สัญญาณนี้ไม่ดีกับโลก-บริษัทเอกชนจีน เกินครึ่ง รายได้หายกำไรหด

China's largest developer Country Garden Holdings reported a record 96 percent on-year drop in its first-half earnings (Photo by AFP) / China OUT

ยังไม่มีข่าวดีจากเศรษฐกิจจีน ซีเอ็นเอ็นรายงานวิเคราะห์ปัจจัยรุมเร้าที่กดรายได้และกำไรของ บริษัทเอกชนจีน

วันที่ 3 กันยายน 2565 ซีเอ็นเอ็น รายงานภาพรวมผลประกอบการ บริษัทเอกชนจีน ครึ่งปีแรก จากการรวบรวมข้อมูลของ Wind และ Choice บริการข้อมูลการเงินหลักของจีน ว่าเป็นสถานการณ์ที่รายได้ถดถอย และกำไรหดหายมากที่สุดครั้งหนึ่ง

นอกจากเผชิญผลกระทบของนโยบายซีโร่โควิด ซ้ำด้วยวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ บริษัทเอกชนจีน ที่จดทะเบียนในเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และปักกิ่ง มากกว่า 4,800 บริษัทมีตัวเลขรายได้ครึ่งปีแรกที่เรียกได้ว่า “นองเลือด”

โรงงานผลิตลำโพงในเมืองฟุหยาง มณฑลอันฮุย ภาคตะวันออกของจีน (Photo by AFP) / China OUT

ในจำนวนนี้ 53% ต่างรายงานผลกำไรสุทธิที่ลดลง แทบจะย่ำแย่เหมือนปี 2020 หรือ พ.ศ. 2563 ที่โควิดระบาดจนเกิดการล็อกดาวน์ทั่วโลก ตอนนั้นบริษัท 54% กำไรหดหายในช่วง 6 เดือนแรก

อีกตัวเลขหนึ่งที่ตอกย้ำว่าสถานการณ์ปีนี้ย่ำแย่กว่า คือรายงานการขาดทุนของจำนวนบริษัทสูงเกือบ 900 แห่ง เมื่อเทียบกับปี 2020 ตอนนั้นมี 780 บริษัทที่ขาดทุน

จีนซึม-กระทบทั่วโลก

ในฐานะที่จีนครองสัดส่วนเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของโลก สถานการณ์รายได้บริษัทดิ่งลงครั้งนี้ย่อมมีผลกระทบไปทั่วโลก เพราะบริษัทจีนคือผู้ซื้อรายใหญ่ ทั้งสินค้า เทคโนโลยี และผลผลิตอื่น ๆ ของตลาดโลก

“เราเริ่มเห็นผลกระทบแล้ว” อลิเซีย การ์เซีย เอร์เรโร หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์เอเชียแปซิฟิก ของธนาคารเพื่อการลงทุน Natixis สัญชาติฝรั่งเศส กล่าว และว่า ราคาน้ำมันและราคาสินค้าพลังงานอื่น ๆ ส่งสัญญาณล่าถอย ส่วนโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เริ่มเห็นใบสั่งสินค้าที่ลดลงแล้ว

People walk past stalls at a car boot fair in Beijing, China August 19, 2022. REUTERS/Tingshu Wang

นักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้เป็นอีกคนที่เห็นคล้ายผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ว่า การควบคุมโควิดอย่างเข้มงวดของจีน และวิกฤตในตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนทำให้ผลประกอบการของบริษัทต่าง ๆ ปักหัวลง

แลร์รี หู นักเศรษฐศาสตร์ของ Macquarie Group มองในทิศทางเดียวกันว่า รายได้ที่ลดลงของ บริษัทเอกชนจีน สะท้อนเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของจีน และถูกลากให้ถอยหลังไปอีกจากภาคอสังหาฯ สถานการณ์โควิดที่แย่ลง และเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่อ่อนแอลง

ล็อกตามด้วยร้อน

ถึงเวลานี้ จีนยังยึดติดกับนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ที่ควบคุมกิจกรรมและการเดินทางของประชาชน ไล่ล็อกดาวน์ตามเมืองต่าง ๆ แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่าก ส่วนการเดินทางเข้าออกประเทศถูกจำกัด

เซี่ยงไฮ้ ฮับการเงินของจีนที่มีประชากร 25 ล้านคน ล็อกดาวน์ไปนาน 2 เดือน จากนั้นเมืองหลักอื่น ๆ ก็ถูกคุมเข้มทั้งผู้อยู่อาศัยและธุรกิจ รวมถึงเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ที่มีประชากร 21 ล้านคน เพิ่งล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 1 ก.ย.

ช่วงเซี่ยงไฮ้ล็อกดาวน์ เดือนเมษายน REUTERS/Aly Song

ไตรมาสสอง จีดีพีจีนขยายตัวเพียง 0.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นตัวเลขที่แผ่วที่สุดนับจากเริ่มต้นปี 2020 บรรดาธนาคารเพื่อการลงทุนต่างตัดลดตัวเลขคาดการณ์การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนเหลือ 3% หรือน้อยกว่านี้

นักวิเคราะห์วิตกด้วยว่า สถานการณ์คลื่นความร้อนที่ทำสถิติจะกระทบต่การผลิดพืชผลทั่วพื้นที่ภาคใต้ เช่นเดียวกับบรรดาโรงงานในหลายมณฑลที่ต้องปิดตัวเพื่อประหยัดไฟฟ้า 

“ไม่ว่ารัฐบาลจีนจะตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายซีโร่โควิดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2023 หรือไม่ เราคาดว่าเศรษฐกิจและตลาดจะเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบาก ทั้งผิดหวังที่เปิดไม่จริง หรือไม่ก็เผชิญกับการติดโควิดที่เพิ่มขึ้น” ผลการวิเคราะห์ของบริษัทโนมูระ รายงานเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ก.ย.

ผู้เสียหายอันดับต้น ๆ

สำหรับบริษัทที่จะสูญเสียมากที่สุดในสถานการณ์นี้ ได้แก้ กลุ่มบริษัทเทคโนโลยี อย่าง อาลีบาบา ผลประกอบการไตรมาสสอง ทำรายได้ใกล้กับปีก่อน หมดยุคเปรี้ยงปร้างที่เคยมีมาหลายปี เช่นเดียวกับ เทนเซนต์ ที่เปิดตัวเลขการขายไตรมาสแรกดิ่งลง 18%

อาลีบาบา ร่วมงาน China International Fair for Trade in Services (CIFTIS) กรุงปักกิ่ง 2 ก.ย. 2022. (AP Photo/Mark Schiefelbein)

ส่วนภาคที่เสียหายไปก่อนแล้ว ได้แก่ ธุรกิจการบิน สายการบินรายใหญ่ที่สุดของจีน 3 บริษัท คือ แอร์ไชน่า, ไชน่า เซาเทิร์น แอร์ไลนส์ และไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลนส์ เปิดตัวเลขขาดทุนรวมกันถึง 7,200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.64 แสนล้านบาทในครึ่งปีแรก

ทั้งหมดกล่าวว่าสาเหตุมาจากการเดินทางที่หยุดชะงักเพื่อคุมโควิด และการอ่อนค่าของเงินหยวนที่ดิ่งลง 9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งค่าเงินมีผลลบต่ออุตสาหกรรมการบินมาก เนื่องจากสายการบินต้องจ่ายเงินนำเข้าเครื่องบินและน้ำมัน ทำให้หนี้ที่อยู่สกุลเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น

ปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม

ด้านผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกกลุ่มที่เผชิญผลประกอบการที่ดิ่งหัวลงมากที่สุด เนื่องจากตลาดบ้านหมุนติ้วลง

ภาคอสังหาฯ ซึ่งครองสัดส่วนในจีดีพีมากถึง 30% เจอรัฐบาลบีบรัดนับตั้งแต่ปี 2020 เพื่อหยุดยั้งการให้สินเชื่อที่ปล่อยปละละเลยในอุตสาหกรรมนี้  ถึงวันนี้ราคาอสังหาฯ จึงดิ่งลงพร้อมกับยอดขายบ้านใหม่ที่ซบเซา

บริษัท คันทรี การ์เดน เป็นเบอร์หนึ่งยังเหนื่อย / REUTERS

วิกฤตที่เข้ามาซ้ำเติมเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือการตอบโต้ของกลุ่มผู้ซื้อบ้านว่าจะไม่จ่ายค่าจำนองบ้าน หากยังผู้ประกอบการยังสร้างบ้านให้ไม่เสร็จ ยิ่งทำให้ตลาดปั่นป่วนจนรัฐต้องเข้าไปจัดการข้อพิพาทเพื่อลดวิกฤตที่อาจบานปลายไปส่วนอื่น

ท่ามกลางสถานการณ์นี้ บริษัท คันทรี การ์เดน อสังหาฯ เบอร์หนึ่งของจีน ที่ทำยอดขายได้สูงสุด เพิ่งแถลงตัวเลขกำไรสุทธิครึ่งปีแรก ว่าดิ่งลงไปถึง 96% ดิ่งสุดนับจากปี 2007

บริษัทให้เหตุผลที่ผลประกอบการออกมาเช่นนี้ ว่าเป็นแรงผลักดันจากปัจจัยภายนอกที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ทั้งโควิดระบาดรอบใหม่ในหลายพื้นที่ของจีน ทั้งสภาพอากาศสุดขั้ว และภาคอสังหาฯ ที่เข้าสู่ช่วงขาลง

….