EIU เผยดัชนีประชาธิปไตย 2022 ไทยคะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก เพราะอะไร ?

ดัชนีประชาธิปไตย 2022 (EIU Democracy Index 2022)
Lillian SUWANRUMPHA / AFP

“ดัชนีประชาธิปไตย” (EIU Democracy Index) ปี 2022 มี 75 ประเทศที่ได้คะแนนความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น มี 48 ประเทศที่คะแนนเท่าเดิม และอีก 44 ประเทศที่คะแนนลดลง ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก เพราะอะไร ขอชวนมาดูกัน 

ขณะที่ดัชนีด้านต่าง ๆ ในปี 2022 ถูกทยอยเปิดเผยออกมาอย่างต่อเนื่องหลังจากเข้าสู่ปีใหม่ ดัชนีด้านการเมืองและสังคมที่ได้รับความเชื่อถือและใช้อ้างอิงกันทั่วโลกอย่าง “EIU Democracy Index” หรือ “ดัชนีประชาธิปไตย” ที่จัดทำโดยหน่วยงานวิเคราะห์และวิจัยชื่อดังระดับโลก Economist Intelligence Unit ของ Economist Group ก็เผยแพร่ออกมาแล้วเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ประเด็นโฟกัสของ EIU Democracy Index ก็ไม่ต่างจากดัชนีอื่น ๆ ในปี 2022 นั่นคือ การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่ง EIU เปรียบว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ส่งแรงกระแทกไปทั่วโลก ซึ่งเผยให้เห็นการแบ่งแยกระหว่างประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วซึ่งสนับสนุนยูเครน และประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากที่เลือกที่จะไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ผลการประเมินดัชนีประชาธิปไตยปี 2022 ในภาพรวมทั่วโลกมีคะแนนความเป็นประชาธิปไตยเฉลี่ย 5.29 คะแนน 

การประเมินในปี 2022 มีข่าวดีเพียงเล็กน้อยคือ จำนวนประเทศที่ได้คะแนนประชาธิปไตยดีขึ้นมีมากขึ้น โดยมี 75 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ที่มี 47 ประเทศ แต่ก็มี 48 ประเทศที่คะแนนเท่าเดิม และอีก 44 ประเทศที่คะแนนลดลง 

EIU มองว่า คะแนนประชาธิปไตยปี 2022 ไม่ดีขึ้นนักจากปีก่อนหน้า แม้ว่ามีการยกเลิกข้อจำกัดที่เกี่ยวกับการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 ไปแล้วเกือบทั่วโลก ซึ่งการยกเลิกข้อจำกัดทำให้คนออกจากบ้านได้มากขึ้น ควรจะส่งผลให้คะแนนประชาธิปไตยดีขึ้นกว่านี้ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลเท่าที่ควร นั่นหมายความว่า เมื่อมีการใช้มาตรการใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตย แม้จะยกเลิกมาตรการนั้นก็อาจจะไม่ได้ทำให้สถานการณ์ความเป็นประชาธิปไตยดีขึ้นในเวลารวดเร็ว 

สำหรับ 10 อันดับแรกที่คะแนนความเป็นประชาธิปไตยสูงที่สุดเป็นประเทศจากทวีปยุโรปเกือบทั้งหมด ซึ่งน่าจะพอคาดเดากันได้ ได้แก่   

  • อันดับ 1 นอร์เวย์ (9.81 คะแนน)
  • อันดับ 2 นิวซีแลนด์ (9.61 คะแนน) 
  • อันดับ 3 ไอซ์แลนด์ (9.52 คะแนน) 
  • อันดับ 4 สวีเดน (9.39 คะแนน) 
  • อันดับ 5 ฟินแลนด์ (9.29 คะแนน) 
  • อันดับ 6 เดนมาร์ก (9.28 คะแนน) 
  • อันดับ 7 สวิตเซอร์แลนด์ (9.14 คะแนน) 
  • อันดับ 8 ไอร์แลนด์ (9.13 คะแนน) 
  • อันดับ 9 เนเธอร์แลนด์ (9.00 คะแนน) 
  • อันดับ 10 ไต้หวัน (8.99 คะแนน) 

ส่วนประเทศที่คะแนนความเป็นประชาธิปไตยต่ำสุด 10 อันดับ ได้แก่ 

  • อันดับ 167 อัฟกานิสถาน (0.32 คะแนน)
  • อันดับ 166 เมียนมา (0.74 คะแนน) 
  • อันดับ 165 เกาหลีเหนือ (1.08 คะแนน)
  • อันดับ 164 สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (1.35 คะแนน) 
  • อันดับ 163 ซีเรีย (1.43 คะแนน)
  • อันดับ 162 คองโก (1.48 คะแนน) 
  • อันดับ 161 เติร์กเมนิสถาน (1.66 คะแนน)
  • อันดับ 160 สาธารณรัฐชาด (1.67 คะแนน)
  • อันดับ 159 ลาว (1.77 คะแนน)
  • อันดับ 158 อิเควทอเรียลกินี (1.92 คะแนน)
ดัชนีประชาธิปไตย (EIU Democracy Index)
Jack TAYLOR / AFP


สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 มีคะแนนความเป็นประชาธิปไตย 6.67 คะแนน คะแนนเพิ่มขึ้น 0.62 คะแนนจากปี 2021 ที่มีคะแนน 6.04 คะแนน เป็นประเทศที่คะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุดแห่งปี และอันดับขยับดีขึ้น 17 อันดับ 

ขณะที่รัสเซียเป็นประเทศที่คะแนนความเป็นประชาธิปไตยลดลงมากที่สุด โดยลดลง 0.96 คะแนน จาก 3.24 คะแนนในปี 2021 เป็น 2.28 คะแนนในปี 2022 และอันดับโลกแย่ลงมาก ตกจากอันดับ 124 ในปี 2021 เป็นอันดับ 146 ในปี 2022 (จากทั้งหมด 167 ประเทศ)  

ในภาพใหญ่ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง ๆ ในหลายประเทศที่เกิดขึ้นในปี 2022 ส่งผลให้จำนวนของประเทศที่อยู่ใน “ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ” เพิ่มขึ้นจาก 21 ประเทศในปี 2021 เป็น 24 ประเทศในปี 2022 จำนวนประเทศที่อยู่ใน “ประชาธิปไตยที่มีข้อบกพร่อง” ลดลงจาก 53 แห่งเป็น 48 แห่ง และจำนวนประเทศที่อยู่ใน “ระบอบการปกครองแบบผสม” เพิ่มขึ้นจาก 34 แห่งเป็น 36 แห่ง และจำนวนประเทศที่อยู่ใน “ระบอบเผด็จการ” ยังเท่าเดิม 59 ประเทศ 

สำหรับประเทศไทย ที่คะแนนรวมความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก คะแนนที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากอะไรบ้าง ? ต้องมาดูกันในรายละเอียด

ดัชนีชี้วัดประชาธิปไตยของ Economist Intelligence Unit วิเคราะห์ประเมินจากปัจจัย 5 ประเด็น ประกอบด้วย กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม (Electoral process and pluralism) การทำหน้าที่ของรัฐบาล (Functioning of government) การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political participation) วัฒนธรรมทางการเมือง (Political culture) และเสรีภาพพลเมือง (Civil liberties) 

เมื่อนำคะแนนแต่ละตัวชี้วัดของประเทศไทย ปี 2022 กับ 2021 มาเทียบกัน เป็นดังนี้

กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม (Electoral process and pluralism)
2022 = 7.42 คะแนน, 2021 = 7.00 คะแนน 

การทำหน้าที่ของรัฐบาล (Functioning of government)
2022 = 6.07 คะแนน, 2021 = 5.00 คะแนน 

การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political participation)
2022 = 8.33 คะแนน, 2021 = 6.67 คะแนน 

วัฒนธรรมทางการเมือง (Political culture)
2022 = 5.63 คะแนน, 2021 = 6.25 คะแนน 

เสรีภาพพลเมือง (Civil liberties)
2022 = 5.88 คะแนน, 2021 = 5.29 คะแนน

จะเห็นว่าคะแนนของไทยดีขึ้นในเกือบทุกตัวชี้วัด มีตัวชี้วัดเดียวที่ไทยได้คะแนนน้อยลง คือ “วัฒนธรรมทางการเมือง” (Political culture) ซึ่งลดลง 0.62 คะแนน จากปี 2021 

ส่วน EIU กล่าวถึงประเทศไทยสั้น ๆ เพียงว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่คะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก “เนื่องจากมีการเปิดพื้นที่สำหรับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และภัยคุกคามต่อประเทศก็ลดลง”