ค่ายรถทั่วโลกแห่ปักหมุดสหรัฐ ลงทุน EV เกือบ 5 ล้านล้าน

ค่ายรถทั่วโลกแห่ปักหมุดสหรัฐ

เมื่อโลกเดินหน้าเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หลายประเทศก็ตั้งความหวังที่จะเป็นฐานการผลิตหรือเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานอีวีโลก โดยงัดสารพัดกลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ดูเหมือนว่า
หนึ่งประเทศที่มีแรงดึงดูดการลงทุนอย่างโดดเด่น นั่นคือ “สหรัฐอเมริกา”

นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า การลงทุนจากทั่วโลกในอุตสาหกรรมอีวี และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในอเมริกาเหนือ โดยนิกเคอิประมาณการว่า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของโลก มีแผนลงทุนประมาณ 140,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.9 ล้านล้านบาท) ในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2565-2571

นิกเคอิประมาณการว่าจากเม็ดเงินลงทุนอีวี 140,000 ล้านดอลลาร์ให้สหรัฐอเมริกา ประมาณ 50% เป็นการลงทุนโดยบริษัทรถยนต์สหรัฐ อย่าง เจนเนอรัล มอเตอร์ส (GM) และ
ฟอร์ด มอเตอร์รวมกัน และอีก 20-30% เป็นการลงทุนของโตโยต้า และฮอนด้า จากญี่ปุ่น ส่วนที่เหลือ 20-30% เป็นการลงทุนของค่ายรถยุโรปและเกาหลีใต้

สำหรับ GM ตั้งเป้าลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับ โดยสร้างโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน 4 แห่ง ด้วยงบฯ 35,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568

ขณะที่ฟอร์ดมีแผนลงทุน 29,000 ล้านดอลลาร์ ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าและอื่น ๆ ภายในปี 2568

ด้านโตโยต้ามีแผนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวีในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ตั้งเป้าจะเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2568 และตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โตโยต้าจะเริ่มผลิตรถอีวีที่โรงงานในรัฐเคนตักกี้

โดยโตโยต้าจะมีการลงทุนเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้ารวมประมาณ 35,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573

“เซจิ ซูกิอุระ” นักวิเคราะห์อาวุโสของ Tokai Tokyo Research Center ระบุว่า การลงทุนมากกว่า 50% ของโตโยต้าจะอยู่ในสหรัฐ

ด้านฮอนด้าวางแผนลงทุนประมาณ 700 ล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงโรงงาน 3 แห่งในรัฐโอไฮโอ เพื่อผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และใช้งบฯลงทุน 4,400 ล้านดอลลาร์ ในโรงงานแบตเตอรี่อีวี ซึ่งร่วมทุนกับแอลจี เอ็นเนอยี จากเกาหลีใต้

การลงทุนอีวีของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่ราว 100,000 ล้านดอลลาร์ จะเน้นไปที่แบตเตอรี่ ซึ่งเป็นตัวกำหนดความสามารถการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้า

โดยองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกรวมถึงรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด จะสูงถึง 36.9 ล้านคันในปี 2573 ขณะที่สหรัฐคาดว่าจะมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่เพียงพอต่อการผลิตรถอีวี 13 ล้านคันในปี 2573 ซึ่งนั่นจะทำให้สหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของโลก

ปัจจัยที่มีส่วนอย่างมากในการดึงการลงทุนของสหรัฐ คือ “กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ” ซึ่งมีการเครดิตภาษีให้แก่ผู้ซื้อรถอีวีสูงถึง 7,500 ดอลลาร์ และมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการในการลงทุนสร้างห่วงโซ่อุปทานอีวีอย่างครบวงจรในสหรัฐ

การที่กฎหมายนี้ดึงดูดการลงทุนได้อย่างเห็นผล ทำให้ประเทศในสหภาพยุโรปและเอเชียกังวลอย่างมากว่า เงินลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะถูกดึงไปที่สหรัฐหมด

Transport and Environment องค์กร think tank ด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรป ได้ประมวลผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า กำลังการผลิตแบตเตอรี่ในยุโรปในปี 2573 มีความเสี่ยงที่จะลดน้อยลงถึง 2 ใน 3 จากที่คาดการณ์ ผลจากกฎหมายลดเงินเฟ้อของสหรัฐดึงดูดให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายไปลงทุนในสหรัฐแทน