บริติชแอร์เวย์ส ระงับเที่ยวบินกรุงเทพฯ-ลอนดอน กระทบแผนดึง นทท.เข้าไทย

บริติชแอร์เวย์สระงับเที่ยวบิน “กรุงเทพฯ - ลอนดอน”
ภาพจาก Ben STANSALL / AFP

ททท.คาดบริติชแอร์เวย์ส ยังไม่กลับมาให้บริการกรุงเทพฯลอนดอน กระทบแผนดึงนักท่องเที่ยวเข้าไทย เตรียมตั้งรับ ดันทัวริสต์อยู่ไทยนานขึ้น เปิดปัจจัยเสี่ยง เงินเฟ้อแรงงานขาดแคลน 

วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 นางสาวสดุดี แสงนิล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลอนดอน เปิดเผยกับประชาชาติธุรกิจว่า จากกระแสข่าวสายการบิน British Airways (บริติช แอร์เวย์ส) ยังไม่พิจารณากลับมาให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯลอนดอนนั้น ททท. สำนักงานลอนดอน ได้ดำเนินการติดต่อสอบถามไปยังสายการบิน British Airways และได้รับการยืนยันว่ากระแสข่าวดังกล่าวเป็นความจริง 

โดยสายการบิน British Airways ได้ตัดสินใจขยายเวลาการระงับเที่ยวบินในเส้นทางบินตรง กรุงลอนดอนกรุงเทพฯ ต่อออกไปอีกจนถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย แต่ยังไม่สามารถระบุลงในรายละเอียดได้ว่าจะถึงเมื่อใด 

ทั้งนี้ สายการบิน British Airways ยังคงเปิดขายเที่ยวบินไปยังประเทศไทย โดยเป็นการขายในลักษณะ Code Share ร่วมกับสายการบินอื่น ๆ ในกลุ่ม Oneworld Alliance เช่น สายการบิน Qatar Airways, Cathay Pacific และ Royal Jordanian Airlines เป็นต้น

กระทบจำนวนที่นั่ง

นางสาวสดุดีกล่าวว่า การขยายเวลาการระงับเที่ยวบินตรงของสายการบิน British Airways มีผลกระทบโดยตรงต่อจำนวนปริมาณที่นั่งโดยสาร (Seating Capacity) ของสายการบินที่เดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งจะลดลงถึง 7,700 ที่นั่งต่อเดือน

ทั้งนี่ เมื่อเทียบกับปี 2562 ปริมาณที่นั่ง (Seating Capacity) สำหรับเที่ยวบินตรงจากสหราชอาณาจักรไปยังประเทศไทย มีจำนวนรวมประมาณ 43,628 ที่นั่ง แต่ในปี 2565 นี้ ปริมาณที่นั่งจะลดลงเหลือเพียง 27,556 ที่นั่ง ซึ่งลดลงจากปี 2562 ประมาณร้อยละ 36 

การลดลงของปริมาณที่นั่งดังกล่าว เป็นผลมาจากการระงับเที่ยวบินของสายการบิน British Airways ประกอบกับการลดจำนวนเที่ยวบินเหลือเพียง 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ของสายการบิน EVA Air และการปรับเปลี่ยนประเภทเครื่องบินให้เล็กลงของสายการบินไทย เดิมการบินไทยเคยใช้เครื่องบินแอร์บัส เอ 380 ทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯลอนดอน (ฮีโทรว์)

ตั้งรับดัน Longer Stay 

นางสาวสดุดีกล่าวต่อว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นประเด็นที่ค่อนข้างควบคุมได้ยาก เนื่องจากเป็นเรื่องของการบริหารภายในของแต่ละสายการบิน และปริมาณที่นั่งที่ลดลง หมายถึงจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวที่จะลดลงตามไปด้วย 

ททท. สำนักงานลอนดอน จึงได้มุ่งเน้นการทำการตลาดร่วมกับบริษัทนำเที่ยวในพื้นที่ เสนอขายแพ็กเกจท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายในรูปแบบ Multicity Packages เพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยยาวนานขึ้น หรือพำนักนานขึ้น (Longer Stay) 

ตลอดจนส่งเสริมการขายการท่องเที่ยวในรูปแบบ Value Added Activities/Services เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในการทำกิจกรรมท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

เงินเฟ้อแรงงานขาด ยังน่ากังวล

นางสาวสดุดีกล่าวว่า นอกเหนือจากปัญหาเรื่อง Seating Capacity ที่ลดลงแล้ว สหราชอาณาจักรยังต้องเผชิญปัญหาอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ได้แก่

1.ปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง โดยเฉพาะค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเมื่อมาประกอบกับความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน จึงส่งผลให้ราคาบัตรโดยสารเครื่องบินทะยานสูงขึ้น 

เป็นสาเหตุให้นักท่องเที่ยวชะลอการตัดสินใจเดินทาง เนื่องจากต้องระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอย นักท่องเที่ยวบางกลุ่มอาจเลือกที่จะเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางระยะใกล้ (Short Haul Destination) แทนประเทศไทย เพื่อลดค่าใช้จ่าย และควบคุมค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน

และ 2.ปัญหาการจัดการภายในของท่าอากาศยานลอนดอนฮีโทรว์ ซึ่งมีจำนวนพนักงานไม่เพียงพอต่อการให้บริการนักท่องเที่ยวในแต่ละวัน ท่าอากาศยาน บางสายการบินยกเลิกเที่ยวบิน และจำกัดหรือหยุดการขายบัตรโดยสารเครื่องบินในช่วงเดือนกรกฎาคมสิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดฤดูร้อนที่มีการเดินทางค่อนข้างมาก 

ทั้งนี้ หากปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจจะส่งผลกระทบไปถึงช่วงฤดูหนาว ซึ่งนับเป็นช่วง Peak Season สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศไทยอีกด้วย

เปิดแผนดึงนักท่องเที่ยว UK เข้าไทย

นางสาวสดุดีกล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2565 ททท. สำนักงานลอนดอน จะยังคงมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับบริษัทนำเที่ยวในพื้นที่ ทั้งบริษัทนำเที่ยวแบบดั้งเดิม (Tour Operator/Travel Agent) และบริษัทนำเที่ยวประเภทออนไลน์ (Online Travel Agent : OTA) 

โดยจะเน้นการทำกิจกรรม Joint Marketing ส่งเสริมการขายท่องเที่ยวไทย ทั้งแบบสำรองการเดินทางล่วงหน้าและแบบการสำรองนาทีสุดท้าย (Last Minute) พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความคุ้มค่า หรือ Value for Money Holiday Destination เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความอ่อนไหวทางการเงิน

นอกจากนี้ ททท. สำนักงานลอนดอน จะดำเนินการจัดกิจกรรม Joint Marketing หรือ Partner on Demand ร่วมกับสายการบินต่าง ๆ ทั้งประเภทบินตรง และประเภท Indirect Fight-Code Share หรือแวะเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศอื่น เพื่อกระตุ้นยอดขาย/เพิ่มปริมาณการออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศไทย 

รวมไปถึงสายการบินประเภท Charter Flight ซึ่งได้แก่ บริษัท TUI UK ซึ่งจะให้บริการเที่ยวบินตรงจากท่าอากาศยานลอนดอนแกตวิก (London Gatwick) และจากท่าอากาศยานเมืองแมนเชสเตอร์ (Manchester) ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยจะเริ่มให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2565 ไปจนถึงกลางเดือนเมษายน 2566