ท่อก๊าซนอร์ด สตรีม รั่ว ยังไม่สรุปก่อการร้ายหรือไม่ แต่อันตรายระบบนิเวศ

ก๊าซรั่ว บอลติก สวีเดน
ภาพถ่ายมุมสูงเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2022 จากเครื่องบินหน่วยยามชายฝั่งสวีเดน แสดงให้เห็นการปล่อยก๊าซที่เกิดจากการรั่วไหลของท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ในเขตเศรษฐกิจสวีเดนในทะเลบอลติก (AFP PHOTO / SWEDISH COAST GUARD)

ท่อก๊าซนอร์ด สตรีมในกลางทะเลบอกติกรั่วครั้งที่ 4 ในสัปดาห์นี้ ชาติตะวันชี้เป้าเป็นความจงใจของรัสเซีย ฟากเคลมลินชี้ไม่มีเหตุผลทำลายทรัพย์สินของตัวเอง นักวิทยาศาสตร์ชี้มีเทนที่รั่วออกมาอันตรายกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ ทำโลกร้อนเพิ่มขึ้น

วันที่ 30 กันยายน 2565 บีบีซี รายงาน สวีเดนพบรอยรั่วใหม่ในท่อส่งก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลขนาดใหญ่ซึ่งส่งออกจากรัสเซียไปยังสหภาพยุโรป และครั้งนี้คือการค้นพบครั้งที่ 4 ในสัปดาห์นี้ โดยทางการเดนมาร์กและสวีเดนรายงานการรั่วไหลของก๊าซในท่อส่ง Nord Stream 1 และ 2 เมื่อต้นสัปดาห์

ขณะที่ นาโต ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจาก “การกระทำที่จงใจ ประมาท และขาดความรับผิดชอบ” แม้ รัสเซียจะปฏิเสธข้อกล่าวหาการโจมตีท่อส่งก๊าซของตนเองว่า “คาดเดาได้และโง่เขลา”

โดยกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย แถลงว่า เหตุระเบิดเกิดขึ้นใน “เขตควบคุมโดยหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ”

ส่วนมิเกล เบอร์เกอร์ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำสหราชอาณาจักร กล่าวกับบีบีซีว่า ผู้กระทำผิดที่ไม่ใช่รัฐไม่สามารถอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประเทศเจ้าของท่อต้องรับผิดชอบ

ทั้งนี้ การรั่วครั้งที่ 4 ในสัปดาห์นี้ ตรวจพบโดยหน่วยยามชายฝั่งของสวีเดน ที่พบรอยรั่วในเส้นทางแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาตินอร์ด สตรีม 2 ซึ่งใกล้เคียงกับรอยรั่วที่ใหญ่กว่า ที่พบก่อนหน้านี้ในแนวท่อนอร์ด สตรีม 1

สหภาพยุโรป กล่าวหารัสเซียหลายครั้งว่าใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นอาวุธโจมตีชาติตะวันตก เพื่อตอบโต้ต่อที่ชาติตะวันตกสนับสนุนยูเครน

ฟาติธ ไบโรล หัวหน้าสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า ชัดเจนมาก ว่าใครอยู่เบื้องหลังความเสียหายดังกล่าว โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

ขณะที่ ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย กล่าวว่าเขา กังวลอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการรั่วไหล แบะความเป็นไปได้ของการโจมตีโดยเจตนาไม่สามารถตัดออกได้

ผู้นำสหภาพยุโรปกล่าวว่าการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของทวีปใด ๆ จะพบกับ “การตอบสนองที่แข็งแกร่งที่สุด”

ขณะเดียวกัน นอร์เวย์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในสหภาพยุโรป เปิดเผยว่าจะส่งกำลังทหารเพื่อปกป้องแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซ

อย่างไรก็ตาม ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ นอร์ด สตรีม 1 ซึ่งประกอบด้วยสองสาขาขนานกัน ไม่ได้ขนส่งก๊าซใด ๆ ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตั้งแต่รัสเซียปิดปากท่อ โดยระบุว่าจำเป็นต้องบำรุงรักษา

ท่อส่งก๊าซนี้ทอดยาว 1,200 กิโลเมตร (745 ไมล์) วางแนวท่ออยู่ใต้ทะเลบอลติกจากชายฝั่งรัสเซียใกล้เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเยอรมนี ส่วนท่อคู่ขนานคือ นอร์ด สตรีม 2 ถูกระงับหลังจากรัสเซียบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นักแผ่นดินไหววิทยารายงานการระเบิดใต้น้ำก่อนที่จะเกิดการรั่วไหล กองบัญชาการป้องกันประเทศเดนมาร์กได้เผยแพร่ภาพรอยรั่วที่แสดงฟองอากาศขนาดใหญ่ที่สุดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 กิโลเมตร ที่พื้นผิวทะเลบอลติก และบียอร์น ลุนด์ แห่งศูนย์วิทยาแผ่นดินไหวแห่งชาติของสวีเดน กล่าวว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งเหล่านี้คือการระเบิด”

อย่างไรก็ตาม อังเดร คอร์ตูนอฟ แห่งสภากิจการระหว่างประเทศของรัสเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านธิงค์แทงก์ในกรุงรัสเซีย กล่าวว่า การโจมตีของรัสเซียไม่สมเหตุสมผล คนอื่น ๆ ชี้นิ้วไปที่รัสเซียเสมอ แต่เขาคิดว่าเนื่องจากท่อนี้เป็นทรัพย์สินของรัสเซีย มันจึงไม่มีเหตุผลมากนัก ที่รัสเซียจะสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินของตัวเอง

อีกด้านหนึ่ง ยังมีข่าวร้ายที่ตามมาจากการรั่วไหลของก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลบอลติก เมื่อ บีบีซีรายงานว่า ก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซในท่อส่งนอร์ด สตรีม Nord Stream มีผลต่อภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศอย่างมาก

หลังการรั่วไหลของก๊าซมีเทนในช่วง 2 ปีแรก มีประสิทธิภาพมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่พบได้ทั่วไปมากที่สุด ผ่านการดักจับความร้อนในชั้นบรรยากาศของโลก

แม้ว่า ณ จุดนี้ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าก๊าซรั่วไหลออกมามากแค่ไหน แต่นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันรายหนึ่งประมาณการว่า ผลกระทบต่อสภาพอากาศของก๊าซมีเทนในท่ออาจเทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกประมาณ 2.5 ชั่วโมง

ขณะที่ เจ้าหน้าที่ด้านพลังงานของเดนมาร์กกล่าวว่า การรั่วไหลอาจคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของการปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ประจำปีของเดนมาร์ก

เนื่องจาก มีเทนอยู่ในบรรยากาศได้เพียงหนึ่งทศวรรษหรือมากกว่านั้น (เมื่อเทียบกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2) ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมการลดการปล่อยก๊าซจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงถูกมองว่าเป็นวิธีที่เร็วที่สุดในการชะลออุณหภูมิโลกให้สูงขึ้น