อีก22ปีได้เห็น! นอร์เวย์ตั้งเป้าใช้”เครื่องบินไฟฟ้า”บินระยะสั้นในประเทศทุกเที่ยวบิน ลดปล่อยคาร์บอนฯ

แฟ้มภาพ

อย่างที่หลายคนรู้กันดีว่าทุกครั้งที่เครื่องบินบินขึ้นสู่ท้องฟ้า สิ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาด้วยก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของเรานั่นเอง โดยการเดินทางด้วยเครื่องบินนั้นปล่อยคาร์บอนออกมา 2 ใน 3 ของคาร์บอนทั้งหมด ซึ่งคาดว่าปริมาณดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทศวรรษหน้า เนื่องจากความต้องการใช้เชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแนะนำวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ก็คือ การหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยเครื่องบินนั่นเอง

แต่ประเทศนอร์เวย์มีวิธีการแก้ปัญหารูปแบบอื่น โดย แด็ก ฟอล์ก-ปีเตอร์สัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารผู้ประกอบการสนามบินนอร์เวย์ Avinor ได้ประกาศเป้าหมายใหม่ที่จะผลักดันให้ใช้ “เครื่องบินไฟฟ้า” ในเที่ยวบินระยะสั้นในประเทศทุกเที่ยวบิน ภายในปี 2040 หรืออีก 22 ปีข้างหน้า

โดยปัจจุบันนอร์เวย์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก จากเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะเป็นผู้นำของโลกในการผลักดันประเทศออกจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเป้าหมายล่าสุดที่หวังว่าจะลดการปล่อยมลพิษจากการเดินทางทางอากาศให้ได้ ซึ่งหากนอร์เวย์สามารถใช้เครื่องบินไฟฟ้าในเที่ยวบินระยะสั้นทุกเที่ยวบินได้สำเร็จ ก็จะเป็นประเทศแรกในโลกที่สามารถทำได้เลยทีเดียว

“เราคิดว่าทุกเที่ยวบินที่ใช้เวลาบินไม่เกิน 1.5 ชั่วโมง สามารถบินได้ด้วยเครื่องบินไฟฟ้าทั้งหมด” ฟอล์ก-ปีเตอร์สัน กล่าวกับเดอะ การ์เดียน และว่า และเมื่อเราไปถึงเป้าหมายนั้น การเดินทางด้วยเครื่องบินจะไม่เป็นปัญหาสำหรับสภาพอากาศอีกต่อไป นี่คือทางออก

เดอะ การ์เดียน รายงานว่า ปัจจุบันการเดินทางทางอากาศนั้นปล่อยมลพิษคิดเป็น 2.4% ของมลพิษที่เกิดจากการจราจรในประเทศ โดยเครื่องบินนั้นจะผลิตคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 53 ปอนด์/ไมล์

ขณะที่เทคโนโลยีแบตเตอรี่ในปัจจุบันยังไม่สามารถทดแทนเชื้อเพลิงได้ทั้งหมด อีกทั้งแบตเตอรี่ยังมีความหนาแน่นของพลังงานที่ไม่เท่ากัน และเครื่องบินไฟฟ้าก็จำเป็นต้องใช้เวลาในการชาร์จแบตฯมากกว่าเครื่องบินปกติเติมน้ำมัน ด้วยเหตุผลนี้ทำให้หลายสายการบินพัฒนาเครื่องบินไฮบริดสำหรับเที่ยวบินระยะยาวแทน

ด้าน ฌอน คลาร์ก นักวิทยาศาสตร์จากนาซา กล่าวกับ Ars Technica ว่า การปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่และมาตรการที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยเพิ่มระยะทางของเครื่องบินไฟฟ้าได้มากขึ้น

“ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าอาจเข้ามาอยู่ในตลาดเร็วกว่าที่หลายคนคาด เนื่องจากเป็นระบบที่สามารถมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อีก” คลาร์กกล่าว

พร้อมกันนี้ Avinor ยังวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีไฮบริดและเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อช่วยเปลี่ยนให้เที่ยวบินระยะสั้นของนอร์เวย์มีคาร์บอนเป็นศูนย์ นอกจากควบคุมการปล่อยมลพิษแล้ว นอร์เวย์ยังพยายามที่จะลดมลพิษทางเสียงและควบคุมต้นทุนให้เหลือครึ่งหนึ่งด้วย