สื่อใหญ่หลายสำนักของสหรัฐ ตั้งแต่ เดอะ วอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) เดอะ นิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) ซีเอ็นเอ็น (CNN) เผยแพร่บทความและข้อโต้แย้งของนักเศรษฐศาสตร์ที่เคยทำงานให้พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันจำนวนหนึ่ง ต่อนโยบายหาเสียงทางเศรษฐกิจของนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 สิงหาคม 2024) แสดงความไม่เห็นด้วย เรียก “นโยบายประชานิยมเพ้อฝัน” “กิมมิก ประชานิยม” “สิ่งนี้ไม่ใช่นโยบายที่ฉลาดมีเหตุมีผล”
กองบรรณาธิการ เดอะ วอชิงตันโพสต์ เผยแพร่บทบรรณาธิการตอนหนึ่งว่า “น่าเสียดาย แทนที่จะนำเสนอแผนงานที่สำคัญ แฮร์ริสกลับใช้ช่วงเวลานี้ไปกับกลอุบายประชานิยม” ก่อนจะสรุปปิดท้าย “…คำปราศรัยของแฮร์ริสในวันศุกร์ก็ยังถือว่าน่าผิดหวัง”
บทบรรณาธิการวอชิงตันโพสต์ ระบุว่า เห็นได้ชัดว่าชาวอเมริกันยังคงวิตกกังวลและโกรธแค้นเกี่ยวกับราคาอาหาร ที่อยู่อาศัย และแม้แต่บิ๊กแม็คราคา 5.29 ดอลลาร์ ซึ่งถือว่า ราคาสูงทีเดียว แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเย็นลงอย่างมากแล้ว ตั้งแต่แตะจุดสูงสุดในปี 2022 ซึ่งเป็นความสำเร็จอย่างชัดเจนของรัฐบาลไบเดน-แฮร์ริส แต่ราคายังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง ดังนั้น นี่จึงเป็นประเด็นทางการเมืองที่แท้จริงสำหรับแฮร์ริส
วิธีหนึ่งที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้ก็คือ การพูดคุยกับผู้มีสิทธิออกเสียง วอชิงตันโพสต์เสนอ โดยบอกโหวตเตอร์ว่า อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในปี 2021 โดยหลักแล้วเป็นเพราะการระบาดใหญ่ที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานเสียหาย และนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งฝ่ายบริหารของไบเดน-แฮร์ริสสนับสนุน กำลังทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง รองประธานาธิบดีกลับเลือกใช้วิธีที่ตรงไปตรงมาน้อยกว่า นั่นคือการโยนความผิดให้ธุรกิจขนาดใหญ่ แฮร์ริสให้คำมั่นว่าจะจัดการกับ “การขึ้นราคาสินค้าเกินควร” หรือ Price Gouging โดยร้านขายของชำ เจ้าของที่ดิน บริษัทยา และบริษัทอื่น ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิด โดยเสนอให้คณะกรรมาธิการการค้ากลางบังคับใช้ “การห้ามขึ้นราคาสินค้าเกินควร” ของรัฐบาลกลาง
“โชคดีที่การเสี่ยงครั้งนี้ของแฮร์ริสได้รับการตอบรับอย่างไม่ไว้วางใจทันที โดยนักวิจารณ์หลายคนอ้างถึงการควบคุมราคาที่ล้มเหลวของประธานาธิบดีริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 …” กอง บ.ก.วอชิงตันโพสต์กล่าว
สำหรับ นโยบายประชานิยมอีกข้อ เงินช่วยเหลือดาวน์บ้านครั้งแรกที่แฮร์ริสเสนอ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 857,000 บาท ที่กระตุ้นด้านอุปสงค์ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกดดันราคาให้สูงขึ้น มาตรการดังกล่าวอาจสมเหตุสมผล หากแฮร์ริสจ่ายเงินช่วยเหลือเงินดาวน์ โดยยกเลิกเงินอุดหนุนด้านที่อยู่อาศัยในฝั่งดีมานด์อื่น ๆ เช่น การหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง ซึ่งเป็นการสูญเสียรายได้ของรัฐบาลกลางปีละประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1 ล้านล้านบาท ซึ่งประโยชน์ไปตกกับชาวอเมริกันที่ร่ำรวยหลายคน แต่แฮร์ริสก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น
ราคาอาหารเพิ่มขึ้นกว่า 20% ภายใต้การบริหารของไบเดน คนอเมริกันต้องกำแบงก์ดอลลาร์จำนวนมากขึ้นไปซื้อในร้านชำ นโยบายแฮร์ริสแบนการโก่งราคาสินค้าทั่วทั้งอุตสาหกรรมอาหาร กำหนดโทษใหม่ สำหรับบริษัทที่ฉวยโอกาส/เป็นนักฉวยโอกาสแสวงหาความได้เปรียบจากวิกฤตและละเมิดกฎ
นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยกล่าวว่า ข้อเสนอของแฮร์ริส อาจเป็นการสร้างปัญหามากกว่า ความพยายามที่จะแก้ปัญหา
ซีเอ็นเอ็นเผยแพร่ความเห็นของนายกาวิน โรเบิร์ต คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวเบอร์ สเตต ซึ่งศึกษากฎหมายต่อต้านการโก่งราคาสินค้า ซึ่งบางรัฐได้ผ่านกฎหมายฉบับนี้ในระหว่างการระบาดของโควิด-19 หนึ่งในผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดที่โรเบิร์ตสังเกต โดยเฉพาะในร้านขายของชำคือ กฎหมายเหล่านี้จูงใจให้คนจะไปซื้อสินค้า หากราคาสูงขึ้น ในกรณีส่วนใหญ่นโยบายที่ดีที่สุดคือ “ไม่ทำอะไร” กล่าวคือการไม่ทำอะไรจะทำให้ผู้บริโภคที่ไม่สามารถซื้อเนื้อวัวในราคาสูงได้ หันไปซื้อเนื้อสัตว์ หรือโปรตีนอื่น ๆ แทน ส่งผลทำให้เนื้อวัวในร้านขายของมีไว้สำหรับคนที่ต้องการเนื้อวัวมากพอที่จะยอมจ่ายในราคาที่สูง
แฮร์ริสกล่าวว่า “จะช่วยอุตสาหกรรมอาหารแข่งขันกันมากขึ้น” โรเบิร์ตแย้งว่ามันจะให้ผลตรงกันข้าม มีแนวโน้มจะยังคงรักษาสถานะเดิม เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดการแข่งขันจากผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้ามาแข่ง เพื่อชิงความได้เปรียบ เห็นว่าทำกำไรก้อนโตได้มากกว่า สอดคล้องกับรายงานของเดอะ นิวยอร์กไทมส์ นายเจสัน เฟอร์แมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สมัยรัฐบาลโอบามา ระบุว่า กฎหมายต่อต้านการโก่งราคาสินค้าอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยไม่ได้ตั้งใจ “สิ่งนี้ไม่ใช่นโยบายที่ฉลาด มีเหตุมีผล” และผมคิดว่าความหวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือลงเอยจบที่วาทศิลป์มากมาย และไม่เกิดขึ้นจริง นายโรเบิร์ตแนะนำว่า แฮร์ริสควรตรวจสอบว่ามีปัจจัยใด หรืออะไร ขัดขวางผู้เล่นรายใหม่ ๆ จากการเข้ามาในอุตสาหกรรมอาหารที่มีผู้เล่นน้อยรายนี้
วาระทางเศรษฐกิจของรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส สำหรับการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี กล่าวโทษบริษัทโก่งราคาสินค้า ทำให้ราคาของชำสูง ตัวแทนพรรคเดโมแครตส่งสารถึงโหวตเตอร์ในรัฐสะวิงสเตต (Swing State) ที่คะแนนระหว่างสองพรรคสูสี
แต่ข้อโต้แย้งทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับประเด็นนี้มีความซับซ้อน นักเศรษฐศาสตร์อ้างถึงปัจจัยหลายประการที่ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นในช่วงที่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการระบาดใหญ่ ได้แก่ ห่วงโซ่อุปทานที่มีปัญหา การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันของรูปแบบการซื้อของผู้บริโภค และความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่กล่าวว่า ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนต้องรับผิดชอบมากกว่าพฤติกรรมของบริษัทต่าง ๆ ที่ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
แผนอื่น ๆ ของแคมเปญหาเสียงของแฮร์ริสก็ต้องเผชิญกับคำถามเช่นกัน เนื่องจากต้นทุนที่ต้องจ่ายจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการประมาณการบางส่วน ตัวอย่างเช่น ข้อเสนอในการเพิ่มเครดิตภาษีสำหรับเด็กเป็น 3,600 ดอลลาร์ หรือราว 123,000 บาท ซึ่งรัฐสภาได้ดำเนินการชั่วคราวระหว่างการระบาดใหญ่และเลือกที่จะไม่ขยายเวลาออกไป
“ปัญหาที่ผู้คนไม่เห็นด้วยก็คือ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลง แต่ราคาก็ยังคงสูงขึ้น และนั่นเป็นเรื่องจริง แต่ราคาสูงขึ้นเนื่องมาจากกลไกตลาดทำงานโดยธรรมชาติ” ศาสตราจารย์ไมเคิล ซาลิงเจอร์ ศาสตราจารย์ด้านตลาด นโยบายสาธารณะ และกฎหมายจากเควสตรอม สคูล ออฟ บิสซิเนส (Questrom School of Business) มหาวิทยาลัยบอสตัน กล่าวผ่านบีบีซี
การขยายกฎหมายต่อต้านการตั้งราคาสินค้าเกินราคาดังกล่าวอาจส่งผลเสียได้ เนื่องจากทำให้บริษัทต่าง ๆ ไม่กล้าผลิตสินค้าเพิ่มในช่วงที่สินค้าขาดแคลน และหัวข้อนี้เคยถูกพูดถึงเมื่อครั้งตนดำรงตำแหน่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ คณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกาในสมัยจอร์จ ดับเบิลยู. บุช “การพยายามขัดขวางกลไกตลาดก็เหมือนกับการพยายามหยุดกระแสน้ำ” ซาลิงเจอร์กล่าวเสริม “คุณทำไม่ได้หรอก”
ไมคาห์ โรเบิร์ตส์ ผู้สำรวจความคิดเห็นประเด็นด้านเศรษฐกิจให้สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี (CNBC) และหุ้นส่วนของบริษัทพับลิก โอพีเนียน สแทรททิจีส (Public Opinion Strategies) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นความท้าทายสำหรับพรรคเดโมแครต โดยตั้งข้อสังเกตว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีประวัติยาวนานในการไว้วางใจโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน และพรรครีพับลิกันในประเด็นทางเศรษฐกิจมากกว่า โดยพบว่าทรัมป์ยังคงมีคะแนนนำนางแฮร์ริสอย่างมากในประเด็นดังกล่าว