ททท. จัดงาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” หวังกระตุ้นการเดินทาง

สงกรานต์
แฟ้มภาพ

ททท. จัดงาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” สนับสนุนงานสงกรานต์ในพื้นที่เอกลักษณ์ทั่วประเทศ หวังกระตุ้นการเดินทาง และสืบสานประเพณีไทย จัดโซนจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอาหารจากท้องถิ่น พร้อมการแสดงทางวัฒนธรรม

วันที่ 5 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย ททท. เตรียมจัดงานเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” ช่วงระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน เพื่อประชาสัมพันธ์ประเพณีไทยควบคู่กับการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ททท. ได้พิจารณาปรับแผนการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ให้สอดคล้องกับมาตรการด้านสาธารณสุข โดยเน้นนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านคุณค่าของวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นและการแสดงดนตรี เช่น โขน ดนตรีร่วมสมัย

พร้อมจัดสรรโซนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและอาหารท้องถิ่นที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ หรือ New Normal เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ควบคู่กับการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและส่งมอบความสุขรับปีใหม่ไทยให้แก่ประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง

สำหรับ “เทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” พื้นที่ที่ ททท. ดำเนินงาน ประกอบด้วย 2 งานหลัก ได้แก่ งานเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565 และ งาน Songkran Music Heritage Festival 2022 ซึ่งแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์และกิจกรรมที่แตกต่างกันไป ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. งานเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565

จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2565 ณ พระอารามหลวง 10 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่

  • วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
  • วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
  • วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
  • วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
  • วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
  • วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
  • วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
  • วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
  • วัดราชนัดดารามวรวิหาร
  • วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

กิจกรรมไฮไลต์ : วันที่ 13-15 เมษายน 2565 ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ชมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า อาทิ การแสดงโขน ตำนานนางสงกรานต์ การแสดงลำตัดแม่ขวัญจิตร ศรีประจันต์ การแสดงชุดเภรีก้องหล้า เบิกฟ้า มหาสงกรานต์ การแสดงหุ่นละครเล็ก ระบำเทพบันเทิง

2. งาน Songkran Music Heritage Festival 2022

จัดขึ้นในวันที่ 12-21 เมษายน 2565 ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณเมืองเก่า จังหวัดสงขลา และวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใต้แนวคิด “Songkran Music Heritage 2022” สะท้อนอัตลักษณ์ของมรดกทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และภูมิปัญญาไทย ร่วมกับนวัตกรรมใหม่ในพื้นที่มรดกโลกอันทรงคุณค่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และส่งต่อไปยังจังหวัดสงขลา เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการขึ้นทะเบียนมรดกโลกต่อไป

กิจกรรมไฮไลต์ : จังหวัดสงขลา ล่องใต้สืบสานประเพณีไทยด้วยการแต่งกายผ้าประจำถิ่นเข้าร่วมงาน
สวมผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติก ทำกิจกรรมสรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย ร่วมกิจกรรมสาธิตอาหารท้องถิ่น อาทิ ยำสายเกาะยอ ข้าวยำปักษ์ใต้ พร้อมชมการแสดงพื้นบ้าน อาทิ โนรา ชื่นชมบรรยากาศการประดับตกแต่งเพดานถนนจากกรงนกหัวจุก ว่าวธงสามเหลี่ยม และโคมไฟจีนประดับเฉดสีตามลูกปัดโนรา

กิจกรรมไฮไลต์ : จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่าขานเรื่องราวแห่งเมืองมรดกโลก รณรงค์แต่งชุดไทยเข้าร่วมงาน ทำกิจกรรมสรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย ชมสาธิตงานหัตถกรรม สานปลาตะเพียน เพลิดเพลินกับการแสดงพื้นบ้าน อาทิ โขน ลิเก และการแสดงดนตรีศิลปินชื่อดังของประเทศไทย

นอกจากนี้ ททท. ยังได้สนับสนุนการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 ในพื้นที่เอกลักษณ์ทั่วประเทศ เช่น งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2565 จังหวัดสมุทรปราการ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2565 และ งานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูนเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว ประจำปี 2565 จังหวัดขอนแก่น จัดขึ้นระหว่างวันที่วันที่ 11-15 เมษายน 2565

ขณะเดียวกัน หลายพื้นที่ทั่วประเทศมีการจัดกิจกรรมรับปีใหม่ไทยที่สะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ เช่น “น้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่” จังหวัดเชียงใหม่ (จัดขึ้นวันที่ 12 เมษายน 2565 และสามารถรับน้ำทิพย์ปี๋ใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2565), กิจกรรมสรงน้ำพระธาตุเชิงชุม จังหวัดนครพนม (ระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน 2565) และงานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง ประจำปี 2565 (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 16 เมษายน 2565)