ฝากรอยเท้าเอาไว้ จีนพบฟุตพรินต์ไดโนเสาร์ หลังหินถล่มเผยโฉม

รอยเท้าไดโนเสาร์
Xinhua

รอยเท้าไดโนเสาร์ ยุคครีเทเชียสตอนปลาย หรือราว 66-70 ล้านปีก่อนเผยโฉมที่ฝูเจี้ยน ประเทศจีน หลังเกิดเหตุหินถล่ม

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 สำนักข่าว ซินหัว รายงานการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์สภาพดีขนาดราว 15 ตารางเมตร ในอำเภอซ่างหาง เมืองหลงเหยียน มณฑลฝูเจี้ยน ทางตะวันออกของจีน

คณะผู้เชี่ยวชาญจากคณะกรรมการด้านบรรพชีวินวิทยาและซากดึกดำบรรพ์แห่งชาติกล่าวว่า การค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์สภาพดีในพื้นที่ขนาดใหญ่เช่นนี้เกิดขึ้นน้อยมากทั่วโลก

รอยเท้าไดโนเสาร์
Xinhua

ฟอสซิลดังกล่าวเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์สกุลซอโรพอดและเทโรพอด และมีโครงสร้างรอยริ้วคลื่นสมมาตรที่ชัดเจน ซึ่งสะท้อนสภาพแวดล้อมการสะสมของตะกอนของซากสิ่งทับถมในทะเลสาบในยุคสมัยนั้น โดยมีการค้นพบรอยเท้าของไดโนเสาร์ 6 สายพันธุ์มากกว่า 30 รอย

โกลเบิลไทมส์ สื่อภาษาอังกฤษของจีนรายงานเพิ่มเติมว่า รอยเท้าไดโนเสาร์ปรากฏให้เห็นหลังเกิดเหตุหินถล่มลงมาไม่นานนี้ รอยเท้าดังกล่าวอยู่ในสภาพดีมาก เหมือนกับประทับไว้แล้วเก็บไว้ในแม่พิมพ์ กระทั่งหินถล่มจึงเหมือนแม่พิมพ์ถูกเปิดออก

Xinhua

คณะนักวิจัยกล่าวว่าฟอสซิลเหล่านี้ค่อนข้างหายาก ทั้งในแง่จำนวนและความชัดเจน ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาพฤติกรรมการดำรงชีวิตและสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตของไดโนเสาร์ยุคครีเทเชียสตอนปลาย

(ยุคครีเทเชียส Cretaceous เป็นยุคหนึ่งทางธรณีกาลของโลก อยู่ในมหายุคมีโซโซอิก ยุคครีเทเชียสอยู่ถัดจากยุคจูราสสิค คือประมาณ 145 ถึง 66 ล้านปีก่อน อยู่ก่อนหน้ายุคพาลีโอจีน หรือประมาณ 65.5 ถึง 23.03 ล้านปีก่อน ถือเป็นยุคที่ยาวนานที่สุดและกินเวลาเกือบครึ่งหนึ่งของมหายุคมีโซโซอิก)

หวัง เสี่ยวหลิน เจ้าหน้าที่คณะกรรมการเผยว่า ปัจจุบันฟอสซิลรอยเท้าไดโนเสาร์ส่วนใหญ่ที่พบในจีนและต่างประเทศเป็นของยุคจูราสสิกและยุคครีเทเชียสตอนต้น ส่วนรอยที่พบในอำเภอซ่างหางนั้นเป็นของยุคครีเทเชียสตอนปลาย ซึ่งบ่งชี้ถึงการมีชีวิตของไดโนเสาร์ในระยะสุดท้ายก่อนที่พวกมันจะสูญพันธุ์

ทั้งนี้ อำเภอซ่างหางขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์หลากหลายชนิด นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกมันอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้เป็นเวลานาน