รัฐบาลทั่วโลกเล็งแบน “เงินดิจิทัล” ทุบราคา “บิตคอยน์” ดิ่งหนัก

หลังจากที่กระแสความตื่นตัวเรื่องสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrencies) โดยเฉพาะ “บิตคอยน์” พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผู้สนใจเข้ามาลงทุนซื้อขายจำนวนมาก แม้ว่าจะยังไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อสกุลเงินดิจิทัล จนทำให้เมื่อปลายปี 2017 ที่ผ่านมา ราคาบิตคอยน์พุ่งสูงขึ้นถึงระดับแตะ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงมากมาย

และแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ราคาสกุลเงินดิจิทัลหลักอย่าง “บิตคอยน์” รวมถึงสกุลเงินดิจิทัลอื่น พากันร่วงลงอย่างหนักกว่า 30% โดยราคาบิตคอยน์ในตลาดซื้อขาย COINDESK วันที่ 17 ม.ค. ร่วงลงต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และกลับมาอยู่ที่ระดับ 10,100-10,900 ดอลลาร์สหรัฐ แน่นอนว่าคริปโตเคอร์เรนซีสกุลอื่น ๆ ก็อยู่ในสถานการณ์ไม่แตกต่างกัน

นักลงทุนทั่วโลกต่างอกสั่นขวัญแขวน สถานการณ์ราคาสกุลเงินดิจิทัลตกต่ำแบบฉับพลันนี้ สะท้อนถึงไม่เชื่อมั่นของตลาดซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล หลังจากที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกกำลังเดินหน้าหามาตรการสกัดกั้นหรือควบคุมการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ประเทศที่มีตลาดเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการควบคุมการเงินของเกาหลีใต้ได้ประกาศห้ามระดมทุนด้วยสกุลเงินดิจิทัล (ICO : initial coin offering) และล่าสุดนายปัก ซาง-กี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ ระบุว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างร่างกฎหมายจัดระเบียบสกุลเงินดิจิทัล และอาจถึงขั้นแบนการซื้อขาย เนื่องจากมองว่ามีความเสี่ยงสูง และการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลขณะนี้มีความคล้ายคลึงการพนัน

ขณะที่ทางการจีน ซึ่งมีการควบคุมและสอดส่องสกุลเงินดิจิทัลอย่างเข้มงวด เมื่อต้นสัปดาห์ ธนาคารกลางจีนได้ออกแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรว่า เตรียมแบนการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงิน

ดิจิทัลต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์กลางซื้อขาย หรือเว็บไซต์เทรดต่าง ๆ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ออกกฎห้ามการระดมทุนด้วยสกุลเงินดิจิทัล หรือ ICO รวมทั้งการเพิ่มมาตรการจำกัดการขุดบิตคอยน์ในจีน เนื่องจากมองว่าสกุลเงินดิจิทัลเป็นต้นตอของความเสี่ยงในระบบการเงิน

ขณะที่สหรัฐอเมริกา ประธานคณะกรรมาธิการควบคุมการซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ของสหรัฐ หรือ ก.ล.ต. ได้ออกแถลงการณ์เตือนถึงความแพร่หลายของตลาดเงินดิจิทัลว่า นำมาซึ่งความเสี่ยง และวุฒิสภาของสหรัฐเล็งจัดประชุมร่วมกับ ก.ล.ต.และหน่วยกำกับตลาดซื้อขายตราสารอนุพันธ์ล่วงหน้า เพื่อคุยเบื้องต้นถึงกรอบการกำกับสกุลเงินดิจิทัล

“ชัก โจนส์” คอลัมนิสต์ด้านเทคโนโลยีของ “ฟอร์บส” ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเขียนบทวิเคราะห์ถึงโอกาสที่จะทำให้บิตคอยน์จะมีราคาสูงกว่า 1 แสนเหรียญสหรัฐ ได้เขียนบทวิเคราะห์ถึงมูลค่าที่ดิ่งลงของบิตคอยน์ในครั้งนี้ โดยระบุว่าราคาบิตคอยน์อาจตกลงเหลือไม่ถึง 1,000 เหรียญสหรัฐ และเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาลดฮวบลงเช่นนี้ เกิดจากที่รัฐบาลหลายประเทศเริ่มพาเหรดออกมากำกับดูแลการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลอย่างจริงจัง เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศมองว่า บิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ กลายเป็นช่องทางการฟอกเงิน ขณะเดียวกันการซื้อขายบิตคอยน์ก็เริ่มเป็นวงกว้างจนควบคุมไม่ได้

อย่างไรก็ตาม โจนส์ไม่ได้มองแค่ปัจจัยจากมาตรการของรัฐบาลเท่านั้น เขาระบุว่ายังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ราคาบิตคอยน์ผันผวนสูง เช่น ในปี 2014 ที่เว็บ “Mt.Gox” ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเว็บซื้อขายบิตคอยน์กว่า 70% ของทั่วโลก ถูกมือดีแฮกเข้าระบบขโมยบิตคอยน์ไปกว่า 850,000 เหรียญ คิดเป็นมูลค่าในเวลานั้นกว่า 450 ล้านเหรียญสหรัฐ

หรือเมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา “Youbit” เว็บเทรดบิตคอยน์ของเกาหลีใต้ก็ถูกแฮกเช่นกัน และถูกขโมยไปเกือบ 40,000 บิตคอยน์ หรือราว 17% จากสินทรัพย์ทั้งหมด มูลค่ากว่า 48 ล้านเหรียญสหรัฐ สั่นสะเทือนความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของนักลงทุนทั่วโลก นี่จึงเป็นอีกปัจจัยที่เขย่าความเชื่อมั่นนักลงทุน

ทั้งยังมีนักลงทุนบิตคอยน์บางรายมองว่า หากมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ จากรัฐบาล จะทำให้สกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ มีโอกาสได้รับการลงทุนเพิ่มขึ้น ก็จะกดดันให้มูลค่าบิตคอยน์ในอนาคตลดลงด้วย ซึ่งปัจจุบันในเว็บ coinmarketcap.com มีสกุลเงินดิจิทัลมากถึง 1,450 สกุล ซึ่งกว่าครึ่งมีมาร์เก็ตแคปไม่ถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ

หรือการที่ third party ถอนตัวจากสมรภูมิบิตคอยน์ก็สร้างความผันผวนต่อราคาเช่นกัน หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นชัดคือในเดือนมกราคมนี้ บัตรเครดิตบิตคอยน์ 5 เจ้า ได้ยกเลิกการใช้งานทั้งหมด หลังจากกลุ่มวีซ่าของยุโรปสั่งปิดบริการ

จึงมาสู่บทสรุปที่ว่า “ความเชื่อมั่นของนักลงทุน” คือเรื่องที่สำคัญยิ่ง ระบบการเงินโลกยึดโยงอยู่บน 3 เสาหลัก คือ นักลงทุน ผู้ประกอบการ และรัฐบาล หากเสาใดเสาหนึ่งสั่นคลอน ก็ส่งผลต่อเสาอื่น ๆ ความเชื่อมั่นที่สั่นคลอนของบิตคอยน์อาจจะเริ่มต้นจากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล จากนั้นจึงกลายเป็นอุปทานหมู่ เมื่อกลุ่มนักลงทุนเริ่มแสดงความไม่เชื่อมั่นต่อสกุลเงินบิตคอยน์ และเมื่อลดการเทรดลงเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม บิตคอยน์ และสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ ไม่ถือว่าเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และที่สำคัญการลงทุนเงินดิจิทัลจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ขณะที่ยังไม่มีกลไกกำกับตรวจสอบตลาดบิตคอยน์ ทำให้รัฐบาลหลายประเทศมองว่า ตลาดซื้อขายบิตคอยน์จึงเป็นเสมือนบ่อนการพนัน