สหรัฐจ่อ “มหาอำนาจ” น้ำมัน พลิกโฉมตลาดพลังงานครั้งใหญ่

อเมริกาได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก ซึ่งที่ผ่านมาหลายสิบปีต้องพึ่งพาการซื้อน้ำมันจากนอกประเทศมาก อย่างไรก็ตาม ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีการขุดน้ำมันแบบใหม่ที่ช่วยให้สามารถขุดน้ำมันจากชั้นหินดินดานหรือ “เชลออยล์” มาใช้ได้ ส่งผลให้ตลาดน้ำมันและก๊าซในสหรัฐอเมริกาค่อนข้างบูมเพราะมีแหล่งสำรองน้ำมันชนิดนี้อยู่มาก มีผู้ประกอบการขุดเจาะเชลออยล์เกิดขึ้นมากเช่นกัน ซึ่งจุดนี้นำไปสู่แนวโน้มใหม่ในสายตาของนักวิเคราะห์ด้านน้ำมันว่า อีกไม่นานสหรัฐไม่เพียงจะเป็นมหาอำนาจด้านการทหารและเศรษฐกิจ แต่จะเป็นมหาอำนาจด้านพลังงานด้วย

“มาร์ติน แฟรนเคล” ประธานเอสแอนด์พี โกลบอล แพลตส์ เชื่อว่า ปัจจุบันสหรัฐอยู่ในสถานะที่พร้อมจะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านพลังงานโลก เช่นเดียวกับซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย ขณะนี้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดกำลังเกิดขึ้นแล้ว เราคาดว่าภายในปลายทศวรรษ 2020 สหรัฐจะเป็น 1 ใน 10 ของผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สหรัฐจะกลายเป็นผู้ส่งออกมากกว่านำเข้า เมื่อถึงตอนนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตลาดพลังงาน และยังเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย ช่วยให้สหรัฐลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากตะวันออกกลางที่มีปัญหาปั่นป่วนอยู่เนือง ๆ

ก่อนหน้านี้องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ได้คาดการณ์ไว้เช่นกันว่า ภายใน 10 ปีอเมริกาจะกลายเป็นผู้ส่งออกสุทธิน้ำมัน โดยจากนี้ไปจนถึงปี 2025 ผลผลิตน้ำมันของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ โดยน่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ซาอุดีอาระเบียผลิตในช่วงทศวรรษ 1960-1970 นอกจากนี้ผลผลิตก๊าซธรรมชาติของสหรัฐจะมีอัตราการเพิ่มสูงกว่าผลผลิตของรัสเซียในช่วงที่รัสเซียขุดก๊าซได้จากแหล่งไซบีเรีย

ส่วนในแง่การ “ส่งออกก๊าซธรรมชาติ” คาดว่าสหรัฐจะแซงกาตาร์ขึ้นเป็นผู้ส่งออกก๊าซแอลเอ็นจีรายใหญ่สุดในโลกภายในปี 2020 โดยคาดว่าเอเชียจะเป็นตลาดที่ต้องการบริโภคก๊าซมาก เชื่อว่า 70% ของแอลเอ็นจีที่ส่งออกทั่วโลกจะส่งขายให้กับเอเชีย

นับตั้งแต่สหรัฐสามารถขุดเจาะเชลออยล์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดต่ำลง สั่นสะเทือนเจ้าตลาดผู้ทรงอิทธิพลเดิมอย่างกลุ่มโอเปกซึ่งพยายามประคองราคาด้วยการลดกำลังการผลิต แต่เมื่อใดก็ตามที่ผลจากการลดกำลังผลิตนั้นมีผลดันราคาให้สูงขึ้น สหรัฐก็มักจะฉวยโอกาสผลิตเชลออยล์ออกมาอย่างรวดเร็ว กดดันให้ราคาต่ำลงไปอีก จึงดูเหมือนว่าศึกครั้งนี้ยังไม่เห็นทางยุติง่าย ๆ เพราะฝ่ายหนึ่งคือโอเปกต้องการทำให้อุปทานและอุปสงค์น้ำมันสมดุลกัน เพื่อสร้างเสถียรภาพราคา แต่สหรัฐกลายเป็นตัวคอยทำลายเสถียรภาพราคา

โกลด์แมน แซกส์ ได้ปรับเพิ่มประมาณการราคาน้ำมันปีนี้เป็น 62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลโดยเฉลี่ยสำหรับน้ำมันดิบเบรนต์ และ 57.50 ดอลลาร์สำหรับน้ำมันดิบ WTI จากเดิม 58 และ 55 ดอลลาร์ตามลำดับ เพราะเชื่อว่าการลดกำลังผลิตของโอเปกจะช่วยหนุนราคาเอาไว้ได้ตลอดปี แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนแย้งว่า การขยับขึ้นของราคาน้ำมันในช่วงนี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น

จากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น นอกจากนี้ผลผลิตน้ำมันจากสหรัฐที่เพิ่มขึ้นก็จะกดราคาลงไปเช่นเดิม ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะกลับลงไปแตะ 50 ดอลลาร์ภายในสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ และไม่น่าแปลกใจหากจะลงไปถึง 45 ดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของรัฐมนตรีน้ำมันของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เชื่อว่าปีนี้ตลาดน้ำมันจะเกิดความสมดุลอย่างเต็มที่ เพราะขณะนี้เห็นบรรยากาศทางบวกของตลาด ตลาดกำลังปรับสมดุล ประเด็นอยู่เพียงแค่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และใช้เวลานานเท่าใด แต่ยอมรับว่าในระหว่างทางก็อาจมีการปรับฐานบ้าง แต่ไม่ว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับใด สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนแล้วจากการถือกำเนิดของเชลออยล์ก็คือ โอเปกที่เคยผูกขาดตลาดไม่สามารถควบคุมราคาน้ำมันตลาดโลกอีกต่อไป