เงินเฟ้อสหรัฐ แผ่วลงที่ 8.5% ข่าวดีขาลง หรือแค่พักร้อนชั่วคราว

เงินเฟ้อสหรัฐ
(AP Photo/Marta Lavandier)

หุ้นพากันขึ้นคึกคัก หลังตัวเลข เงินเฟ้อสหรัฐ เดือนก.ค. ลดลงกว่าที่คาดการณ์ แต่นี่เป็นข่าวดีระยะยาวหรือไม่

วันที่ 10 สิงหาคม 2565 เอ็นบีซีนิวส์ รายงานว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวของปีก่อน และลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี เมื่อเดือนมิถุนายนที่พุ่งไปสูงถึง 9.1% เป็นผลมาจากมาตรการผ่อนคลายให้ผู้บริโภค และราคาพลังงานที่ลดลง

ก่อนหน้านี้ วอลล์สตรีต เจอร์นัล สำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ จนได้ตัวเลขประเมินว่า ระดับเงินเฟ้อเดือน ก.ค.น่าจะอยู่ที่ 8.7% เมื่อตัวเลขเงินเฟ้อออกมาลดกว่าที่คาด จึงทำให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีตพากันดีดตัวขานรับถ้วนหน้า สูงขึ้นทันที 2%

Traders work on the floor at the New York Stock Exchange in New York, Wednesday, Aug. 10, 2022. (AP Photo/Seth Wenig)

ส่วนดัชนีผู้บริโภคเดือน ก.ค. เทียบเดือนต่อเดือน ไม่ปรากฏว่ามีราคาเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ราคาเพิ่มขึ้น 1.3%

ด้านปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อคือราคาน้ำมัน ปรากฏว่าเมื่อเดือน ก.ค.ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแรงงานลดลง 7.7%, แต่ราคาก๊าซยังพุ่ง 44% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ซีเอ็นเอ็น รายงานวิเคราะห์ว่า เดือนสิงหาคมเป็นช่วงเวลาพักร้อนสำหรับตลาดหุ้นวอลล์สตรีตอยู่แล้ว เพราะธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ก็อยู่ในช่วงพักร้อน จึงปิดประตูลงกลอนบอกไว้ว่า “ไว้พบกันเดือนกันยายน”

ขณะที่เงินเฟ้อก็เข้าสู่ช่วงพักร้อนเช่นกัน

. (AP Photo/Elise Amendola, File)

จากผลสำรวจการคาดการณ์ผู้บริโภค เมื่อวันจันทร์ที่ 8 ส.ค. พบว่าราคาอาหารและก๊าซปรับตัวลง ผู้ที่ตอบแบบสำรวจธนาคารกลางสาขานิวยอร์ก เมื่อเดือน ก.. พบว่าอัตราเงินเฟ้อคาดหมายจะชะลอตัวลงเป็น 6.2% ในปีหน้า และอีก 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะลดลงเหลือประมาณ 3.2%

จิตวิทยาของผู้บริโภคจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และทำให้ชาวอเมริกันพูดกับตัวเองว่า เงินเฟ้อลดลงแล้ว และเมื่อผู้บริโภคเริ่มเชื่อว่าแรงกดดันด้านราคาข้าวของคลี่คลายลง ก็อาจจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และนั่นจะเป็นตัวกำหนดทิศทางไปในทางบวก

เดวิด เคลลี่ หัวหน้านักยุทธศาสตร์ระดับโลกของ JPMorgan Funds คาดว่าจะเห็นอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้และในปี 2566 แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะรับมือกับสถานการณ์ได้ไม่ค่อยดีนัก

Surging inflation takes a toll on their household budgets. (AP Photo/Marta Lavandier)

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะมองบวกไปเสียหมด

เหล่านักวิเคราะห์สถาบันการลงทุนแบล็กร็อก – BlackRock Investment Institute เผยแพร่บทวิเคราะห์ “ตลาดดูจะคาดการณ์ได้ว่า การหดตัวของเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อยจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวลดลงและเงินเฟ้อลดลง แต่เราไม่คิดว่าการลงจอดอย่างนุ่มนวล (การชะลอตัวของภาวะเงินเฟ้อ) จะเกิดขึ้นได้ในระบบเศรษฐกิจที่วูบวาบ ด้วยข้อจำกัดด้านการผลิต

ธนาคารกลางจำเป็นต้องผลักเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างลึก หากพวกเขาต้องการลบล้างเงินเฟ้อระดับปัจจุบันให้หมดไป ไม่เช่นนั้นต้องเลือกอยู่กับอัตราเงินเฟ้อสูงให้ได้ ซึ่งเราคิดว่าในที่สุดพวกเขาจะทำอย่างหลัง เพียงแต่ยังไม่พร้อมที่จะวนไปยังจุดนั้น”

มิเชล บาวแมน สมาชิกบอร์ดของเฟด กล่าวว่า ไม่คิดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงในเร็ว ๆ นี้ และจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ ส่วน แมรี เดลี ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวเสริมว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยขณะนี้ยังห่างไกลจากจุดสิ้นสุด

Senate Majority Leader Chuck Schumer of N.Y., AP Photo/Evan Vucci)

สำหรับความวุ่นวายทางการเมืองที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจ บรรดา ส.ว.เดโมแครตทำงานกันหามรุ่งหามค่ำในสัปดาห์นี้ เพื่อผ่านร่างกฎหมายด้านเศรษฐกิจ ว่าด้วยบทบัญญัติลดเงินเฟ้อ หรือ Inflation Reduction Act ความหนา 755 หน้า บรรจุงบประมาณ 430,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ต่อสู้ภาวะโลกร้อน เพิ่มภาษีธุรกิจกลุ่มทุน พร้อมลดการขาดดุลงบประมาณ

เหล่านี้เป็นแผนที่ดีสำหรับพรรคเดโมแครตที่ต้องเผชิญกับการเลือกตั้งกลางเทอมในอีกสามเดือนข้างหน้า แต่อาจจะไม่ช่วยบรรเทาเงินเฟ้อในระยะสั้นได้มากนักเพราะกว่าบทบัญญัติของกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ต้องรอถึงปี 2023 (พ.ศ.2566)


…..