ญี่ปุ่น ใช้ AI ในอุตสาหกรรมอนิเมะและมังงะ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน-เพิ่มผลิตภาพ

นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ Shukan Shonen Champion ออกการ์ตูน Black Jack ตอนใหม่ที่ใช้ AI ช่วยสร้าง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 ภาพโดย เอเอฟพี
นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ Shukan Shonen Champion ออกการ์ตูน Black Jack ตอนใหม่ที่ใช้ AI ช่วยสร้าง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 ภาพโดย เอเอฟพี

อุตสาหกรรมคอนเทนต์ของญี่ปุ่น ทั้งแอนิเมชั่นและการ์ตูนมังงะกำลังเปิดรับ AI มาปรับใช้เพื่อเสริมผลิตภาพทางการผลิตให้สูงขึ้น ทั้งการแปลภาษาและสร้างภาพประกอบ โดยรัฐบาลเตรียมสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมปรับใช้ AI มากขึ้นในอนาคต ท่ามกลางข้อกังวลการคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงาน

วันที่ 19 สิงหาคม 2024 นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นของญี่ปุ่นกำลังเปิดรับศักยภาพของ Generative AI หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Gen AI เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ เพื่อหยุดยั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก แม้จะมีข้อกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้สร้างสรรค์อยู่มากก็ตาม

โดยเมื่อปีที่ผ่านมา เคแอนด์เคดีไซน์ (K&K Design) เผยว่าใช้ Gen AI ในขั้นตอนการทำงานลงสีและวาดภาพพื้นหลัง ซึ่งสามารถลดเวลาวาดภาพพื้นหลังจาก 1 สัปดาห์ลงมาเหลือแค่ 5 นาทีได้

ฮิโรชิ คาวาคามิ (Hiroshi Kawakami) ผู้อำนวยการบริษัทเคแอนด์เคดีไซน์ กล่าวว่า จำเป็นต้องทำงานโดยใช้ Gen AI เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานขณะที่ต้องรักษาคุณภาพของการผลิตไว้ด้วย

การเติบโตของสตรีมมิ่งอนิเมะผ่านอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน ได้เรียกร้องให้การผลิตมีคุณภาพและความเร็วในมาตรฐานที่สูงมาก และการขาดแคลนแรงงานเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ต้องใช้ Gen AI 

ตามข้อมูลจากสมาคมแอนิเมชั่นญี่ปุ่น (Association of Japanese Animations-AJA) รายงานว่า อุตสาหกรรมอนิเมะญี่ปุ่น มีมูลค่าตลาดทั่วโลกอยู่ที่ 2.9 ล้านล้านเยนในปี 2022 (ราว 6.78 แสนล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนหน้า 

Advertisment

ถึงแม้อย่างนั้น การขยายตัวของตลาดถูกรั้งไว้ ส่วนหนึ่งเนื่องด้วยค่าจ้างที่ต่ำและชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน

ในแบบสำรวจแรงงานอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นโดยสมาคมอนิเมะและภาพยนตร์ญี่ปุ่น (Nippon Anime & Film Cultural Association) พบว่า 38% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีรายได้ต่อเดือนจากงานที่เกี่ยวกับอนิเมะต่ำกว่า 200,000 เยน (ราว 47,000 บาท) ชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 219 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าเวลาทำงานปกติถึง 1.3 เท่า

Advertisment

การมอบหมายงานบางส่วนให้กับ AI อาจช่วยให้มนุษย์สามารถจดจ่ออยู่กับการวางแผนและการออกแบบตัวละครได้ ซึ่งผลิตภาพที่สูงขึ้นอาจนำไปสู่การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น ขณะที่การเพิ่มความหลากหลายของงานอาจช่วยเสริมการส่งออกไปยังต่างประเทศ

ทั้งนี้ AI ยังช่วยในเรื่องการแปลภาษา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการทำการค้ากับต่างประเทศ ออเรนจ์ (Orange) สตาร์ตอัพ AI ได้พัฒนาเทคโนโลยีซึ่งช่วยเพิ่มความเร็วในการแปลมังงะมากถึง 10 เท่า และได้รับเงินร่วมลงทุนจากกองทุนซึ่งร่วมกับบรรษัทการลงทุนแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Investment Corporation)

ผู้บริหารกองทุนกล่าวเกี่ยวกับการลงทุนในออเรนจ์ว่า เป็นโครงการที่จะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น

คาดว่าในญี่ปุ่นมีงานมังงะประมาณ 700,000 ชิ้นงาน แต่กลับมีเพียง 14,000 ชิ้นงานเท่านั้นที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ออเรนจ์ยังพิจารณาถึงการขยายบริการไปยังประเทศที่พูดภาษาสเปนและอินเดีย ที่ซึ่งมีผู้อ่านจำนวนมาก

บริษัทผู้ผลิตเว็บตูนเอ็นดอลฟิน (En-dolphin) กำลังพัฒนา Gen AI ที่สามารถสร้างภาพประกอบโดยเรียนรู้จากผลงานของศิลปินมังงะในอดีต ด้วยการมอบสคริปต์หรือภาพร่างคร่าว ๆ ระบบสามารถสร้างผลงานที่มีรูปแบบและองค์ประกอบเหมือนกับผลงานของศิลปินต้นฉบับได้

รัฐบาลยังได้ส่งเสริมให้มีการใช้ AI ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์อีกด้วย โดยในเดือนกรกฎาคม กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry) เผยแพร่แนวทางการปรับใช้ AI ให้กับบริษัทเกมและแอนิเมชั่น

แนวทางดังกล่าวระบุว่า Gen AI สามารถส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตเนื้อหาได้หลายแง่มุม ซึ่งในอนาคต รัฐบาลจะพิจารณามอบเงินอุดหนุนและการช่วยเหลืออื่น ๆ แก่บริษัทที่ใช้ AI โดยหวังว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยแก้ปัญหาแรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้

แต่การพัฒนา AI อย่างรวดเร็วก็มีความเสี่ยงเช่นกัน มีความกังวลว่าผลงานของญี่ปุ่นจะถูกนำไปรวมเข้ากับโมเดล AI ในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาจนำไปสู่การเลียนแบบ

อย่างไรก็ตาม ก็มีกลุ่มนักวาดภาพประกอบชาวญี่ปุ่นมากกว่า 10,000 รายชื่อ ได้ออกมาเรียกร้องให้มีข้อกฎหมายปกป้องผู้สร้างสรรค์ผลงานในปีที่ผ่านมา