เหตุใดม็อบนักศึกษาเรียกร้องปิด รง.เสื้อผ้าทุกแห่ง ประท้วงบังกลาเทศ 280 ศพ นายกฯหนีออกนอกประเทศ

REUTERS
ข้อมูลเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 5 ส.ค. 2567 เวลา 10.48 น. อัพเดตล่าสุดเมื่อ 17.20 น.

วันที่ 5 สิงหาคม 2024 “ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การประท้วงในบังกลาเทศ ซึ่งล่าสุดมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 90 รายในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4 สิงหาคม 2024) รวมถึงตำรวจ 13 ราย หลังจากตำรวจปะทะผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ท่ามกลางสถานการณ์การประท้วงที่เลวร้ายลง จนบานปลายเรียกร้องให้ชีคห์ ฮาสินา นายกรัฐมนตรีลาออก กระทั่งล่าสุดฮาสินาลาออกและหนีออกนอกประเทศ

ตามรายงานข่าวแจ้งว่า ฮาสินาและน้องสาวนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปยังสถานที่ปลอดภัย แต่ยังสรุปไม่ได้ว่า ฮาสินาหนีไปอยู่ที่ไหน ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า หนีไปประเทศอินเดีย ฝูงชนที่ล้อมบ้านพักนายกฯส่งเสียงเชียร์ เมื่อทราบข่าว

ก่อนหน้านี้ บีบีซีรายงานว่า การประท้วงเป็นความท้าทายต่อฮาสินา ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 ต่อเนื่องกัน ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งพรรคฝ่ายค้านหลักบอยคอตการเลือกตั้ง กลุ่มนักศึกษา Student Against Discrimination ซึ่งอยู่เบื้องหลังการประท้วงต่อต้านรัฐบาล เรียกร้องให้ประชาชนอย่าจ่ายภาษี หรือค่าสาธารณูปโภคใด ๆ นักศึกษายังเรียกร้องให้ปิดโรงงานรวมถึงบริการขนส่งมวลชนทั้งหมดรวมถึงโรงงานเสื้อผ้า อุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของประเทศ ด้านฮาสินากล่าวหลังหารือกับหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงว่า ผู้ประท้วงไม่ใช่นักศึกษา แต่คือผู้ก่อการร้ายที่ออกมาชุมนุมเพื่อทำให้ชาติไร้เสถียรภาพ

ในช่วงแรก ผู้ประท้วงต้องการให้รัฐบาลยกเลิกการสงวนโควตาตำแหน่งงานราชการ 1 ใน 3 ให้แก่ญาติทหารผ่านศึกในสมรภูมิสงครามเอกราชกับปากีสถานในปี 1971 แม้รัฐบาลลดโควตาส่วนใหญ่ลงแล้วในขณะนี้ แต่นักศึกษายังคงประท้วงต่อไป เรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้ประท้วงที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจนบานปลาย ถึงขณะนี้เรียกร้องให้ฮาสินาลาออก ก่อนหน้านี้ ฮาสินาเสนอการเจรจาอย่างไม่มีเงื่อนไขกับบรรดาผู้นำนักศึกษา โดยอยากให้ความรุนแรงยุติลง แต่นักศึกษาปฏิเสธ

เวิลด์ แฟ็กบุ๊ก ให้ข้อมูลโดยสรุประบุว่า บังกลาเทศหนึ่งในเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ที่โตเร็วที่สุดในโลก การฟื้นเศรษฐกิจเข้มแข็งหลังจากโควิด-19 ความยากจนลดลงอย่างมาก การส่งออกจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายมีความสำคัญอย่างมาก แต่การส่งออกและเงินส่งกลับบ้านที่อ่อนแอทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศตกต่ำลงและในปี 2022 ได้มีการขอกู้เงินจากกองทุนระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ นอกจากนี้ บังกลาเทศเป็นผู้ส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคติดหนึ่งในห้าของโลก เมื่อเทียบมูลค่าในสกุลดอลลาร์สหรัฐ

จากเหตุชุมนุม สมาคมผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าของบังกลาเทศ หรือ Bangladesh Garment Manufacturers and Exporters Association (BGMEA) เรียกร้องให้เจ้าของโรงงานในสมาคมปิดโรงงาน ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของแรงงาน จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป หลังจากมีม็อบโจมตีโรงงานอย่างน้อย 4 แห่ง

ADVERTISMENT

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าเป็นแหล่งรายได้หลักของเศรษฐกิจบังกลาเทศ และเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายระดับโลก ในปีงบประมาณ 2021-2022 บังกลาเทศส่งออกสิ่งทอมูลค่า 42,613 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เป็นผู้ส่งออกเครื่องแต่งกายรายใหญ่อันดับสองของโลก อ้างอิงจาก Export Promotion Bureau Data นอกจากนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นแหล่งจ้างงานและรายได้ที่สำคัญของบังกลาเทศ โดยมีประชาชนกว่า 4 ล้านคน ทำงานในเซ็กเตอร์นี้ และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2022 บังกลาเทศได้ส่งออกสินค้าสิ่งทอรวม 29,825 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 38.39 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021

สหรัฐเป็นปลายทางส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าสิ่งทอของบังกลาเทศ มีสัดส่วนราว 21.50 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมด ตามด้วยสหภาพยุโรปหรืออียู (สเปน เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์) สหราชอาณาจักรและแคนาดา

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศไทย ระบุว่า บังกลาเทศมีแหล่งก๊าชธรรมชาติจำนวนมากบริเวณอ่าวเบงกอล เป็นสมาชิก BIMSTEC MGC และมีบทบาทสำคัญใน OIC บังกลาเทศให้ความสำคัญกับไทยในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและ เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ออกประกาศเตือนคนไทยในบังกลาเทศหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมนุม เนื่องจากผู้ประท้วงปะทะตำรวจ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกว่า 1,000 ราย

ยอดรวมผู้เสียชีวิตตั้งแต่เริ่มประท้วงเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หรือราว 2 สัปดาห์ กว่า 280 ศพ จนถึงขณะนี้มีผู้ถูกจับกุมราว 10,000 คน สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 13 รายถูกสังหารเมื่อวันอาทิตย์ หลังจากประชาชนหลายพันคนบุกเข้าโจมตีสถานีตำรวจในเขตศิรัจกาน ทั้งตำรวจและผู้สนับสนุนพรรครัฐบาลใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ประท้วง อีกทั้งตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง

นายโฟคเคอร์ เทิร์ก ข้าหลวงใหญ่สำนักสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและเรียกร้องนักการเมืองบังกลาเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจอดทนอดกลั้น หยุดใช้กำลังปราบม็อบที่ชุมนุมโดยสันติ และปล่อยผู้ประท้วงที่เจ้าหน้าที่จับกุมโดยพลการ เปิดใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มที่ และสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการเจรจา