แกะรอย 1 ปี สงครามยูเครน เศรษฐกิจรัสเซียอ่อนแอ แต่ยังไม่ล้ม

สงคราม ยูเครน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เมื่อตอนที่กลุ่มพันธมิตรตะวันตกประกาศมาตรการแซงก์ชั่นรัสเซียระลอกแรก เพื่อลงโทษต่อการส่งกองทัพบุกยูเครน “บรูโน เลอ แมร์” รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส ทำนายอย่างมั่นใจว่า เศรษฐกิจรัสเซียต้อง “ล่มสลาย”

แม้การคาดการณ์ภายในของรัสเซียเองในเวลานั้น ก็ระบุชัดว่า ในปี 2022 เศรษฐกิจจะหดตัวลงอย่างรุนแรงกว่า 10% สูงสุดเป็นประวัติการณ์

เมื่อ “รอสสแตท” สำนักงานสถิติแห่งชาติของรัสเซียแถลงถึงตัวเลขจีดีพีของปี 2022 ที่ผ่านมาว่า ติดลบเพียง 2.1% ประธานาธิบดี “วลาดิมีร์ ปูติน” จึงหยิบมาอวดอ้างอย่างภาคภูมิใจ ขณะที่นักวิเคราะห์ พากันหาคำตอบว่า ทำไม มาตรการแซงก์ชั่น 9 ชุดถึงไม่ได้ผลมากอย่างที่ควรเป็น

คำตอบที่พอมองเห็นกันได้ก็คือ ปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงมาก มากพอที่จะชดเชยปริมาณส่งออกที่ขาดหายไปราว ๆ 25% ของรัสเซียได้

คู่ค้าหลักเดิมของรัสเซียอย่างสหภาพยุโรป (อียู) ค่อย ๆ ลดการพึ่งพาก๊าซ จนสามารถลดการนำเข้าจากรัสเซียลงได้มากถึง 55% แต่รัสเซียก็สามารถหาผู้ซื้อรายใหม่ ๆ ทดแทนได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะรายใหญ่อย่างอินเดีย, ตุรกี และจีน

“อเล็กซานเดอร์ โนวัค” รองนายกรัฐมนตรีรัสเซียระบุว่า ก๊าซที่ส่งผ่านท่อก๊าซไซบีเรียเพิ่มขึ้นจากระดับก่อนสงครามถึง 48%

นักวิชาการบางคนชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายอุตสาหกรรมหดหายไป อุตสาหกรรมอาวุธในรัสเซียกลับพุ่งสูงขึ้นสวนทาง มีส่วนช่วยเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศได้ไม่น้อย บางสาขาของอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพในแถบเทือกเขายูราล ถึงกับปรับตัวเพิ่มกำลังการผลิตแบบต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงอีกด้วย

ปูตินอ้างว่า เกษตรกรรมของรัสเซียก็แข็งแกร่งเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า เมื่อถึงสิ้นฤดูกาล (ในเดือนมิถุนายน 2023) รัสเซียจะส่งออกธัญพืชได้มากถึง 55-60 ล้านตัน

อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ, การเงิน, การค้า, เทคโนโลยี ได้รับผลกระทบจากการแซงก์ชั่นระลอกแล้วระลอกเล่า แต่ก็ดิ้นรนปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่การหาประเทศ “ตัวกลาง” ในการชำระเงินระหว่างประเทศ ทดแทนระบบสวิฟต์ ที่ถูกตัดขาดจากการแซงก์ชั่น

จนถึงการเลี่ยงไปนำเข้าสินค้าตะวันตกจากประเทศที่สาม อาทิ คีร์กีซสถาน, อาร์เมเนีย และจอร์เจีย ซึ่งแวดล้อมอยู่โดยรอบรัสเซีย และการผลักดันให้ผู้ผลิตในท้องถิ่นเข้ามาทำหน้าที่แทน “แบรนด์” จากต่างประเทศ อย่าง เป๊ปซี่ หรือ โคคา-โคลา เป็นต้น

อุตสาหกรรมการผลิตหลายประเภทต้องดิ้นรนประคองตัวให้อยู่รอดจากการแซงก์ชั่น หันไปหาชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ และผลิตในประเทศจีน ทดแทนชิ้นส่วนที่เคยนำเข้าจากยุโรปและไต้หวัน

การแซงก์ชั่นส่งผลกระทบต่อการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่างหนัก ทำให้อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการนำเข้านี้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ตั้งแต่อุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมรถยนต์

ตัวเลขของสมาคมธุรกิจแห่งยุโรป (เออีบี) ระบุว่า ในปี 2022 ยอดขายรถยนต์ในรัสเซียหายไปถึงเกือบ 1 ล้านคัน เมื่อเทียบกับปี 2021 คิดเป็นสัดส่วนลดลงมากถึง 59% สะท้อนให้เห็นกำลังซื้อที่หดหายไป ซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งถึงระดับ 12% ตลอดทั้งปี

อกาธี เดมาเรส นักวิเคราะห์อาวุโสของ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนท์ ยูนิต ชี้ให้เห็นว่า รัสเซียเลิกเผยแพร่ดัชนีสำคัญบางตัวไป เช่น ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศ อาจเป็นเพราะไม่ต้องการแสดงให้เห็นว่าการแซงก์ชั่นของตะวันตกได้ผล

ในขณะเดียวกัน เดวิด เทอร์ทรี อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเชื่อว่า เหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียสูงมาก โดยเฉพาะในระยะยาว ก็คือการที่สงครามครั้งนี้ดึงเอาชายฉกรรจ์มากกว่า 300,000 คน ออกจากระบบเศรษฐกิจ เพื่อไปทำหน้าที่สู้รบ ในเวลาเดียวกันก็มีอีกหลายล้านคนที่ตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศ เพื่อเลี่ยงไม่ให้ถูกเกณฑ์ไปรบ ในช่วง 12 เดือนนับตั้งแต่เกิดสงคราม

เพราะคนที่หนีการเกณฑ์ทหารออกนอกประเทศเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นคนมีการศึกษาและมีฐานะทางเศรษฐกิจดี เทอร์ทรี เชื่อว่าผลกระทบจากกรณีนี้จะเริ่มเห็นกันตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้

ข้องสังเกตอีกประการก็คือ มาตรการแซงก์ชั่นสำคัญบางอย่างเพิ่งจะมีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะการแซงก์ชั่นน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นที่มาของรายได้ภาครัฐที่สำคัญของรัสเซียของอียู มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการแซงก์ชั่นผลผลิตจากน้ำมัน ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี่เอง

ข้อมูลของ ศูนย์เพื่อการวิจัยพลังงานและอากาศสะอาด (the Centre for Research on Energy and Clean Air) ระบุว่า ในช่วง 12 เดือนนับตั้งแต่เกิดสงคราม อียู ใช้เงินซื้อน้ำมันรัสเซียไปสูงถึง 48,000 ล้านยูโร เงินก้อนนี้อาจหดหายไปทั้งหมดในอีกไม่นาน

ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้จากน้ำมันของรัสเซียหนักแน่นอน

ข้อสรุปของนักวิชาการเหล่านี้ก็คือ แม้ตอนนี้เศรษฐกิจรัสเซียจะยังยืนอยู่ได้ แต่ยิ่งทอดเวลานานไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะยิ่งลึกซึ้งและแผ่กว้างมากขึ้นตามลำดับ ถึงตอนนั้นบรรดาผู้นำรัสเซียคิดจะเสียใจก็ไม่ทันการณ์แล้ว