อเมซอนแห่งเกาหลีใต้ เปิดเกมรุก “คิวคอมเมิร์ซ” ญี่ปุ่น

อเมซอนแห่งเกาหลีใต้

โมเดลธุรกิจแบบจัดส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว หรือ “คิวคอมเมิร์ซ” (Q-Commerce หรือ Quick Commerce) กำลังเป็นที่นิยมและมีแนวโน้มขยายตัวใน “ญี่ปุ่น”

หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคญี่ปุ่นให้คุ้นชินกับการสั่งซื้อสินค้าจำเป็นผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น กลายเป็นโอกาสของบรรดาบริษัทค้าปลีกหลายราย รวมถึงยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ที่เข้ามาตีตลาดคิวคอมเมิร์ซญี่ปุ่น

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า “คูปัง” (Coupang) บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่เจ้าของฉายา “อเมซอนแห่งเกาหลีใต้” กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่น หลังจาก ที่เริ่มให้บริการคิวคอมเมิร์ซใน 6 เขต ของกรุงโตเกียวครั้งแรกเมื่อ มิ.ย. 2021 กระทั่งถึงปัจจุบัน แอปพลิเคชั่นของคูปังมีผู้ดาวน์โหลด ใช้งานในญี่ปุ่นแล้วเกือบ 100,000 ครั้ง

ธุรกิจคิวคอมเมิร์ซของคูปังให้บริการจัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับลูกค้าได้เร็วสุดใน 10 นาที หรือนานสุดไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยมีการตั้งศูนย์จัดการและกระจายสินค้า หรือที่เรียกว่า “ร้านมืด” (dark store) ในย่านนากาเมกุโระ และอีกแห่งในเขตชินางาวะ ของโตเกียว ซึ่ง
คูปังยังมีแผนขยายบริการและได้เริ่มทดสอบการจัดส่งสินค้าในพื้นที่อื่น ๆ ของโตเกียวแล้วตั้งแต่ ต.ค.ที่ผ่านมา

คูปังใช้เทคโนโลยีในการจัดการร้านมืดและการจัดส่งในญี่ปุ่นเช่นเดียวกับธุรกิจคิวคอมเมิร์ซในเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์วิเคราะห์การขาย ที่สามารถช่วยคาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภคและป้องกันสินค้าขาดสต๊อก และยังมีเทคโนโลยีช่วยกำหนดเส้นทางที่เหมาะสมและรวดเร็วที่สุดสำหรับพนักงานส่งสินค้า

เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คูปังยังได้ร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ของญี่ปุ่นอย่าง “ทาคาชิมายะ” และร้านร้อยเยน “ไดโซะ” (Daiso) เพื่อขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าที่ให้บริการจัดส่งในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแบรนด์หรูไปจนถึงสิ่งของเครื่องใช้ราคาย่อมเยา ซึ่งในปัจจุบันคูปังมีสินค้าให้บริการในญี่ปุ่นราว 5,000 รายการ

ทั้งนี้ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของคูปังในญี่ปุ่นเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19 “นาโอโกะ คูกะ” นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอ ระบุว่า “ขณะนี้ผู้บริโภคจำนวนมากต้องการบริการจัดส่งสินค้าเครื่องใช้ที่ จำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างรวดเร็ว หลังจากที่พวกเขาได้สัมผัสความสะดวกสบายเช่นนี้ในช่วงล็อกดาวน์โควิด-19”

ไม่เพียงแต่บริษัทเกาหลีใต้อย่างคูปังเท่านั้น บริษัทค้าปลีกในญี่ปุ่นก็มองเห็นโอกาสของตลาดคิวคอมเมิร์ซญี่ปุ่น เมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมา “ลอว์สัน” เชนร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่น ยังได้ร่วมมือกับ OniGO บริษัทค้าปลีกจัดส่งด่วน เริ่มทดลองให้บริการคิวคอมเมิร์ซครั้งแรกในเขตนากาโนะ ของโตเกียว โดยกำหนดการจัดส่งในรัศมี 2 กิโลเมตรจากร้าน “ลอว์สันสโตร์ 100” และตั้งเป้าจะขยายบริการในร้านค้าอีก 100 แห่งใน 3 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจคิวคอมเมิร์ซในญี่ปุ่นยังคงมีความท้าทายจากปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ นาโอโกะ คูกะ ชี้ว่า “ความพยายามจ้างงานพนักงานจัดส่งให้เพียงพอต่อความต้องการจะยากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อร้านอาหารและร้านค้าปลีกต่าง ๆ กลับมาแข่งขันจ้างงานกันอีกครั้ง หลังจากที่ข้อจำกัดโควิด-19 ผ่อนคลายไป”


เมื่อสิ้นปี 2021 คูปังมีพนักงานมากถึง 65,000 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ในเกาหลีใต้ ส่งผล ให้บริษัทเป็นผู้จ้างรายใหญ่อันดับ 3 ของเกาหลีรองจากซัมซุงและฮุนได ขณะที่ลูกค้าของคูปังในเกาหลีใต้สูงถึง 18 ล้านคน ดังนั้น ปัญหาขาดแคลนแรงงานของญี่ปุ่นจึงเป็นปัญหาที่ท้าทาย เป้าหมายการเติบโตในญี่ปุ่นของคูปัง ที่จำเป็นต้องใช้พนักงานอีกจำนวนมหาศาลเพื่อรองรับการขยายตัว