
ครบรอบ 1 เดือนรัสเซียบุกยูเครนเต็มรูปแบบ ชวนสำรวจกันว่ามีสินค้าอะไรที่ได้รับผลกระทบ จากราคาพุ่งเป็นประวัติการณ์
วันที่ 24 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนรุ่งสางของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ชาวยูเครนตื่นมาพบกับปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซีย ซึ่งทางพฤตินัยหมายถึงการประกาศสงคราม
ความแตกตื่นแผ่กระจายไปทั่วโลกในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ไม่ใช่จากเสียงระเบิด แต่เป็นราคาสินค้าที่แพงขึ้นเป็นประวัติการณ์
น้ำมันดิบ
สินค้าตัวแรกที่ได้รับผลทันทีคือ น้ำมันดิบที่พุ่งทะลุ 100 เหรียญต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี
ราคาน้ำมันดิบโลกไม่หยุดสถิติไว้เพียงเท่านั้น ต่อมาอีก 11 วัน ราคาพุ่งทะลุ 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 13 ปี
ทั่วโลกเคยหวั่นว่าราคาน้ำมันดิบจะทะลุ 100 เหรียญ แต่เมื่อเกิดสงคราม กลับต้องผวาราคาน้ำมันดิบจะทะลุ 130 หรือ 150 เหรียญหรือไม่
นั่นเพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐและซาอุดีอาระเบีย ตัวเลขการส่งออกน้ำมันดิบราว 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถูกส่งไปยุโรปมากกว่าครึ่งหนึ่ง
ตลอด 1 เดือน ราคาน้ำมันดิบโลกผันผวนไปมา ขึ้นอยู่กับการคว่ำบาตรรัสเซีย และความคืบหน้าในการเจรจายุติสงคราม แต่ราคาน้ำมันดิบก็ไม่เคยลดต่ำกว่า 100 เหรียญต่อบาร์เรลอีกเลย
เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนสินค้าต่าง ๆ ก็สูงขึ้นตาม ปัญหาราคาน้ำมันจึงกระทบกับค่าครองชีพของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ
ค่าไฟ
ยิ่งไปกว่านั้น ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่พุ่งสูงต่อเนื่อง ยังส่งผลต่อราคาก๊าซธรรมเหลว หรือแอลเอ็นจี เชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าของไทย ทำให้ยอดบิลเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป คนไทยต้องจ่ายค่าไฟ 4 บาทต่อหน่วย สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ทองคำ
“ทองคำ” เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ราคาขึ้นตามน้ำมันไปติด ๆ เพราะนักลงทุนพากันโยกย้ายเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยงประเภทต่าง ๆ เข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย
แม้ราคาทองจะไม่พุ่งสูงสุดเหมือนเมื่อปี 2563 แต่ราคาที่ทะลุบาทละ 30,000 กว่าบาท เป็นแรงจูงใจมากพอให้ประชาชนและนักลงทุนแห่นำทองออกมาขาย
นายกสมาคมค้าทองคำมองว่า ถ้าสถานการณ์รุนแรงขึ้น ราคาทองอาจสูงขึ้นอีก มีโอกาสไปถึง 35,000 บาท แต่หากเจรจายุติกันได้ ราคาทองก็คงจะตกลงมา
โลหะ
นอกจากจะเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก รัสเซียยังเป็นผู้ผลิตโลหะที่สำคัญอย่างนิกเกิล, อะลูมิเนียม และพาราเดียม ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และอัญมณี วิกฤตที่เกิดขึ้นจึงทำให้ราคาโลหะเหล่านี้พุ่งสูง
ปุ๋ย-ข้าวสาลี
เช่นเดียวกับโพแทช ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตปุ๋ย ที่รัสเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่
ส่วนยูเครน ซึ่งเปรียบเหมือนตะกร้าขนมปังของโลก มีการปลูกข้าวสาลีเพื่อส่งออก เช่นเดียวกับรัสเซีย วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ราคาแป้งสาลีพุ่งสูงขึ้น ปัญหาการส่งออกข้าวสาลีของยูเครน ยังส่งผลให้ราคาอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นในรอบ 10 ปี
เมื่อไม่สามารถหาวัตถุดิบมาผลิตอาหารสัตว์ได้ หรือแม้จะหามาผลิตได้แต่ก็ต้องขายในราคาขาดทุน ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยหลายแห่งจึงจำเป็นต้องทยอยลดกำลังการผลิต และปิดไลน์การผลิตอาหารสัตว์ลงบางส่วน
ทั้งหมดนี้คือราคาที่ทั่วโลกต้องร่วมกันจ่าย จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งดำเนินมาครบ 1 เดือน และยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร