เส้นทางนางสาวไทย จากยุคฉลองรัฐธรรมนูญ 2477 ถึงยุค TPN 2565

ย้อนเส้นทาง เรื่องราวนางสาวไทย เวทีการประกวดนางงามที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย จากนางสาวสยามยุคฉลองรัฐธรรมนูญ 2477 ถึงยุค TPN Global 2565

นางสาวไทย ประจำปี 2565 ภายใต้การบริหารงานของ TPN Global และ สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในธีมงานว่า “Revival of the Original” กำเนิดใหม่ไปด้วยกัน ได้ผู้ดำรงตำแหน่งแล้ว คือ “มานิตา ดวงคำ ฟาร์เมอร์” ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน สาวผู้คว้ามงกุฎ “อิสตรีวิจิตรา” (The Adamas) และเป็นนางสาวไทยคนที่ 53 รวมถึงเป็นทูตท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ในค่ำคืนวันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ผ่านมา 

“มานิตา ดวงคำ ฟาร์เมอร์” สาวลูกครึ่งไทย-อเมริกัน มีชื่อเล่นว่า นิต้า เธออายุ 25 ปี เกิดและโตที่จังหวัดภูเก็ต จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะคอมมูนิเคชันอาร์ต เกียรนิยมอันดับ 1

ปัจจุบันเป็นเซลส์แมเนเจอร์ และเป็นครูอาสา ในตำแหน่งวิทยากรพิเศษส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ณ โรงเรียนวัดบางไผ่นารถ อ.บางเลน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่ขาดแคลน

การคว้าตำแหน่งครั้งนี้ของเธอในยุคการจัดงานของ TPN Global ถือว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่บนเวทีนางสาวไทย เนื่องด้วยเธอเป็นสาวลูกครึ่งคนแรกที่เป็นผู้ชนะ และได้ดำรงตำแหน่งครั้งนี้

มานิตาระบุถึงการเป็นลูกครึ่งว่า “ไม่ว่าจะเป็นคนประเทศไหน ๆ ก็ตาม ต้าว่าเรานับจากการที่เราถูกหล่อหลอมจากวัฒนธรรมแบบไหนมากกว่าเชื้อชาติ อย่างใบหน้าต้า ต้าไม่มีสิทธิเลือก ฉะนั้นเวลาที่คนเห็นหน้าตาต้า ก็จะไม่พูดไทยด้วย นิต้าก็จะบอกกับเขาว่า คนไทยนะคะ พูดไทยได้นะคะ จะบอกทันทีเลยว่าเป็นคนไทย”

จากนางสาวสยาม ยุคฉลองรัฐธรรมนุญ สู่นางสาวไทย ยุค TPN

ย้อนกลับไป เวทีการประกวดนางสาวไทย เป็นเวทีที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ ยาวนานกว่า 88 ปี ​มีสาวงามผู้ได้ตำแหน่งทั้งสิ้น 53 คน จัดขึ้นครั้งแรก ในวันที่ 10 ธันวาคม 2477 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยใช้ชื่อว่า “นางสาวสยาม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ​

ที่รัฐบาลมีความประสงค์ที่จะช่วยส่งเสริมนโยบายการสร้างชาติและพัฒนาสตรี รวมถึงเป็นกิจกรรมจูงใจให้คนมาเที่ยวงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ​ ภายในพระราชอุทยานสราญรมย์ โดยมี “กันยา เทียนสว่าง” เป็นนางสาวสยามคนแรก

นางสาวสยาม จัดขึ้นถึงปี 2482 มีผู้ได้รับตำแหน่งทั้งสิ้น 5 คน จึงเปลี่ยนเป็นนางสาวไทย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2482 ก่อนการประกวดนางสาวสยามครั้งที่ 6 เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” มาเป็น “ไทย”

นางสาวไทย ซึ่งจัดขึ้น 2 ปีแรก หลังการเปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทย ได้ผู้ดำรงตำแหน่งคือ เรียม เพศยนาวิน นางสาวไทยประจำปี 2482 และนางสาวไทยประจำปี 2483 คือ สว่างจิตต์ คฤหานนท์ อันมีเหตุต้องจำเป็นงดจัดประกวด

เนื่องจากในปี 2484 ขณะที่รัฐบาลกำลังเตรียมจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญอยู่นั้น ซึ่งมีกำหนดการมีการประกวดในวันที่ 8 ธันวาคม ในเช้าตรู่ของวันเดียวกันนั้น เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก งานฉลองรัฐธรรมนูญในปีนั้นจึงถูกยกเลิกทันที และไม่มีการจัดประกวดนางสาวไทยด้วย

เมื่อสงครามจบ ไทยบอบช้ำอย่างมาก ต้องใช้ระยะเวลาฟื้นฟูอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อบ้านเมืองเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ในปี 2491 รัฐบาลได้มีมติให้จัดการประกวดนางสาวไทยขึ้นอีกครั้งและยังเป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ หลังจากว่างเว้นการประกวดนางสาวไทยมาถึง 8 ปี

นางสาวไทยกลับมาจัดอีกครั้งในปี 2491 ได้ผู้ดำรงตำแหน่งคือ ลัดดา สุวรรณสุภา ในปีถัดมาการประกวดต้องงดจัดการประกวดอีกครั้ง เนื่องด้วย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกคำสั่งยกเลิกการประกวดนางสาวไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

งดจัดประกวดนาน 8 ปี เพราะมีรัฐประหาร

หลังจากงดจัดการประกวดไปในปีก่อน นางสาวไทยกลับมาจัดอีกครั้งในปี 2493 – 2497 และมีเหตุให้ต้องงดจัดการประกวดอีกครั้ง ยาวนาวกว่า 8 ปี (2498–2506) เนื่องจากเกิดการรัฐประหารในประเทศไทย

อีกทั้งในปี 2501 ขณะจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกเลิกงานฉลองรัฐธรรมนูญที่เป็นมหกรรมไปโดยสิ้นเชิง คงไว้เพียงงานพระราชพิธีในวันที่ 10 ธันวาคมเท่านั้น การประกวดนางสาวไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานฉลองรัฐธรรมนูญ จึงมีเหตุให้ไม่ได้จัดขึ้นด้วย

ต่อมาปี 2503 สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ทดลองจัดการประกวด “นางงามวชิราวุธ” ขึ้นในงานวชิราวุธานุสรณ์ ซึ่งเป็นงานที่สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดขึ้นโดยมี วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนชาวไทย ได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขณะที่อีกวัตถุประสงค์คือ เพื่อสร้างความบันเทิง แก่ประชาชนผู้มาเที่ยวงาน ส่วนสถานที่จัดงานคือบริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์ จากการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งมีความสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายของการจัดประกวด นางสาวไทย ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยการใช้ตำแหน่งนางสาวไทย เป็นสื่อเผยแพร่ชื่อเสียงให้แก่ประเทศ และใช้รูปแบบของการเข้าร่วมประกวดนางงามระดับชาติ ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2507 คณะกรรมการการจัดงานวชิราวุธานุสรณ์ ได้มีการเปลี่ยนชื่อการประกวดมาเป็นการประกวด “นางสาวไทย ” ซึ่งเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์นางสาวไทย เป็นต้นมา โดยมี “อาภัสรา หงสกุล” เป็นผู้ได้รับตำแหน่งในปีนั้น รวมถึงเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดนางงามจักรวาลด้วย

ขณะที่การจัดประกวดนางสาวไทย ประจำปี 2565 บริษัท ทีพีเอ็น โกลบอล จำกัด (TPN GLOBAL) นำโดย ปุ้ย-ปิยาภรณ์ แสนโกศิก เจ้าแม่จัดการประกวดนางงามในประเทศไทย ได้ร่วมลงนามสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเฟ้นหาสาวไทยที่จะเป็นกระบอกเสียงด้านการศึกษา และทูตวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

ที่ผ่านมา TPN GLOBAL ได้ผ่านการจัดประกวดนางงามในหลายครั้ง ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากแฟนนางงามจากการจัดการประกวดนางงามจักรวาล (Miss Universe 2018) ที่ประเทศไทยได้รับเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2561 และได้รับลิขสิทธิ์จัดการประกวด Miss Universe Thailand ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน นางงามผู้ชนะของ TPN GLOBAL มักจะเป็นผู้ทำผลงานที่ดีบนเวที (State Performanc) เป็นประจักษ์ทั้งการตอบคำถามและรูปร่างหน้าตา

ย้อนทำเนียบนางสาวไทย 48 คน 

  • 2565 มานิตา ดวงคำ ฟาร์เมอร์
  • 2564 งดจัดการประกวด เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19
  • 2563 ณัฐพัชร พงษ์ประพันธ์
  • 2562 สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์
  • 2560–2561 งดจัดการประกวด เนื่องจากไม่สามารถหาผู้จัดรายใหม่ได้
  • 2559 ธนพร ศรีวิราช
  • 2558 งดจัดการประกวด เนื่องจากกองประกวดหมดสัญญากับ อสมท. แล้วไม่สามารถหาผู้จัดรายใหม่ได้
  • 2557 วิลาสินี จันทร์วุฒิวงศ์
  • 2556 อัจฉราภรณ์ กนกนทีสวัสดิ์
  • 2555 ปริศนา กัมพูสิริ
  • 2554 งดจัดการประกวด เนื่องจากเกิดอุทกภัยในประเทศไทย และมีการไว้ทุกข์การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  • 2553 กฤชภร หอมบุญญาศักดิ์
  • 2552 อรวิภา กนกนทีสวัสดิ์
  • 2551 พรรณประภา ยงค์ตระกูล
  • 2550 อังคณา ตรีรัตนาทิพย์
  • 2549 ลลนา ก้องธรนินทร์
  • 2548 งดจัดการประกวด เนื่องจากเกิดเหตุการณ์กบฏไอทีวี
  • 2547 สิรินทร์ยา สัตยาศัย
  • 2546 ชาลิสา บุญครองทรัพย์
  • 2545 ปฏิพร สิทธิพงศ์
  • 2544 สุจิรา อรุณพิพัฒน์
  • 2543 ปนัดดา วงศ์ผู้ดี
  • 2542 อภิสมัย ศรีรังสรรค์
  • 2541 ชลิดา เถาว์ชาลี
  • 2540 สรวงสุดา ลาวัณย์ประเสริฐ
  • 2539 งดจัดการประกวด เนื่องจากงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
  • 2538 ภาวดี วิเชียรรัตน์
  • 2537 อารียา สิริโสภา
  • 2536 ฉัตฑริกา อุบลศิริ
  • 2535 อรอนงค์ ปัญญาวงศ์
  • 2534 จิระประภา เศวตนันทน์
  • 2533 ภัสราภรณ์ ชัยมงคล
  • 2532 ยลดา รองหานาม
  • 2531 ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก
  • 2530 ชุติมา นัยนา
  • 2529 ทวีพร คลังพลอย
  • 2528 ธารทิพย์ พงษ์สุข
  • 2527 สาวิณี ปะการะนัง
  • 2516–2526 งดจัดการประกวด เนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลา วิกฤตการณ์การเมือง
  • 2515 กนกอร บุญมา
  • 2514 นิภาภัทร สุดศิริ
  • 2513 งดจัดการประกวด เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สงครามอินโดจีน
  • 2512 วารุณี แสงศิรินาวิน
  • 2511 แสงเดือน แม้นวงศ์
  • 2510 อภันตรี ประยุทธเสนีย์
  • 2509 ประภัสสร พานิชกุล
  • 2508 จีรนันทน์ เศวตนันทน์
  • 2507 อาภัสรา หงสกุล
  • 2498–2506 งดจัดการประกวด เนื่องจากเกิดการรัฐประหารในประเทศไทย
  • 2497 สุชีลา ศรีสมบูรณ์
  • 2496 อนงค์ อัชชวัฒนา
  • 2495 ประชิตร์ ทองอุไร 
  • 2494 อุษณีย์ ทองเนื้อดี
  • 2493 อัมพร บุรารักษ์
  • 2492 งดจัดการประกวด เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกคำสั่งยกเลิกการประกวดนางสาวไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย
  • 2491 ลัดดา สุวรรณสุภา
  • 2484–2490 งดจัดการประกวด เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2
  • 2483 สว่างจิตต์ คฤหานนท์
  • 2482 เรียม เพศยนาวิน

ทำเนียบนางสาวสยาม 5 คน

  • 2481 พิสมัย โชติวุฒิ
  • 2480 มยุรี วิชัยวัฒนะ
  • 2479 วงเดือน ภูมิรัตน์
  • 2478 วณี เลาหเกียรติ
  • 2477 กันยา เทียนสว่าง

ตลอดระยะเวลากว่า 88 ปี นับตั้งแต่ปี 2477 ถึงปี 2565 นางสาวไทยมีการจัดประกวดมาแล้ว 53 ครั้ง แบ่งเป็น ผู้ได้รับตำแหน่งนางสาวสยาม 5 คน และนางสาวไทย 48 คน

มีนางสาวไทย จำนวน 2 คน ที่เคยรับตำแหน่งนางงามจักรวาล (Miss Universe) ได้แก่ อาภัสรา หงสกุล – ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก มีนางสาวไทย 1 คน เคยรับตำแหน่งรองนางงามจักรวาล คือ จีรนันทน์ เศวตนันทน์

อีกทั้งมีนางสาวไทย 1 คน เคยรับตำแหน่งนางงามนานาชาติ (Miss International) คือ เภสัชกรหญิง สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์