รัฐบาลญี่ปุ่นติดตามผลนโยบายเปิดเผยความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชาย-หญิง (Gender Pay Gap) ในบริษัทใหญ่ ปรากฏว่าล้มเหลวที่จะทำให้ช่องว่างค่าจ้างแคบลง สะท้อนจากบริษัทใหญ่มีช่องว่างค่าจ้างมากที่สุด และการใช้นโยบายดังกล่าวเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ
วันที่ 29 สิงหาคม 2024 บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า นโยบายเปิดเผยช่องว่างของค่าจ้างระหว่างชาย-หญิง ที่รัฐบาลญี่ปุ่นบังคับใช้กับบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 300 คนในปี 2022 เพื่อส่งเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของผู้หญิง และดึงผู้หญิงเข้าสู่ที่ทำงานมากขึ้น เมื่อผ่านไป 2 ปีพบว่า มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะในบริษัทที่มีเงินเดือนสูงที่สุด มีระดับเงินเดือนชายและหญิงห่างกันมากที่สุด
บลูมเบิร์กวิเคราะห์บริษัทที่มีมูลค่าตลาดใหญ่สุด 100 อันดับแรกของญี่ปุ่น พบว่ามีเพียง 70 แห่งที่เปิดเผยข้อมูลย้อนหลัง 2 ปี และมีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นที่ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศดีขึ้นกว่าเดิม 5% ซึ่งบ่งชี้ว่าการเปิดเผยค่าจ้างอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนสถานการณ์ที่เป็นอยู่เดิม และควรปรับใช้วิธีการอื่น ๆ ในการปรับปรุง
ตามข้อมูลปี 2022 ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่าโดยเฉลี่ยแล้ว พนักงานหญิงในญี่ปุ่นมีรายได้น้อยกว่าพนักงานชายประมาณ 21% ซึ่งห่างกันมากเมื่อเทียบกับ 14% ในสหราชอาณาจักร และเดนมาร์กที่น้อยกว่า 6%
บทบาททางเพศยังคงฝังรากลึกในญี่ปุ่น แม้ว่ากฎหมายการจ้างงานที่ไม่เลือกปฏิบัติจะบังคับใช้ผ่านมาประมาณ 40 ปีแล้ว แต่จำนวนผู้จัดการที่เป็นเพศหญิงในญี่ปุ่นยังคงต่ำอย่างน่าตกใจ โดยกรรมการบริหารหญิงในญี่ปุ่นมีเพียง 15.5% เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่า 40.9% ในสหราชอาณาจักร และ 31.3% ในสหรัฐอเมริกาอย่างมาก
โยโกะ โอสึ (Youko Ootsu) เจ้าหน้าที่อาวุโสสำนักงานเพื่อการจ้างงานอย่างเสมอภาค กระทรวงแรงงานกล่าวว่า การที่ผู้หญิงในญี่ปุ่นได้รับค่าจ้างน้อยกว่า อาจดึงดูดแรงงานต่างชาติให้มาทำงานที่ญี่ปุ่นน้อยลง
เดือนมีนาคม 2024 คีย์เอนซ์ (Keyence) บริษัทผลิตอุปกรณ์อัตโนมัติในโรงงานและเป็นบริษัทที่มีเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุดในญี่ปุ่น เงินเดือนของพนักงานหญิงคิดเป็น 41.5% ของเงินเดือนพนักงานชาย แย่กว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อย
บางบริษัทอ้างว่าเพราะพนักงานสัญญาจ้างส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และผู้จัดการอาวุโสที่เป็นผู้หญิงก็มีจำนวนน้อย จึงทำให้ช่องว่างค่าจ้างยังคงอยู่
โยโกะ ยาจิมะ (Yoko Yajima) หัวหน้านักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายที่สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษามิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (Mitsubishi UFJ) กล่าวว่า ชั่วโมงการทำงานที่สั้นกว่ามีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อช่องว่างค่าจ้างระหว่างชายและหญิง ผู้หญิงมักจะต้องแบกรับภาระงานบ้านและเลี้ยงดูลูกเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ต้องลดชั่วโมงการทำงานลง ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทหลายแห่งยังไม่มีวิธีการประเมินและมอบหมายงานให้แก่พนักงานที่มีชั่วโมงทำงานสั้นลงอย่างเหมาะสม และมักมอบหมายงานที่ง่ายและมีผลกระทบน้อยให้แทน
บริษัทบางแห่งได้เริ่มแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว ด้วยการยืดหยุ่นให้กับพนักงานที่ลาเลี้ยงดูลูกมากขึ้น รวมทั้งวิธีการอื่น ๆ เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ประวัติเงินเดือนเป็นจุดอ้างอิง และการฝึกอบรมเกี่ยวกับอคติโดยไม่รู้ตัว
ฝ่ายรัฐบาลได้ร้องขอให้หลายบริษัทที่มีช่องว่างค่าจ้างสูง ส่งแผนงานเพื่อปรับปรุงสถานการณ์ให้กับภาครัฐภายในสิ้นปีนี้ จำนวนบริษัทที่ต้องเปิดเผยช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นาโอโกะ โทจิบายาชิ (Naoko Tochibayashi) หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของญี่ปุ่นที่สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เขียนในรายงานเมื่อปี 2023 ว่า เพื่อเปลี่ยนทัศนคติและปิดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศให้หมดไป ต้องมีการดำเนินการเชิงรุกมากกว่านี้