เตือนภัยวิกฤตค่าเงิน “เยน” ในวันที่ “ทางออก” ถูกจำกัด

วิกฤตค่าเงินเยน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

1 ก.ย.ที่ผ่านมา ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นไหลลง และทรุดตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยหลุดผ่านแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยาที่ 140 เยน มาซื้อขายกันในตลาดยุโรปที่ 140.23 เยนต่อดอลลาร์

หมายความว่า เงิน 1 ดอลลาร์สามารถแลกได้เงินเยนมากกว่า 140 เยน เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1998

ทิศทางของเงินเยน เป็นทิศทางขาลงมาตลอดนับตั้งแต่ต้นปี เดือน มี.ค.อัตราแลกเปลี่ยนเยน/ดอลลาร์ อยู่ที่ 115 เยน แล้วอ่อนค่าต่อเนื่องจนมาทรงตัวอยู่ที่ 139 เยน ในราวกลางเดือนกรกฎาคม

แต่ความผันผวนไม่ได้ยุติลงจริง ๆ จนกระทั่งทำสถิติตกต่ำสุดในรอบ 24 ปีครั้งใหม่ ไม่เพียงก่อให้เกิดความกังวลต่อทางการญี่ปุ่น ที่ติดตามสถานการณ์อยู่อย่างใกล้ชิดเท่านั้น แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากก็เริ่มวิตกมากขึ้น

ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องนั้น หนีไม่พ้นการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ จากการปรับนโยบายของเฟด หรือธนาคารกลางของสหรัฐ ที่หันมาขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็ว เพื่อยับยั้งสถานการณ์เงินเฟ้อภายในประเทศ

ในทางตรงกันข้าม ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ แทบเป็นประเทศเดียวที่ยังยึดนโยบายผ่อนคลายอย่างเหนียวแน่นดอกเบี้ยของญี่ปุ่นในเวลานี้ยังคงแทบเป็น “ศูนย์”

ขณะที่สถานการณ์โลก ตั้งแต่วิกฤตโควิด, สงครามในยูเครน, วิกฤตพลังงาน ทำให้การค้าโลกแทบชะงักงัน ก็ส่งผลต่อดุลการค้าของญี่ปุ่นอย่างมากเพราะส่งออกแทบไม่ได้ ขณะที่ต้องนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในราคาแพงระยับ ก็ส่งผลกระทบต่อค่าเงินเยนตามไปด้วย

ที่สำคัญคือทำให้ “เงินเยน” ไม่ใช่สินทรัพย์ที่ “ปลอดความเสี่ยง” หรือเป็น “เซฟเฮเวน” ของตลาดเงินอีกต่อไป

เทรดเดอร์ในตลาดเชื่อกันว่า ค่าเงินเยนจะอ่อนลงไปอีก บ้างบอกว่ายังคงมองไม่เห็นแนวต้านใหม่ จนกว่าจะไปอยู่ที่ 147 เยน อันเป็นอัตราแลกเปลี่ยนต่ำสุดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1998

นักวิเคราะห์ตลาดเงินของ “เจพี มอร์แกน” เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่เงินเยนจะอ่อนค่าลงมากถึงระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ หากว่านโยบายของเฟดและบีโอเจยังคงอยู่กันคนละขั้วเช่นนี้

ดอกเบี้ยก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างผลตอบแทนของเงินแต่ละสกุล ผู้ค้าเงินย่อมเลือกที่จะเทขายเงินในสกุลที่ให้ผลตอบแทนต่ำ เพื่อนำไปลงทุนในส่วนที่ให้ผลตอบแทนสูงโดยธรรมชาติ

ยิ่งนานาประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามแรงกดดันจากสหรัฐก็ยิ่งส่งผลให้ “เงินเยน” กลายเป็นเงินสกุลเดียวที่ผลตอบแทนเป็น “ศูนย์” และเป็นการเชื้อเชิญให้เกิด “แครีเทรด” เงินเยนกันมากขึ้นกับเงินหลากหลายสกุล กดดันให้เยนอ่อนค่ามากขึ้นตามลำดับ

การที่ค่าเยนอ่อนตัวลง ญี่ปุ่นอาจส่งสินค้าออกได้มากขึ้น ได้เม็ดเงินสูงขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำให้สินค้านำเข้าแพงขึ้นมหาศาล รวมทั้งเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่ญี่ปุ่นต้องนำเข้า 100%

“โนบุยาชิ อาตาโกะ” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ อิจิโยชิ ซีเคียวริตี้ ย้ำว่า การอ่อนค่าของเยนทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นกระทบต่อกำไรของผู้ประกอบการ และส่งผลต่อผู้บริโภคโดยตรง หากยังอ่อนค่าต่อเนื่อง สร้างความลำบากให้กับเศรษฐกิจ จนอาจทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดได้

ทางการญี่ปุ่นก็ยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงค่าเงินอย่างฉับพลันและรุนแรงไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและไม่พึงปรารถนา ปัญหาก็คือญี่ปุ่นมีทางเลือกสำหรับการแก้ปัญหานี้อยู่น้อยมาก

ญี่ปุ่นมีแรงจูงใจให้ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหานี้น้อยมาก เพราะเงินเฟ้อในประเทศไม่สูง และเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังอยู่ในสภาพอ่อนแอ การเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงค่าเงินเยนก็ทำได้จำกัด โดยเฉพาะการที่ไม่ได้รับความเห็นพ้องจากสมาชิกกลุ่มจี 7 ขณะที่สหรัฐยังคงยืนกรานตั้งข้อชิงชังการแทรกแซงค่าเงิน

ประวัติศาสตร์บอกให้เรารู้ว่า การอ่อนค่า ของเงิน “แรง-เร็ว” มักก่อให้เกิดแรงกดดันต่อเงินสกุลนั้น ๆ อย่างต่อเนื่อง และอาจบานปลายลุกลามกลายเป็นวิกฤตของสกุลเงินก็เป็นได้ ตัวอย่างชัด ๆ อย่างกรณีเงินบาทไทยที่ทรุดตัวแล้วลุกลามกลายเป็นวิกฤตค่าเงินกันขนานใหญ่ เพราะเงินไหลออกจากเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 1997

สถานการณ์ของค่าเงินเยนในเวลานี้จึงต้องจับตาเป็นพิเศษจริง ๆ