้ได้รับการกระตุ้นเดือนละ 1-2 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564

พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังจะจัดฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งชาวไทย ชาวต่างประเทศ และแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวย้ำภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคโควิด-19 หรืออีโอซี (EOC) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ล่าสุดได้รับรายงานการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดสะสมแล้วกว่า 60.2 ล้านโดส ซึ่งเป็นไปตามการวางแผน และคาดว่าในสิ้นปี 2564 จะสามารถฉีดวัคซีนได้ 100 ล้านโดสอย่างแน่นอน