
ดร.มูฮัมหมัด ยูนูส ขึ้นเป็นหัวหน้ารัฐบาลรักษาการบังกลาเทศ ตามเสียงเรียกร้องของนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงต้องการให้รัฐบาลยกเลิกการสงวนโควตาตำแหน่งงานราชการ 1 ใน 3 ให้ลูกหลานทหารปลดแอกบังกลาเทศจากปากีสถานตะวันตก รัฐบาลฮาสินาปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 300 ราย จนเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นประท้วงต่อต้านรัฐบาล เรียกร้องให้ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีลาออก กระทั่งฮาสินา ลาออกและหนีออกนอกประเทศ ไปพำนักชั่วคราวในประเทศอินเดีย
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ นายสุนทร คุณชัยมัง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตและกรรมการมูลนิธิยูนูส ประเทศไทย ซึ่งมี ดร.มูฮัมหมัด ยูนูส เป็นประธานที่ปรึกษา ผู้บุกเบิกไมโครเครดิตและผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ยากไร้ เล่าประวัติและความเป็นนักเคลื่อนไหวของ ดร.ยูนูส พอสังเขป
อาจารย์เป็นนักเคลื่อนไหว
อาจารย์ยูนูสจบเศรษฐศาสตร์ทั้งปริญญาตรีตรีและเอก ระหว่างสอนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยจิตตะกอง ได้รับทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา เมื่อเรียนจบ สอนที่สหรัฐอเมริกาต่อราว 1-2 ปี เมื่อปากีสถานตะวันออก (บังกลาเทศ) ทำสงครามกับปากีสถานตะวันตก ปากีสถานตะวันออกต้องการแยกประเทศ อาจารย์เป็นหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาบังกลาเทศในสหรัฐอเมริกา สนับสนุนการแยกประเทศ เมื่อมีการแยกประเทศเสร็จสิ้น ผู้นำประเทศในขณะนั้น ซึ่งคือ พ่อของฮาสินา ดึงอาจารย์ยูนูสกลับมาจากอเมริกา เพื่อมาเป็นผู้บริหารฟื้นฟูประเทศคนใหม่ ซึ่งคล้ายตำแหน่งรองเลขาธิการสภาพัฒน์ของไทย
ในระหว่างที่ทำงาน มองว่า การวางแผนอย่างเดียวไม่พอ จึงขอกลับไปเป็นอาจารย์ จึงได้เป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจิตตะกอง จึงคิดว่า สอนหนังสือเมื่อไรจะแก้ปัญหาความยากจนได้ จึงพานักศึกษาเศรษฐศาสตร์ออกค่าย ระยะเวลาใกล้เคียงกับที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทำมูลนิธิอาสาสมัคร
เมื่อไปออกค่ายทำโครงการนาปันสาม คือว่า เอาพื้นที่นาที่ชาวบ้านไม่ได้ทำนา ปล่อยทิ้งร้างไว้ เอาชาวบ้านที่ไม่มีที่นาแต่มีแรงงานมาเป็นแรงงาน เอาเงินและโครงการจากมหาวิทยาลัยไปสมทบ ทำนาได้เอาข้าวไปขาย เมื่อขายได้เอาเงินมาแบ่งปัน 3 ส่วน คือ งานในโครงการ 1-2 ปีแรก จึงคิดว่าเมื่อไร จะแก้ปัญหาความยากจนได้ กว่าจะรวมกลุ่มได้ กว่าจะทำนี่นั่น ต้องแบ่งคืนเจ้าของที่ดินอีก 1 ส่วน ซึ่งไม่พอ จึงทำไมโครเครดิต
ไมโครเครดิตลดจน 40%
ไมโครเครดิต คือการเอาชาวบ้านรายย่อยมารวมกัน เก็บหอมรอบริบด้วยกัน เอาเงินที่มีให้กู้ในกลุ่มด้วยกันเอง เริ่มต้นเอาเงินของอาจารย์มาให้กู้ก่อน ซึ่งเป็นเงินไม่กี่บาท แต่สามารถทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ จึงเอาโครงการไปเสนอขอกู้ธนาคาร ขยายสเกลได้ งานของอาจารย์สามารถขยับขยายไปยังกลุ่มชุมชนได้ 94 เปอร์เซ็นต์ของชุมชนชนบทบังกลาเทศทั่วประเทศ เมื่อธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ศึกษาดูแล้วพบว่า วิธีการดำเนินการของอาจารย์ทำให้ปัญหาความยากจนในประเทศลดลง 40 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้บังกลาเทศมีองค์กรที่ให้ไมโครเครดิตในลักษณะเดียวกับอาจารย์อีก 2-3 องค์กร
โครงการของอาจารย์ยูนูสโฟกัสคนจนที่ต่ำกว่าเส้นยากจน เช่น ขอทานไม่ต้องมีดอกเบี้ย เอาเงินเล็กน้อย 3-4 พันบาทให้มีงานทำ เป้าหมายเพื่อให้มีงานทำ เนื่องจากมองว่างานเลี้ยงตัวได้ เมื่อปี 2008 ชักชวนเอกชน จากนั้นปี 2018 เขียนหนังสือ A World of Three Zeros นำเสนอการทำธุรกิจแบบ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Zero emission) ลดความยากจนให้เป็นศูนย์ ลดปัญหาการว่างงานให้เป็นศูนย์ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เสร็จแล้วเคลื่อนไหว ทำให้ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นศ.ไม่พอใจ รัฐบาลเน้นโรงงานทอผ้า ไม่มีมูลค่าเพิ่ม
อาจารย์สุนทรเล่าต่อว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลเดิมไม่ได้มองปัญหาแบบนี้ รัฐบาลฮาสินาทะเลาะกับอาจารย์ยูนูส อาจารย์ถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน ฐานละเมิดกฎหมายแรงงาน ไม่จัดตั้งกองทุนสวัสดิการพนักงาน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เมื่อความสัมพันธ์เป็นในลักษณะคู่กัดกันมา ตอนที่มีปัญหา อาจารย์ยูนูสอยู่ต่างประเทศ ปล่อยให้ขบวนการเคลื่อนไหว พอกลับมาประเทศ (ผมยังแปลกใจที่อาจารย์ได้กลับมา) นักศึกษา ปัญญาชน กลุ่มคนจน ชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นกลุ่มการเมือง เป็นแรงหนุนอาจารย์
สาเหตุของปัญหานำไปสู่การประท้วงใหญ่ของนักศึกษา หนึ่ง นายกรัฐมนตรีฮาสินาในขณะนั้น ฟื้นระบบโควตาเดิมที่เป็นระบบแรงงานตำแหน่งงานภาครัฐ ทำให้นักศึกษาจบใหม่ไม่มีงานทำ สอง เศรษฐกิจของรัฐบาลเดิมไม่ได้ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับกระแสโลก ซึ่งรัฐบาลเดิมส่งเสริมโรงงานทอผ้า ส่งเสริมงานที่ไม่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งหมดเวลาไปแล้ว
อาจารย์เป็นนักเคลื่อนไหว ในบรรดานักเศรษฐศาสตร์ อาจารย์อมาตยา เสน (ผู้คว้ารางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์) เป็นคนที่มีความคิดเรื่องสวัสดิการ อาจารย์ยูนูส (ผู้คว้ารางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ) เป็นคนที่เชี่ยวชาญเรื่องไมโครเครดิต ซึ่งต่างเป็นชาวเบงกาลีเหมือนกัน ต่างแต่เพียงว่า อาจารย์อมาตยา เสน เป็นชาวเบงกาลีที่ประเทศอินเดีย แต่อาจารย์ยูนูสเป็นชาวเบงกาลีที่อยู่บังกลาเทศ
“ไม่ว่าการเขียนหนังสือ หรือสื่อสารผ่านสื่อใด ๆ อาจารย์ยูนูสพูดเสมอว่า อย่าไปพูดภาษายากให้ยากกว่า พูดภาษายากให้เข้าใจได้ และให้พูดภาษาที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ ให้เข้าใจ ไม่เคยใช้ภาษายาก ๆ อย่างปรัชญา” นายสุนทรกล่าว
ปีนี้มูลนิธิยูนูส ประเทศไทย วางแผนจะทำไมโครไฟแนนซ์ในไทย ซึ่งคือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับคนจน เรียกเก็บดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคาร แต่ต่ำกว่าดอกเบี้ยนอกระบบ สำหรับขอทานดอกเบี้ยเป็นศูนย์ ซึ่งในอาเซียน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์กำลังทำอยู่
หนทางข้างหน้า
ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ยูนูส เป็นนักธุรกิจและนายธนาคารเพื่อสังคม ซึ่งชนะรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ สำหรับการบุกเบิกงานไมโครไฟแนนซ์ช่วยยกระดับความยากจนในบังกลาเทศ และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลก ผู้วิพากษ์วิจารณ์อดีตนายกฯฮาสินา มาอย่างยาวนาน ซึ่งปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม
เกิดในปี 1940 ในเมืองจิตตะกอง เมืองท่า ศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรมในประเทศบังกลาเทศ เรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธากา ก่อนได้รับทุนฟุลไบรท์เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ สหรัฐอเมริกา จนจบการศึกษา Ph.D. ด้านเศรษฐศาสตร์ ต่อมาในปี 1972 หนึ่งปีหลังจากบังกลาเทศได้เอกราชจากปากีสถาน ดร.ยูนูสกลับไปสอนที่มหาวิทยาลัยจิตตะกอง ไม่นานก็เกิดภาวะอดอยากทั่วบังกลาเทศ ประชาชนราว 1.5 ล้านคนได้รับผลกระทบ
“ผมพบว่า ยากที่จะสอนทฤษฎีหรูหราของเศรษฐศาสตร์ในห้องเรียนมหาวิทยาลัย โดยมีฉากหลังเป็นภาวะยากจนในบังกลาเทศทั่วประเทศ ในทันที ผมรู้สึกถึงความว่างเปล่า ไร้ประโยชน์ของทฤษฎีในยามที่ต้องเผชิญความอดอยาก หิวโหยและยากจน” ยูนูสกล่าว ในการบรรยายเรื่องรางวัลโนเบลปี 2006 หลังจากได้รับรางวัลและว่า “ผมต้องการลงมือทำอะไรสักอย่างในทันที เพื่อช่วยคนรอบตัว แม้ว่าเป็นมนุษย์เพียงคนเดียว เพื่อให้ผ่านไปได้อีก 1 วัน ด้วยความโล่งใจขึ้นอีกสักเล็กน้อย”
หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ มองยูนูสและธนาคารกรามีน แบงก์ ด้วยความสงสัย และแย้งว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงของผู้ปล่อยสินเชื่อแก่รายเล็กบางคนทำให้ผู้กู้ยืมยากจน เนื่องจากผู้ให้กู้ยืมทำกำไรก้อนโตจากเงินให้กู้ยืมก้อนเล็ก ๆ แต่ยูนูสโต้ว่า ธนาคารกรามีนไม่ได้มุ่งหาเงิน แต่เพื่อช่วยคนจนและเสริมพลังธุรกิจขนาดย่อม
ยูนูสกล่าวกับซีเอ็นเอ็นก่อนได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลรักษาการ ประเทศบังกลาเทศ กล่าวว่า ต้องการให้กองทัพคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือน และกล่าวโจมตีฮาสินา โดยกล่าวว่า “ฮาสินาทรมานเรา และทำให้ประเทศนี้เป็นที่ที่ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้สำหรับประชาชน”
นายมูบาชาร์ ฮาซาน ซึ่งศึกษาลัทธิอำนาจนิยม มหาวิทยาลัยออสโล กล่าวว่า ความท้าทายแรกของยูนูส คือ ต้องฟื้นกฎหมายและระเบียบขึ้นมาใหม่ หลังจากการประท้วงนองเลือด และเพื่อแก้ความไว้วางใจที่ลดลง ซึ่งยังคงมีอยู่ในสังคม ระหว่างประชาชนและรัฐ รวมถึงความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อตำรวจ ตุลาการและสถาบันของรัฐอื่น ๆ หลังจากรัฐบาลของนายกฯฮาสินาในขณะนั้น ปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 300 ราย