อพท.เร่งปั๊มรายได้สู่ชุมชน ขยับชงเพิ่มอีก 3 พื้นที่พิเศษ

อพท.เปิดแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ยกระดับไทยขึ้นอันดับดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวโลก สู่แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน เผยปีนี้เตรียมเสนออีก 3 พื้นที่ขึ้นเป็นพื้นที่พิเศษ ดันชุมชนต้นแบบเพิ่ม 27 แห่ง พร้อมผลักดัน 15 ชุมชนที่พัฒนาแล้วเข้าสู่การตลาดท่องเที่ยว

นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2566-2570) หรือภายในปี 2570 อพท.มีเป้าหมายจะพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบของประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนนำไปสู่การสร้างรายได้ และกระจายรายได้สู่ชุมชน ด้วยการพัฒนาระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่พิเศษอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Competitiveness Index : TTCI) ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

รวมถึงการตั้งเป้าหมายมีจำนวนเมืองและชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ตลอดจนอัตราการขยายตัวของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น ขยายภาคีเครือข่ายการพัฒนา สร้างชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวให้เกิดรายได้และมีการกระจายรายได้ที่ดี เป็นหน่วยงานที่มีธรรมาภิบาลและความเป็นเลิศในการเป็นต้นแบบด้านท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศ

นาวาอากาศเอกอธิคุณกล่าวว่า สำหรับปีนี้ อพท.มีแผนเตรียมนำเสนอพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มอีก 3 พื้นที่ ประกอบด้วย 1.พื้นที่ลุ่มนํ้าทะเลสาบสงขลา (จังหวัดสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช) 2.พื้นที่จังหวัดเชียงรายและ 3.พื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ และยังมีพื้นที่แจ้งความประสงค์ขอรับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ อีกจำนวน 7 พื้นที่ ได้แก่ บุรีรัมย์, พระนครศรีอยุธยา, พะเยา, พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม, ราชบุรี, ตรัง และอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

“อพท.จะดำเนินการภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมกับภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน ตั้งแต่กระบวนการศึกษา และประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่”

ทั้งนี้ การประกาศพื้นที่พิเศษของ อพท.ต้องได้รับความยินยอมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มาตรา 3 และมาตรา 35

โดยเบื้องต้นในปีงบประมาณ 2565 นี้ พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเรียบร้อยแล้ว และจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. พิจารณาให้ความเห็นชอบการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษต่อไป ส่วนพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตามลำดับต่อไป

ส่วนงานด้านการพัฒนายกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้กับแหล่งท่องเที่ยวในระดับนานาชาตินั้นในปี 2565-2566 นี้ อพท.ได้เตรียมเสนอจังหวัดน่านและสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษของ อพท.ต่อยูเนสโก ให้เข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (UCCN) การยกระดับแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC และผลักดันเกาะหมาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destinations Top 100


นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพตามมาตรฐานท่องเที่ยวโดยชุมชน จำนวน 27 ชุมชน พร้อมกับผลักดันชุมชนที่ผ่านการพัฒนาแล้วเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และตลาดจัดประชุมและนิทรรศการไม่น้อยกว่า 15 ชุมชน ครอบคลุม 6 พื้นที่พิเศษ และ 15 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์)