นักวิทยาศาสตร์คาด ปี 2566 หรือ 2567 โลกจะร้อนทำสถิติสูงสุดใหม่

โลกร้อน
AFP/ Aamir QURESHI

นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศคาดว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจร้อนทำสถิติสูงสุดใหม่ในปี 2566 หรือในปี 2567 นี้ 

วันที่ 20 เมษายน 2566 สำนักข่าว Reuters รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศกล่าวว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจร้อนทำสถิติสูงสุดใหม่ในปี 2566 หรือในปี 2567 นี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกลับมาของปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดว่าอาจจะรุนแรงขึ้น

แบบจำลองสภาพภูมิอากาศชี้ให้เห็นว่า หลังจากเกิดปรากฏการณ์ลานีญาในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอุณหภูมิโลกจะลดต่ำลงเล็กน้อย ในปลายปีนี้ โลกจะประสบกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มาคู่กับอุณหภูมิที่สูงขึ้น

“เอลนีโญมักจะเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิที่สูงทำลายสถิติโลก เป็นที่ทราบกันแล้วว่ามันอาจจะเกิดขึ้นในปี 2566 หรือ 2567 แต่ผมคิดว่ามันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมากกว่าที่จะไม่เกิด” คาร์โล บูออนเทมโป (Carlo Buontempo) ผู้อำนวยการ Copernicus Climate Change Service หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปกล่าว

บูออนเทมโปกล่าวว่า แบบจำลองภูมิอากาศบ่งชี้ว่า การกลับสู่สภาวะเอลนีโญอยู่ในช่วงปลายฤดูร้อนของเขตบอเรียล (ตอนเหนือของทวีปต่าง ๆ ในเขตละติจูด 45-67 องศาเหนือ) และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงในช่วงปลายปี

อากาศร้อน โลกร้อน
AFP/ Sajjad HUSSAIN

ณ ตอนนี้ สถิติปีที่โลกร้อนที่สุดคือปี 2559 (2016) ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกระตุ้นให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างมาก แม้ว่าปรากฏการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีนี้ก็ตาม 

ในช่วง 8 ปีล่าสุด เป็น 8 ปีที่โลกร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ สะท้อนถึงแนวโน้มภาวะโลกร้อนในระยะยาวที่ได้รับแรงหนุนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

ฟรีเดอริก ออตโท (Friederike Otto) อาจารย์อาวุโสที่สถาบันวิจัย Grantham Institute แห่ง Imperial College London กล่าวว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญอาจทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญผลกระทบหลากหลายรูปแบบอยู่ในตอนนี้ ทั้งคลื่นความร้อนรุนแรง ภัยแล้ง และไฟป่า 

“ถ้าเอลนีโญพัฒนาความรุนแรงขึ้น มีโอกาสที่ปี 2566 จะกลายเป็นปีที่ร้อนกว่าปี 2559 โดยพิจารณาจากที่โลกยังคงร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มนุษย์ก็ยังคงเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป” ออตโทกล่าว

วันที่ 20 เมษายน 2566 นักวิทยาศาสตร์ของ Copernicus Climate Change Service เผยรายงานประเมินสภาพอากาศสุดขั้วที่โลกประสบเมื่อปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ในประวัติศาสตร์  

รายงานดังกล่าวระบุว่า ทวีปยุโรปประสบกับฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปากีสถาน และในเดือนกุมภาพันธ์ โลกร้อนจนทำให้ระดับน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์

ศูนย์ Copernicus Climate Change Service ของสหภาพยุโรปยังบอกอีกว่า อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยขณะนี้สูงกว่าในยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.2 องศาเซลเซียส แม้ว่าผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่ของโลกส่วนใหญ่จะให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซสุทธิให้เหลือศูนย์ในที่สุด แต่ในปีที่แล้ว การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง