Trip.com ชี้เดินทางในประเทศ หนุนท่องเที่ยวฟื้นระยะสั้น

ท่องเที่ยวในปท

“ทริปดอทคอม กรุ๊ป” เปิดผลวิจัยแนวโน้มพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยว เผยการเดินทางภายในประเทศปัจจัยหลักหนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวการฟื้นตัวในระยะสั้น-กลาง ชี้นักท่องเที่ยวมองหาประสบการณ์ใหม่ ใช้เวลาพำนักนานขึ้น นิยมจองล่วงหน้าสั้นลง-ยืดหยุ่นสูง

นางสาวเจน จี ซุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทริปดอทคอม กรุ๊ป เปิดเผยว่า จากผลวิจัยแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวปี 2564 และอนาคตด้านการจองที่พัก (booking trends) พบว่า จากข้อจำกัดที่ยังคงมีอยู่ในการเดินทางระหว่างประเทศของทุกประเทศทั่วโลก ส่งผลให้การท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนภายในประเทศยังคงเป็นตัวนำไปสู่การฟื้นตัวของการเดินทางและการท่องเที่ยวในระยะสั้นถึงระยะกลาง

โดยผู้บริโภคหันไปหาจุดหมายปลายทางและกิจกรรมภายในประเทศ ทำให้การพักผ่อนอยู่บ้านหรือ staycation มีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นที่ต้องการและยังเพิ่มขึ้นในประเทศที่มีการยืดระยะเวลาของข้อจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศ

และพบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของนักเดินทางทั่วโลกวางแผนที่จะเดินทางเพื่อการพักผ่อนในประเทศในระยะเวลาอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยนักเดินทางมากกว่าครึ่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตั้งใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และประมาณ 1 ใน 3 ของนักเดินทางชาวยุโรปวางแผนจะเดินทางไปประเทศอื่นภายในทวีปยุโรป

เช่นเดียวกับในประเทศจีนที่พบว่าในปี 2564 นี้การเดินทางภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านการเดินทางออกนอกประเทศ ส่งผลให้การจองสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้ของซีทริป (Ctrip) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 เติบโตขึ้นเกือบ 300% และ 81% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 และปี 2562 ตามลำดับ

ขณะที่ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ก็มีการเติบโตของความต้องการในการพักผ่อนใกล้บ้านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2564 การจองโรงแรมในฮ่องกงมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นกว่า 200% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562

สำหรับในทวีปยุโรปพบว่าในปี 2564 การจองโรงแรมในประเทศมีการเติบโตเป็นเลข 2 หลักเมื่อเทียบกับปี 2563 เพิ่มขึ้นมากกว่า 200% เมื่อเปรียบเทียบปี 2562

อย่างไรก็ตาม มองว่าเมื่อการเดินทางระหว่างประเทศกลับมา การเดินทางภายในประเทศอาจมีการชะลอตัวลงตามสัดส่วน แต่แนวโน้มในการกระตุ้นการเดินทางสู่จุดหมายปลายทางภายในประเทศมีแนวโน้มว่าจะคงอยู่ในระยะยาว

นางสาวเจน จี ซุน กล่าวด้วยว่า งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่านักท่องเที่ยวกำลังมองหาวิธีใหม่ ๆ ในการได้รับประสบการณ์การเดินทางใหม่ ๆ และใช้ระยะเวลายาวนานขึ้น โดยในปี 2562 ระยะเวลาการเดินทางภายในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 4.45 วัน และ 9.22 วันสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ ในปี 2564 ผู้เดินทางทั่วโลกมากกว่า 52% ชื่นชอบการพำนักระยะยาว โดยประมาณ 26% ชอบที่จะเข้าพักมากกว่า 10 คืนขึ้นไป ซึ่งสะท้อนถึงการที่ผู้บริโภคได้กลับมาใช้จ่ายในระดับที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่หยุดกันไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ จากรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลายมากขึ้น และนักเดินทางนิยมผนวกการทำงานเข้ากับการเดินทางเพื่อพักผ่อนเพิ่มขึ้น จึงคาดการณ์ว่าเทรนด์การพำนักระยะยาวจะคงอยู่และอาจเพิ่มขึ้นในอนาคต

โดยการเดินทางในรูปแบบการท่องเที่ยวระหว่างการเดินทางไปทำธุรกิจต่างถิ่น (bleisure) เช่น workcations หรือ flexcations ที่เปิดโอกาสให้นักเดินทางได้สัมผัสจุดหมายปลายทางใหม่ ๆ และช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยว โดย 40% ของนักเดินทางเต็มใจที่จะถูกกักกันโรคก่อนที่จะเริ่มต้นการพักผ่อน

และด้วยข้อจำกัดการเดินทางที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พฤติกรรมการจองของนักเดินทางเปลี่ยนไป โดยนักเดินทางไม่เต็มใจนักที่จะจองการเดินทางล่วงหน้าหลายเดือน และมองหาการจองที่มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ทำให้สายการบิน โรงแรม และผู้ให้บริการด้านการเดินทางอื่น ๆ ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการรองรับการเปลี่ยนแปลงแผนการเดินทางที่อาจเกิดขึ้นไปด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสู่ความยืดหยุ่นนี้มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงกรอบเวลาการจองล่วงหน้าที่สั้นลงด้วย

ไม่เพียงเท่านี้นักเดินทางยังต้องการหลีกเลี่ยงค่าปรับ และความสูญเสียจากนโยบายการเปลี่ยนแปลงและการยกเลิกที่มีความยืดหยุ่น ตลอดจนเงื่อนไขการชำระเงินสำหรับการจองด้วย

“กรอบเวลาการจองล่วงหน้าที่สั้นลงกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น โดยเวลาการจองเที่ยวบินล่วงหน้าที่สั้นที่สุดในครึ่งปีแรกของปี 2564 อยู่ที่ 23 วัน ลดลงร้อยละ 56 เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่อยู่ที่ 53 วัน ขณะที่กรอบเวลาการจองโรงแรมล่วงหน้าก็ลดลงจาก 32 วันในครึ่งปีแรกของปี 2562 เป็น 10 วันในครึ่งปีแรกของปี 2564” นางสาวเจน จี ซุน กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยชี้ว่าการจองล่วงหน้าที่สั้นลงอาจเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น