ตามรอยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก่อนใครๆ เหมารวมเรียกว่า “มาม่า”

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เราๆ นิยมฉีกซองเติมน้ำร้อนกินกันตอนใกล้สิ้นเดือน มีต้นกำเนิดมาจากแดนอาทิตย์อุทัย เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงนั้นเศรษฐกิจทั้งโลกฝืดเคืองยกเว้นพี่เบิ้มสหรัฐอเมริกา ที่ไม่โดนผลกระทบจากสงครามโลกมากนัก เพราะแผ่นดินพญาอินทรีย์ไม่ต้องซ่อมแซมบ้านเรือนช่วงหลังสงคราม

เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ที่เผชิญภาวะข้าวยากหมากแพง นอกจากต้องซ่อมแซมบ้านเรือนยังต้องตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นแนะนำให้ชาวญี่ปุ่นกินขนมปังทำจากข้าวสาลี ที่สหรัฐอเมริกาให้ ด้วยเลือดรักชาติ  “อันโด โมโมฟุกุ” คิดว่าทำไมคนญี่ปุ่นต้องกินขนมปังตามก้นสหรัฐฯ ทั้งที่คนญี่ปุ่นชอบกิน “ราเมน” เขาจึงคิดทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นมา และต่อมา “อันโด” กลายเป็นผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มบริษัทนิสชิน

นี่คือจุดเริ่มต้นของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แล้วเจ้าบะหมี่แห้งในซองก็ขยายวงไปทั่วโลก ต่อมา “อันโด” ได้ผลิตบะหมี่ในถ้วยโฟมออกวางขาย ในฃื่อที่คนไทยค่อนข้างคุ้นหูคือ “นิสชินคัพนู้ดเดิ้ล”

แต่เส้นทางบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเมืองไทย ที่ใครๆ ก็เรียกปนกันหมดว่า “มาม่า” นั้น เจ้าแรกที่บุกตลาดเมืองไทย ไม่ใช่ “มาม่า” ของเครือสหพัฒนพิบูล ที่ชิงส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่ง หากเป็นบะหมี่ยี่ห้อ “ซันวา” ซึ่งเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในแบบโคลนนิ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของญี่ปุ่นที่เวลานั้นบูมไปทั่วโลก โดยต้องฉีกซองต้มก่อนกิน

เป็นเวลาเดียวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสายไต้หวันที่เพียงแค่ “ฉีกซอง” แล้วเติมน้ำร้อนทิ้งไว้ 3 นาทีก็กินได้เริ่มแพร่หลาย แล้ว “ยำยำ” ก็กำเนิดขึ้น โดยเริ่มผลิตครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2514  ตามมาด้วย “ไวไว” ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2515 และ “มาม่า” ตามมาเป็นอันดับ 4 ขณะนั้น ถือเป็น 4 ก๊กแห่งวงการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

แต่ความที่เกิดทีหลังเพื่อน และชื่อ “มาม่า” ก็ไม่ติดหูของคนไทย เพราะไม่ใช่ชื่อ “ยำยำ” หรือ “ไวไว” ที่เป็นศัพท์ไทยจ๋า ทำให้ยุคแรกของมาม่าขายไม่ดีเท่าไหร่ มาม่าจึงปรับกลยุทธ์ ทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับ มี “ซุปไก่และหมูสับ” นำรสชาติ ตามมาด้วย “ต้มยำกุ้ง” ผสานกับกลยุทธ์ “แจกทอง” ในช่วง 3 ทศวรรษหลัง ทำให้มาม่ากลายเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งในวงการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีภาพรวมตลาดมูลค่า 14,500 ล้านบาท ที่สำคัญยังกลายเป็น “ดัชนี” วัดเศรษฐกิจได้อีกด้วย