1 ปี รัสเซียบุกยูเครน : ผลแพ้ชนะสงครามกำหนดชะตาชีวิตการเมืองปูติน

 

Vladimir Putin is seen at the helm of a boat as an officer points out something to him (September 2016)

Russian government
วลาดิเมียร์ ปูติน คือผู้ควบคุมหางเสือของรัฐนาวารัสเซียมานานกว่า 20 ปี

เมื่อสามปีที่แล้ว ผู้ประกาศข่าวประจำสถานีโทรทัศน์ของทางการรัสเซีย เอ่ยถ้อยคำสนับสนุนประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อต่ออายุให้เขาได้ดำรงตำแหน่งผู้นำต่อไปอีก 16 ปี โดยเปรียบเปรยว่าปูตินนั้นเป็นเสมือนกัปตันเรือ ผู้สามารถบังคับควบคุมให้รัฐนาวาแล่นไปได้อย่างปลอดภัย ท่ามกลางพายุร้ายในเวทีการเมืองโลกที่โหมกระหน่ำพัดเข้าใส่รัสเซีย

ผู้ประกาศข่าวคนดังกล่าวบอกว่า “รัสเซียคือโอเอซิสแห่งเสถียรภาพ…คืออ่าวจอดเรือที่ปลอดภัย หากไม่มีผู้นำอย่างปูตินเสียแล้ว พวกเราทั้งหมดจะเป็นอย่างไร”

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2022 กัปตันปูตินได้เลือกที่จะแล่นเรือเข้าไปในพายุที่เขาสร้างมันขึ้นมาเอง แถมยังแล่นตรงเข้าไปชนกับภูเขาน้ำแข็งในทันที

สงครามรุกรานยูเครนที่ปูตินก่อขึ้น แม้จะทำให้ทหารและพลเรือนยูเครนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากและทั่วประเทศต้องเผชิญกับความเสียหายรุนแรง แต่ทหารรัสเซียเองก็เสียชีวิตไปหลายหมื่นนายเช่นกัน ทำให้มีการเรียกเกณฑ์พลเมืองรัสเซียและนักโทษหลายแสนคนเข้าร่วมรบด้วย

สงครามของปูตินยังส่งผลกระทบต่อภาคการพลังงาน รวมทั้งราคาสินค้าและอาหารที่แพงขึ้นทั่วทุกแห่งหน สงครามยังสั่นคลอนเสถียรภาพของโลกและภูมิภาคยุโรป นำไปสู่คำถามชวนงุนงงสงสัยที่ว่า เหตุใดผู้นำรัสเซียจึงยังคงต้องการวางแผนเดินหน้าทำสงครามแย่งชิงดินแดนต่อไป

Russian President Vladimir Putin (C-L) and Defence Minister Sergei Shoigu (C-R) attend a ceremony in the Alexander Garden to mark the Defender of the Fatherland Day in Moscow, Russia, 23 February 2023.

EPA
ปูตินเข้าร่วมพิธีของกองทัพในวันรำลึกผู้พิทักษ์ปิตุภูมิ เมื่อ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา

รองศาสตราจารย์ เยกาทีรีนา ชูลมานน์ นักรัฐศาสตร์ชาวรัสเซียกล่าวชี้ว่า “อีกไม่นานก็จะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียครั้งต่อไปในปี 2024 แต่ก่อนจะถึงวันนั้นสองปี ทางการได้วางแผนให้มีเหตุการณ์แห่งชัยชนะบางอย่างเกิดขึ้นภายในปี 2022 และในปีถัดไปพวกเขาก็จะประสบความสำเร็จในการปลูกฝังทัศนคติใหม่แก่ประชาชนว่า ชาวรัสเซียโชคดีแค่ไหนที่มีปูติน ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นกัปตันพารัฐนาวาล่องฝ่ามรสุมไปได้อย่างปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังนำพวกเขามาขึ้นฝั่งที่ดินแดนใหม่อันมั่งคั่งอีกด้วย ดังนั้นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 จะไปไหนเสีย”

แต่ทว่าความผิดพลาดกลับเกิดขึ้นมากมายหลังปูตินตัดสินใจรุกรานยูเครน เนื่องมาจากการคำนวณและคาดการณ์ผิดตั้งแต่ต้น “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ที่ควรจะรวดเร็วปานสายฟ้าแลบและใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ในการเผด็จศึก กลับกลายเป็นการรบติดพันยืดเยื้อนานนับปี เพราะความประมาทของปูตินที่ประเมินความสามารถของยูเครนในการรบต้านทาน รวมทั้งความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนยูเครนของเหล่าชาติตะวันตกไว้ต่ำเกินไป

Russian President Vladimir Putin is seen on stage at a concert at Luzhniki Stadium in Moscow, Russia February 22, 2023.

Sputnik/Reuters
ปูตินขึ้นกล่าวปราศรัยต่อบรรดาผู้สนับสนุน ที่สนามฟุตบอลกรุงมอสโก เมื่อ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา

จนถึงทุกวันนี้ปูตินยังไม่เคยแสดงการยอมรับว่า สงครามรุกรานยูเครนคือความผิดพลาดอย่างมหันต์ แนวทางเดินเกมสงครามตามสไตล์ปูตินนั้นมีแต่จะบุกไปข้างหน้า ยกระดับการรุกรบหรือเพิ่มเดิมพันในการต่อสู้ให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ

สภาพการณ์เช่นนี้นำมาซึ่งคำถามสำคัญสองประการ นั่นคือปูตินมองสถานการณ์สงครามในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาอย่างไร และเขาคิดจะเดินหมากในครั้งต่อไปด้วยแผนการแบบไหนกันแน่

ความเคลื่อนไหวของปูตินในช่วงสัปดาห์นี้ ได้บอกเป็นนัยถึงคำตอบของสองคำถามข้างต้น โดยในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ 21 ก.พ. ถ้อยแถลงของเขาเต็มไปด้วยถ้อยคำต่อต้านชาติตะวันตก ปูตินยังคงกล่าวโทษสหรัฐฯ และนาโตว่าเป็นสาเหตุของสงครามยูเครน ในขณะที่รัสเซียนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์

นอกจากนี้ การตัดสินใจระงับแผนเข้าร่วมสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ ในส่วนที่ยังเหลืออยู่ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ หรือ New Start นั้น ยังบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าปูตินไม่ได้คิดถึงการถอนกำลังทหารออกจากยูเครนเลย และไม่มีท่าทีจะยุติความเป็นปฏิปักษ์ต่อชาติตะวันตกด้วย

Russian President Vladimir Putin delivers his annual state of the nation address at the Gostiny Dvor conference centre in central Moscow on 21 February 2023

DMITRY ASTAKHOV/Getty Images
ปูตินแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา

วันต่อมาปูตินขึ้นเวทีปราศรัยที่สนามฟุตบอลกรุงมอสโก ในงานชุมนุมที่ดูเหมือนว่าจะจัดขึ้นเพื่อแสดงการสนับสนุนผู้นำรัสเซียโดยเฉพาะ โดยเขายืนเคียงข้างเหล่าทหารหาญที่เพิ่งกลับจากแนวหน้าของสมรภูมิยูเครน พร้อมทั้งกล่าวสรรเสริญ “นักรบผู้กล้า” และกล่าวเตือนใจชาวรัสเซียว่า “มีการต่อสู้ที่ยังคงดำเนินอยู่ในตอนนี้ ตามแนวพรมแดนทางประวัติศาสตร์หลายแห่งของรัสเซีย”

นั่นหมายความว่าปูตินจะไม่ยอมกลับหลังหันหรือถอยออกจากสมรภูมิยูเครนเป็นอันขาด อันเดร อิลลาริโอนอฟ อดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของปูตินถึงกับกล่าวว่า “หากไม่พบกับการต่อต้าน เขาจะเดินหน้าไปจนสุดทางหรือไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราไม่มีหนทางอื่นในการหยุดยั้งปูตินนอกเสียจากใช้มาตรการทางทหาร”

ส่วนการเจรจาเพื่อยุติสงครามนั้น นายอิลลาริโอนอฟมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ปูตินจะยอมนั่งลงเจรจากับทุกฝ่าย แต่ที่ผ่านมาข้อตกลงส่วนใหญ่ที่นานาชาติทำไว้กับผู้นำรัสเซีย มักถูกละเมิดหรือฉีกทิ้งจนไม่มีชิ้นดีในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงก่อตั้งเครือรัฐอิสระที่แยกตัวจากสหภาพโซเวียต, ข้อตกลงทวิภาคีระหว่างรัสเซียกับยูเครน, สนธิสัญญาระบุแนวพรมแดนระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่นานาชาติให้การยอมรับ, กฎบัตรสหประชาชาติ, ปฏิญญาเฮลซิงกิของปี 1975, บันทึกความตกลงบูดาเปสต์, รวมทั้งข้อตกลงที่เป็นผลจากการเจรจาทางการทูตอื่น ๆ อีกมาก

Konstantin Remchukov, Chief Editor, Nezavisimaya Gazeta, sits in front of a desk.

BBC
คอนสแตนติน เรมชูคอฟ บรรณาธิการสื่อรัสเซีย เกรงว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น

ปูตินมักอ้างว่าชาติตะวันตกละเมิดข้อตกลงที่ทำไว้กับรัสเซียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่นาโตตระบัดสัตย์ ผิดต่อคำมั่นที่เคยให้ไว้ในช่วงทศวรรษ 1990 ว่าจะไม่ขยายวงของพันธมิตรนาโตมาทางยุโรปตะวันออก

แต่หากมองย้อนไปในสมัยที่ปูตินเพิ่งก้าวขึ้นเป็นผู้นำรัสเซียใหม่ ๆ เมื่อราวปี 2000 เขาเคยกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจเข้าเป็นสมาชิกนาโตในวันหนึ่ง สองปีให้หลังเขายังกล่าวแสดงความเห็นเรื่องที่ยูเครนอาจเข้าเป็นสมาชิกนาโตว่า “ยูเครนเป็นรัฐเอกราชที่มีสิทธิเลือกด้วยตนเองได้ว่า จะสรรหาหลักประกันความมั่นคงของชาติมาด้วยวิธีไหน เรื่องนี้จะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับรัสเซียอย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตามปูตินในปี 2023 นั้นเปลี่ยนไปมาก โดยเขามองว่าตนเองคือผู้นำของป้อมปราการที่ถูกล้อมไว้ด้วยบรรดาพันธมิตรชาติตะวันตก ทั้งเป็นผู้นำการสู้รบขับไล่ศัตรูที่พยายามจะทำลายรัสเซียให้พังพินาศ หลายครั้งที่เขาเปรียบตนเองเป็นเหมือนกับพระเจ้าปีเตอร์มหาราชหรือพระนางแคเธอรีนมหาราชินี ซึ่งถูกกำหนดมาให้เป็นผู้กอบกู้และสร้างจักรวรรดิรัสเซียอันเกรียงไกรขึ้นมาใหม่

ทว่าการเชิดชูผู้นำรัสเซียในลักษณะนี้ ทำให้ปูตินต้องสูญเสียภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในการเป็นผู้สร้างเสถียรภาพให้กับรัสเซียในอดีต ล่าสุดบรรดากลุ่มติดอาวุธตามภูมิภาคต่าง ๆ และกองกำลังเอกชนที่ให้บริการทหารรับจ้าง อย่างกลุ่มแวกเนอร์ของเยฟเกนี ปริโกซิน ผู้ทรงอิทธิพลระดับชาติ แสดงท่าทีว่ามีความขัดแย้งกับกองทัพและกระทรวงกลาโหมรัสเซียมากขึ้นเรื่อย ๆ ชี้ถึงความระส่ำระสายไม่ลงรอยในหมู่ชนชั้นนำของรัสเซียซึ่งกำลังหันมาต่อสู้กันเอง

คอนสแตนติน เรมชูคอฟ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Nezavisimaya Gazeta บอกว่า “ในช่วงทศวรรษหน้า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามกลางเมืองในรัสเซีย เนื่องจากมีกลุ่มผลประโยชน์มากมายที่ทราบดีว่า ในภาวะไร้เสถียรภาพเช่นนี้ โอกาสที่จะจัดสรรหรือกระจายความมั่งคั่งไปยังชนชั้นนำกลุ่มใหม่ ๆ มีอยู่สูง”

“หนทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง นั่นคือจะต้องมีบุคคลที่เหมาะสมขึ้นครองตำแหน่งผู้นำแทนปูติน คนผู้นี้จะต้องมีอำนาจและอิทธิพลอยู่เหนือบรรดาชนชั้นนำรัสเซีย ทั้งต้องมีความเด็ดขาดแน่วแน่ในการจัดการกับกลุ่มที่จ้องฉกฉวยผลประโยชน์จากสถานการณ์ที่วุ่นวาย”

เมื่อถามนายเรมชูคอฟว่าบรรดาชนชั้นปกครองของรัสเซียได้หารือกันถึงเรื่องนี้บ้างหรือไม่ เขาตอบว่า “มีการหารือกันอย่างเงียบ ๆ และปิดลับ แต่ค่อนข้างแน่นอนว่าปูตินก็ล่วงรู้ถึงการแอบพบปะหารือที่ว่านี้ เขารู้ทุกอย่าง”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว