เศรษฐกิจสหรัฐ Q2 ขยายตัวเพิ่ม 3% การใช้จ่ายผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

ร้านของชำในรัฐวอชิงตัน
ร้านของชำในรัฐวอชิงตัน ภาพโดย รอยเตอร์ส

เศรษฐกิจสหรัฐ Q2 โตขึ้นเล็กน้อย 3% จากที่คาดการณ์ไว้ 2.8% สะท้อนการบริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งชดเชยกิจกรรมอื่น ๆ ที่อ่อนแอ

วันที่ 30 สิงหาคม 2024 บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ (Bureau of Economic Analysis) ปรับตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) จากเดิมที่ประมาณการไว้ 2.8% สะท้อนให้เห็นถึงการบริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งชดเชยกิจกรรมอื่น ๆ ที่อ่อนแอ โดยการใช้จ่ายผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% เมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อนที่ 2.3%

รายงานอีกฉบับของรัฐบาลระบุว่า จำนวนผู้ยื่นคำร้องขอสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยอยู่ที่ 231,000 ราย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Treasury Yield) เพิ่มขึ้น และอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับดัชนีเอสแอนด์พี 500 (Index Future S&P 500) ยังคงสูงขึ้น ในขณะที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

ตัวชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง ซึ่งก็คือรายได้รวมในประเทศ (Gross Domestic Income-GDI) ประมาณการไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.3% เท่ากับที่เพิ่มในไตรมาสแรก ในขณะที่จีดีพี (GDP) วัดการใช้จ่ายภาคสินค้าและบริการ จีดีไอ (GDI) วัดรายได้ที่สร้างขึ้นและต้นทุนที่เกิดจากการผลิตสินค้าและบริการเดียวกันนั้น ค่าเฉลี่ยของวิธีวัดการเติบโตทั้งสองอยู่ที่ 2.1%

การเติบโตชะลอตัวลงในปีนี้ หลังจากที่โตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 นักพยากรณ์มองว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงต่อไปในช่วงที่เหลือของปี 2024 เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจ ในเวลาเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เตรียมที่จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน เนื่องจากเงินเฟ้อชะลอตัวลง ซึ่งอาจช่วยบรรเทาภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากต้นทุนการกู้ยืมได้บ้าง เช่น ภาคที่อยู่อาศัยและภาคการผลิต

การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนการขยายตัวของการซื้อสินค้าและบริการ โดยภาคส่วนที่เพิ่มขึ้นได้แก่ การดูแลสุขภาพ ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค และสันทนาการ

ADVERTISMENT

ในขณะเดียวกัน สำนักงานสถิติแห่งชาติ (BEA) ได้ปรับลดการใช้จ่ายของภาคธุรกิจลง สินค้าคงคลัง การส่งออกสุทธิ การลงทุนด้านที่อยู่อาศัย และค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ทั้งหมดนี้ถูกปรับลดลงเช่นกัน

ข้อมูล GDI ในไตรมาสที่สอง ตัวเลขกำไรของบริษัทที่ปรับแล้วก่อนหักภาษีเพิ่มขึ้น 1.7% กำไรหลังหักภาษี ซึ่งเป็นส่วนแบ่งมูลค่าเพิ่มรวม (Gross Value Added) ของบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และใช้วัดอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) เพิ่มขึ้นเป็น 15.4% ในไตรมาสที่ 2 จาก 15.2% ในช่วงไตรมาสก่อนหน้า

ADVERTISMENT

การอภิปรายเกี่ยวกับกำไรของบริษัท (Corporate Profits) กลายเป็นประเด็นสำคัญในช่วงหาเสียง โดยรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต เสนอมาตรการใหม่สำหรับครัวเรือนโดยไม่คำนึงถึงอัตรากำไร (Margins) เธอกำลังเรียกร้องให้เก็บภาษีบริษัทและบุคคลที่มีรายได้สูงเพิ่มขึ้น ขณะที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้คำมั่นว่าจะลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในด้านเงินเฟ้อ ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditures-PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดที่เฟดชอบใช้ (มีขอบข่ายของสินค้าและบริการที่ใช้คำนวณต่างไปจาก CPI เช่น ไม่นับรวมอาหารและพลังงาน) เพิ่มขึ้นในอัตรา 2.5% ต่อปีในไตรมาสที่ 2 ลดลงเล็กน้อยจากคาดการณ์ครั้งก่อน มาตรวัด PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 2.8% น้อยกว่า 2.9% จากประมาณการครั้งก่อน

นักเศรษฐศาสตร์กำลังรอคอยข้อมูล PCE ของเดือนกรกฎาคมที่จะเผยแพร่ในวันที่ 30 สิงหาคม ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

เมื่อไม่นานนี้ เจ้าหน้าที่เฟดได้ระบุว่าพวกเขาให้ความสนใจไปยังตลาดแรงงานมากกว่าเดิม ตามอาณัติสองประการจากเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างมากในขณะนี้ ประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าธนาคารกลางไม่ต้องการให้ตลาดแรงงานชะลอตัว