เงินเฟ้อสะเทือน “เชนฟาสต์ฟู้ด” พฤติกรรมลูกค้าอเมริกันเปลี่ยนแรง

เชนฟาสต์ฟู้ด

สถานการณ์เงินเฟ้อใน “สหรัฐอเมริกา” ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคต้องวางแผนและระมัดระวังการจับจ่าย นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งสำคัญที่ส่งผลกระทบไปยังภาคธุรกิจต่าง ๆ รวมถึง “เชนร้านอาหาร” ต่อท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ผลกระทบจากเงินเฟ้อสูง ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคชาวอเมริกัน โดยในไตรมาส 2/2022 ธุรกิจร้านอาหารหลายแห่งรายงานว่า นอกจากจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการลดน้อยลงแล้ว ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมักเลือกรายการอาหารที่มีราคาถูกลงด้วย

อาทิ “แมคโดนัลด์” เชนฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ เปิดเผยว่า ยอดขายในหลายสาขาลดลง เนื่องจากลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหลีกเลี่ยงการรับประทาน อาหารนอกบ้าน หรือหากรับประทานก็มักเลือกเมนูที่มีราคาถูก ทำให้อาหารมื้อใหญ่แบบคอมโบเซตที่มีราคาสูงมียอดขายลดลง

ส่วนหนึ่งมาจากการปรับขึ้นราคาอาหาร เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า “เควิน โอซาน” ซีเอฟโอของแมคโดนัลด์ เปิดเผยว่า “เรามีการทยอยปรับขึ้นราคาเล็กน้อยแต่บ่อยครั้งขึ้น เพื่อดูปฏิกิริยาของผู้บริโภค” นอกจากนี้ ยังมีการออกเมนูอาหารใหม่ ๆ ที่มีราคาถูกลง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า

เช่นเดียวกับ “ชิโพทเล เม็กซิกัน กริลล์” เชนร้านอาหารฟาสต์ แคชวลอเมริกัน ระบุว่า จำนวนผู้บริโภคมาทานอาหารที่ร้านลดลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี ปัจจุบันมีสัดส่วนไม่ถึง 40% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมดที่เข้ามาใช้บริการที่ร้าน

ข้อมูลบริษัทวิจัยการตลาดสหรัฐ “เดอะ เอ็นพีดี กรุ๊ป” ระบุว่าช่วง มี.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมา ร้านอาหารมีการปรับราคาขึ้นเฉลี่ยราว 7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021 ขณะที่ผู้บริโภคจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี ยอมรับว่ารับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง และราว 6% ที่ระบุว่า งดการรับประทานอาหารที่ร้านฟาสต์ฟู้ดในช่วงเวลานี้

ขณะที่ “เรสเทอรองต์ แบรนด์ส อินเตอร์เนชันแนล” เจ้าของเชนฟาสต์ฟู้ดดังอย่าง เบอร์เกอร์คิง, ทิม ฮอร์ตันส์ และป๊อปอายส์ ระบุว่า แม้ว่าจำนวนลูกค้าจะยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่มีการใช้คูปองหรือคะแนนส่วนลดในสาขาต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม “บลูมิน แบรนด์ส” เจ้าของเชนร้าน “เอาท์แบค สเต็ก เฮ้าส์” เผยว่า ยังคงเห็นการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากบริษัทพยายามรักษาระดับราคาอาหารไว้ โดยไม่ส่งต่อต้นทุนไปยังลูกค้าทั้งหมด ซึ่งในไตรมาส 2/2022 มีการปรับขึ้นราคาอาหารแต่ละเมนูราว 5.8%

ด้าน “โฮวาร์ด ชูลทส์” ซีอีโอของเชนร้านกาแฟยักษ์ใหญ่ “สตาร์บัคส์” ระบุว่า อำนาจในการกำหนดราคาของแบรนด์และความภักดีของลูกค้า ส่งผลให้สตาร์บัคส์ยังคงสามารถรักษาการใช้จ่ายของลูกค้าไว้ได้ และทำให้ยอดขายยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“เดวิด กิบส์” ซีอีโอของ “ยัม! แบรนด์ส” เจ้าของเชนร้านอาหารหลายแบรนด์ระบุว่า สถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อยอดขายแตกต่างกัน โดยในไตรมาส 2/2022 บางแบรนด์มียอดขายลดลงอย่าง เคเอฟซี และพิซซ่าฮัท ขณะที่ทาโก้ เบลล์ มียอดขายสูงขึ้น

มีหลายปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไปจนถึงการกลับสู่วิถีชีวิตปกติหลังโควิด-19 ซึ่งกิบส์ระบุว่า “นี่อาจเป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อนที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมร้านอาหาร ที่ยังคงต้องจับตาดูต่อไป”