แรงงานขาด-ต้นทุนพุ่ง “โจทย์ใหม่” แผนฟื้นท่องเที่ยวไทย

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

จากนโยบายผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ ส่งผลให้ภาคธุรกิจบริการและท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ธุรกิจโรงแรมทยอยเปิดให้บริการ รับสมัครพนักงานกลับเข้ามาทำงานกันอีกครั้ง หลังจากเลิกจ้างพนักงานไปเกือบทั้งหมดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

โดยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ แรงงานในภาคธุรกิจโรงแรมที่ออกไปแล้วไม่กลับมา ธุรกิจกำลังประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรคุณภาพอย่างหนัก

ขณะที่ “ดีมานด์” เริ่มกลับมา โดยข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565-13 พฤษภาคม 2565 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาครบ 1 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว (ปี 2564 มีนักท่องเที่ยวรวม 4.27 แสนคน)

รับ “แรงงาน” ขาดแคลนหนัก

“มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) และรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวมถึงโรงแรมอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการในอนาคต

“ตัวเลขเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธุรกิจมีการจ้างงานอยู่ในสัดส่วนเพียงแค่ประมาณ 61% ของปี 2562 สะท้อนว่าแม้ธุรกิจจะยังไม่กลับมาเปิดอย่างเต็มที่ขณะนี้ แต่ภาคธุรกิจก็ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานแล้ว หากธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการมากกว่านี้ปัญหาเรื่องแรงงานก็น่าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่”

สอดรับกับข้อมูลจากการสำรวจของ “ประชาชาติธุรกิจ” ที่พบว่า ขณะนี้โรงแรมทั้งอินเตอร์เชนและแบรนด์โลคอลทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ประกาศรับสมัครพนักงานเพื่อรองรับการกลับมาเปิดให้บริการ (reopen) ธุรกิจกันอีกครั้งอย่างคึกคัก

โดยตำแหน่งที่เปิดรับสมัครมีตั้งแต่พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานให้บริการส่วนหน้า แม่บ้าน ฝ่ายขายและการตลาด ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ไปจนถึงผู้จัดการทั่วไป พร้อมนำเสนอสวัสดิการและแรงจูงใจในรูปแบบต่าง ๆ

“ต้นทุน” แรงงานพุ่ง

เช่นเดียวกับ “ยุทธชัย จรณะจิตต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อิตัลไทย จำกัด และผู้บริหารกลุ่มบริษัท ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งมีโรงแรมแบรนด์อมารี, โอโซ, ซามา, ซามา ฮับ รวมทั้งเป็นผู้ถือหุ้นโรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ที่ให้ข้อมูลว่าขณะนี้ปัญหาเรื่องแรงงานเป็นปัญหาใหญ่มากของธุรกิจบริการ ทั้งประเด็นขาดแคลนแรงงานคุณภาพ รวมถึงค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าเท่าตัว

“ธุรกิจโรงแรมสมัยก่อนเราหาแรงงานพาร์ตไทม์ได้ ตอนนี้หายากมาก ผู้ประกอบการแย่งตัวกันเพราะดีมานด์เริ่มกลับมาแล้ว แม่บ้านเราเคยจ่ายวันละ 300-350 บาท ที่ผ่านมาที่ภูเก็ตค่าตัวแม่บ้านขึ้นไปวันละ 800-900 บาท ตอนนี้เราเลยมองว่าการจ้างพาร์ตไทม์เหมือนสมัยก่อนอาจไมได้ช่วยเซฟต้นทุนอีกต่อไปแล้ว”

“ยุทธชัย” บอกด้วยว่า ปัจจุบันต้นทุนค่าบุคลากรอย่างเดียวเพิ่มขึ้นประมาณ 20-25% จากเดิมเมื่อปี 2562 ซึ่งรูปแบบการจ้างคนเข้ามาทำงานก็จำเป็นต้องมีแคเรียร์พาร์ตที่ชัดเจนให้เขาด้วย ทำให้เขามองเห็นอนาคตด้วยว่าอยู่กัน 5 ปีเขามีโอกาสขยับไปอยู่ในจุดไหนด้วย

วิจัยชี้ชัดแรงงานไม่กลับสู่ระบบ

ด้าน “ศาสตราจารย์ ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ” ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานโยบายและการจัดการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการงานวิจัยในหัวข้อ “การจัดการท่องเที่ยวในยุคความปกติใหม่ : มุมมองทางเศรษฐศาสตร์” โดยได้รับทุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ให้ข้อมูลว่า

ในการศึกษาแรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จำแนกแรงงานออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.แรงงานภาคการท่องเที่ยวโดยตรง เช่น กลุ่มขนส่ง, กลุ่มของที่ระลึก, อาหาร, ทัวร์ คาดว่ามีจำนวนแรงงานอยู่ที่ราว 2.5 ล้านคน 2.แรงงานกลุ่มภาคอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่ามีจำนวนแรงงานอยู่ราว 1.5 ล้านคนและ 3.แรงงานภาคบริการอื่น ๆ เช่น ธุรกิจการเงิน คาดว่ามีจำนวนแรงงานอยู่ราว 4.4 ล้านคน

“ศ.ดร.ปังปอนด์” บอกว่า จากการศึกษาพบว่าก่อนการระบาดของเชื้อโควิด-19 เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอยู่บ้างแล้ว โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 11.1%

เมื่อมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเลือกการปรับโครงสร้างแรงงาน คือ การลดค่าจ้างแรงงาน

โดยกลุ่มแรงงานทักษะ เช่น พนักงานนวด พนักงานต้อนรับของโรงแรม ได้รับผลกระทบมากที่สุด ตามมาด้วยกลุ่มแรงงานกรรมาชีพ เช่น พนักงานทำความสะอาด คนสวน ขณะที่กลุ่มผู้บริหารได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวน้อยที่สุด “ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 คือ กลุ่มแรงงานใช้ทักษะ เช่น พ่อครัว พนักงานสปา ซึ่งมีความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งออกจากงานที่ทำอยู่และเดินทางกลับภูมิลำเนา และยังไม่กลับเข้าสู่ระบบ”

ลดไซซ์-เพิ่มประสิทธิภาพ

ดังนั้น ในอนาคตผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่ต้องการลดขนาดขององค์กร เพิ่มประสิทธิภาพ และช่วยเสริมให้องค์กรดำเนินธุรกิจด้วยความคล่องตัวมากขึ้น โดยลดจำนวนพนักงาน เลือกจ้างงานผู้ที่มีทักษะการทำงานหลายอย่าง (multitasking skills) เช่น พ่อครัว ที่สามารถต้อนรับ-บริกาลูกค้าได้ หรือบุคคลที่มีความสามารถด้านภาษาที่สาม เช่นจีน รัสเซีย

นอกจากนี้ การจัดการธุรกิจอาจเปลี่ยนไป โดยองค์กรอาจเน้นการจ้างแรงงานจากแหล่งภายนอก (outsource) มากขึ้น เปลี่ยนมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการหาลูกค้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจปรับลดสวัสดิการโดยคงไว้เฉพาะพนักงานที่มีสัญญาจ้างระยะยาวเท่านั้น

“ไม่ว่าจะเป็นแรงงานใช้ทักษะหรือแรงงานกรรมาชีพ ต่างต้องปรับตัวให้มีทักษะการใช้เทคโนโลยี ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามสายงาน รวมถึงต้องมีทักษะการจัดการที่ดี เช่น พ่อครัวที่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในครัว และมีทักษะด้านไอทีไปพร้อมกัน” ศ.ดร.ปังปอนด์ย้ำ

ไม่มั่นใจในธุรกิจท่องเที่ยว

สอดรับกับ “รัชชพร พูลสวัสดิ์” นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย ที่ระบุว่า ก่อนการระบาดของเชื้อโควิด-19 แทบไม่พบปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่สมุย แต่เมื่อการระบาดทำให้แรงงานส่วนหนึ่งก็ออกจากอุตสาหกรรมไป

โดยแรงงานที่ออกไปนั้นบางส่วนกลับภูมิลำเนา และหันไปประกอบอาชีพอื่น เช่น เกษตรกรรม หรือเปลี่ยนไปทำอาชีพค้าขายออนไลน์ เดิมมีการคาดว่าเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ตลาดแรงงานในพื้นที่น่าจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริงพบว่ามีแรงงานกลับเข้าสู่อุตสาหกรรมเพียง 30%

“ปัจจุบันผู้ประกอบการแก้ปัญหาด้วยการจ้างแรงงานชั่วคราวเพิ่มมากขึ้น แต่ก็พบว่ายังขาดแคลนแรงงานอยู่ และแม้จะมีการเปิดรับสมัครแรงงานเป็นจำนวนมากคุณสมบัติอาจยังเป็นข้อจำกัดในการรับพนักงาน คือ ภาคการท่องเที่ยวต้องการแรงงานที่มีทักษะ ได้รับการฝึกฝน หรือมีประสบการณ์มาบ้างแล้ว”

โดยสาเหตุหลักที่แรงงานยังไม่กลับเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เกิดจากแรงงานเหล่านั้นยังรู้สึกไม่มั่นใจในธุรกิจท่องเที่ยว พร้อมระบุว่า ปัจจุบันปัญหาขาดแคลนแรงงานเริ่มส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจแล้ว โดยโรงแรมเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่รวมแรงงานที่มีความสามารถจากหลากหลายด้าน

“ถ้าเราไม่แก้ตอนนี้ เราจะเจอกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะยาว เมื่อเราขาดบุคลากรไป มาตรฐานการให้บริการ ความเชี่ยวชาญที่หายไป และ hospitality ที่เรารักษามาตลอดจะประสบปัญหา” รัชชพรย้ำ


จากการสะท้อนปัญหาของหลายภาคส่วนดังกล่าวนี้ชี้ชัดเจนว่า “โจทย์ใหญ่” ของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในเวลานี้ คือ นอกจากการส่งเสริมและกระตุ้นในด้าน “ดีมานด์” แล้วควรต้องสนับสนุน “ซัพพลาย” ที่เกี่ยวเนื่องให้ฟื้นกลับมาและมีศักยภาพรองรับกับดีมานด์ที่กำลังอยู่ในทิศทางขาขึ้นด้วยเช่นกัน