เวียดนาม รถไฟใต้ดินสายแรก ติดกับดัก ลุ้นเปิดบริการทันสิ้นปีนี้ หลังล่าช้ากว่าแผนเกือบ 10 ปี

พนักงานยืนอยู่หน้าทางเข้าสถานีรถไฟฟ้าสายก๊าตลิญ-ฮาดง
พนักงานยืนอยู่หน้าทางเข้าสถานีรถไฟฟ้าสายก๊าตลิญ-ฮาดง ภาพโดย เอเอฟพี

รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของเวียดนาม เผชิญสถานการณ์ยากลำบาก แม้กำหนดเปิดให้บริการภายในสิ้นปี 2024 หลังล่าช้ากว่าเป้าหมายมานาน จนเกิดข้อพิพาทมากมายกับทางบริษัทญี่ปุ่น ผู้รับเหมาก่อสร้างที่มองว่า ต้องแบกรับต้นทุนบานปลาย จากความล้าช้า

วันที่ 22 สิงหาคม นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่ารถไฟใต้ดินสายแรกของเวียดนามในนครโฮจิมินห์ มีกำหนดเปิดให้บริการภายในสิ้นปีนี้ แม้การก่อสร้างจะมีความล่าช้า จนฮิตาชิ (Hitachi) บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างจากญี่ปุ่นเรียกเงินชดเชยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมา ด้วยการยื่นฟ้องเทศบาลนครโฮจิมินห์ต่ออนุญาโตตุลาการ

รายละเอียดโครงการ โครงการรถไฟใต้ดินสาย 1 ของนครโฮจิมินห์ ออกแบบให้เชื่อมต่อสถานีเบนถั่น (Ben Thanh) ทำเลใจกลางเมือง (หรือที่รู้จัก ตลาดเบนถั่นเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ) เข้ากับชานเมืองทางทิศตะวันออก ระยะทาง 19.7 กิโลเมตร เดิมมีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงกลางทศวรรษ 2010 แต่ด้วยการดำเนินงานที่ล่าช้าออกไป ทำให้กำหนดการเปิดให้บริการในขณะนี้อยู่ที่ปลายปี 2024 

สำหรับแหล่งที่มาเงินทุนของโครงการ มาจากความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (ODA) จากรัฐบาลญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2007 ถึงปี 2023 และลงเงินไปแล้วประมาณ 200,000 ล้านเยน (ราว 47,000 ล้านบาท) 

ฮิตาชิบริษัทผู้รับเหมาเผยถึงความคืบหน้าโครงการว่า ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขบวนรถไฟสามารถวิ่งได้ทุกช่วงตลอดสาย และขณะนี้ ทางบริษัทสามารถจัดการฝึกอบรมและทดสอบระบบที่จำเป็นสำหรับการเปิดเส้นทางเดินรถได้แล้ว

ปัญหาความล้าช้าในขั้นตอนการบริหารจากการก่อสร้างที่ยาวนานขึ้น จึงต้องจ่ายค่าจ้างคนงานและค่าวัสดุมากขึ้น ทำให้ต้นทุนของโครงการเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจากแผนเดิม ฮิตาชิยื่นเสนอข้อพิพาทต่อศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเวียดนาม (Vietnam International Arbitration Center) ในปี 2023 โดยเรียกเงินค่าเสียหายประมาณ 24,000 ล้านเยน (ราว 5,600 ล้านบาท) เนื่องจากเทศบาลนครโฮจิมินห์ปฏิเสธที่จะจัดตั้งคณะอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาท 

Advertisment

ทางการนครโฮจิมินห์กล่าวกับนิกเคอิว่า การเรียกร้องของฮิตาชิไม่มีมูลทางกฎหมาย (Legal Basis) และสื่อท้องถิ่นในเวียดนามกล่าวหาฮิตาชิว่า บริษัทฮิตาชิเองเป็นสาเหตุของความล่าช้า นอกจากนี้ เทศบาลนครโฮจิมินห์ยังมีข้อพิพาทกับองค์กรร่วมทุนระหว่างบริษัทซูมิโมโตะ คอร์ป. (Sumitomo Corp.) ของญี่ปุ่นและบริษัทก่อสร้างวิศวกรรมโยธาหมายเลข 6 (Cienco 6) ของเวียดนามในการก่อสร้างรถไฟฟ้าแบบยกระดับด้วยเช่นกัน โดยเทศบาลนครโฮจิมินห์มองว่าการมีข้อพิพาทกับผู้รับเหมาในการก่อสร้างถือเป็นเรื่องปกติ 

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตามกรอบ ODA เช่น ทางหลวงและสะพานในเวียดนาม มากกว่า 3 ล้านล้านเยน (ราว 7 แสนล้านบาท) อย่างไรก็ตาม เวียดนามมองว่าขั้นตอน ODA ของญี่ปุ่นมีความยุ่งยากและแพงกว่าการกู้ยืมธนาคารพาณิชย์

Advertisment

เวียดนามต้องการให้ญี่ปุ่นสนับสนุนในการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด 7 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 2.4 ล้านล้านบาท) แต่การดึงดูดการลงทุนจากบริษัทญี่ปุ่นอาจเป็นเรื่องยาก เพราะเวียดนามมีข้อพิพาทในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอยู่ทั่วประเทศ จากการบริหารงานที่ไม่โปร่งใสของพรรคคอมมิวนิสต์และการแย่งชิงอำนาจภายในพรรค