AWC ปั้น ริมน้ำเจ้าพระยา สู่แลนด์มาร์กสุขภาพโลก

AWC

“แอสเสท เวิรด์ คอร์ป” รุกสร้างเดสติเนชั่นท่องเที่ยวใหม่ให้ประเทศ ทุ่มกว่า 3 พันล้านเช่าที่ดิน “ล้ง 1919” ของตระกูลหวั่งหลี เนรมิตโครงการ Integrated Wellness ภายใต้แนวคิด River Journey ต่อยอดโครงการ
ริมน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างแลนด์มาร์กด้านสุขภาพสู่ระดับสากล พร้อมตอบโจทย์ Building a Better Future สร้างอนาคตที่ดีกว่า

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตอบสนองไลฟ์สไตล์ เปิดเผยว่า บรษัทยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของการท่องเที่ยวของประเทศไทย

โดยปัจจุบันดีมานด์การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมา และเชื่อว่าจะเริ่มกลับมาชัดเจนขึ้นในปี 2565 และทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยกลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้งในปี 2566 บริษัทจึงเตรียมแผนลงทุนสำหรับรองรับการฟื้นตัวอีกครั้งของภาคการท่องเที่ยว

โดยล่าสุดบริษัท เอดับบลิวซี บาย ริเวอร์ฟรอนท์ จำกัด (บริษัทย่อยที่ AWC ถือหุ้นทางตรงและทางอ้อม 100%) ได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับบริษัท หวั่งหลี จำกัด เพื่อเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามตลาดน้อย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโครงการ “ล้ง 1919” เนื้อที่กว่า 8 ไร่ ระยะยาว (30+30 ปี) รวม 3,436 ล้านบาท

ประกอบด้วย ค่าเช่ารวม 1,269.2 ล้านบาท และเงินลงทุนพัฒนาโครงการประมาณ 2,166.8 ล้านบาท สำหรับพัฒนาโครงการ “The Integrated Wellness Destination” ศูนย์สุขภาพแบบองค์รวมมาตรฐานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เพื่อสร้างให้พื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพระดับโลก

นางวัลลภากล่าวว่า โครงการดังกล่าวนี้ บริษัทจะพัฒนาภายใต้แนวคิด “The River Journey” หรือประสบการณ์ท่องเที่ยวริมน้ำที่สำคัญของประเทศไทย ที่ผสมผสานระหว่างประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม เพื่อสร้างคุณค่าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวด้านสุขภาพระดับโลก ซึ่งจะเชื่อมโยงกับโครงการอื่น ๆ ของ AWC ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ซึ่งบริษัทยังมีแผนพัฒนาต่อเนื่องเป็นระยะ เป็นต้น

รวมทั้งตอบโจทย์ด้านความมุ่งมั่นสร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่า หรือ Building a Better Future ตามนโยบายของบริษัทอีกด้วย โดยให้ The Ritz Carlton Hotel บริษัทเครือแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้บริหาร โดยมีเป้าหมายทำให้โครงการดังกล่าวเป็น world-class destination

“โครงการนี้จะเป็นเวลเนส โมเดล รูปแบบใหม่ ประกอบด้วย โรงแรม จำนวน 86 ห้อง เรสซิเดนต์ จำนวน 56 ยูนิต บริการสุขภาพแบบองค์รวม มาตรฐานของแบรนด์ Ritz Carlton ที่มีความลักเซอรี่ รวมถึงบริการการท่องเที่ยวทางน้ำในรูปแบบ ecotourism ทั้งกลางวัน กลางคืน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนสำหรับคนรักสุขภาพ โดยทั้งหมดมีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2569” นางวัลลภากล่าว

สำหรับมุมมองที่ AWC หันมาพัฒนาโครงการ Integrated Wellness ครั้งนี้นั้น นางวัลลภากล่าวว่า AWC เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งเน้นตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคอยู่แล้ว และโครงการพัฒนาศูนย์สุขภาพแบบองค์รวมมาตรฐานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยครั้งนี้ถือเป็นการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่จะมีความสำคัญอย่างมากในอนาคตที่ธุรกิจเวลเนสจะเข้ามามีบทบาท ทั้งสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป และกลุ่มครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองมากขึ้น

เมื่อบวกกับระบบสาธารณสุขและจุดแข็งในด้านฮอสพิทาลิตี้ของประเทศไทย โครงการดังกล่าวจะยิ่งสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ผู้นำของตลาดเวลเนสในระดับโลกได้