บริษัทจีนจ่อเทขายสินทรัพย์ 1 ล้านล้านดอลลาร์ หลัง “เฟด” หั่นดอกเบี้ย

china_sale
A Chinese bank employee counts US dollar bills at a bank counter in Nantong in China's eastern Jiangsu province on August 6, 2019. The Chinese currency steadied on August 6, a day after Beijing let the yuan weaken against the dollar, sending markets into freefall and leading the US to formally designate China a "currency manipulator". (Photo by AFP) / China OUT
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ภายหลังจาก “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ส่งสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เฟดจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรกในการประชุมเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของสหรัฐกับจีนแคบลง ทำให้นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าจะทำให้บริษัทจีนที่เคยถือครองสินทรัพย์ดอลลาร์สหรัฐเอาไว้เพราะให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินหยวน อาจเทขายสินทรัพย์ดอลลาร์สหรัฐอย่างมหาศาล

ตามรายงานของบลูมเบิร์กระบุว่า สตีเฟน เจิ้น ประธานบริหารของ Eurizon SLJ Capital ในลอนดอน คาดการณ์ว่า หากเฟดลดดอกเบี้ยอาจทำให้บรรดาบริษัทจีนเกิดแรงจูงใจที่จะขายสินทรัพย์ดอลลาร์มากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจำนวนของมันมากเทียบได้กับ “หิมะถล่ม” และเงินเหล่านี้ก็จะไหลกลับไปยังจีน อันจะมีผลให้เงิน “หยวน” แข็งค่าระหว่าง 5-10% ซึ่งเป็นระดับที่รัฐบาลจีนยอมรับได้

เจิ้นประเมินว่า นับจากโควิด-19 ระบาด บริษัทจีนน่าจะมีการลงทุนสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์สหรัฐไว้ในต่างประเทศ (ออฟชอร์) มากถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินหยวน แต่เมื่อเฟดจะลดดอกเบี้ย แรงดึงดูดที่จะลงทุนดอลลาร์อาจน้อยลง

และนั่นก็อาจจะเกิดการขายสินทรัพย์ดอลลาร์ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นอย่างน้อย ขณะเดียวกัน เชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยแรงกว่าที่ตลาดคาดหมายถ้าหากเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง

การลดดอกเบี้ยของเฟดที่จะเร่งให้บริษัทจีนเทขายสินทรัพย์ดอลลาร์ บวกกับเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าเกินจริง ผสมกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลการคลัง หรือที่เรียกว่าขาดดุลแฝดของสหรัฐ และเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงหรือซอฟต์แลนดิ้ง ทำให้เจิ้นมั่นใจว่าจะเป็นสาเหตุให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ผลลัพธ์ก็คือ “เงินหยวนจะแข็งค่า” ขึ้น อย่างที่จะเห็นได้ว่าในวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา เงินหยวนซื้อขายในตลาดจีนอยู่ที่ 7.12 หยวนต่อดอลลาร์ จากที่เคยอ่อนค่ามาตลอดที่ระดับ 7.28 หยวนต่อดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม และอาจแข็งค่ามากกว่านี้ หากธนาคารกลางจีนไม่ยอมดูดซับสภาพคล่องดอลลาร์

“มีแรงกดดันที่จะทำให้เงินหยวนแข็งค่ารออยู่แล้ว หากสันนิษฐานว่าครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนต่างประเทศของบริษัทจีนเหล่านี้เป็นเงินที่พร้อมจะยักย้ายถ่ายเทเมื่อใดก็ตามที่ได้รับแรงกระตุ้นจากภาวะตลาด หรือนโยบายต่าง ๆ ก็หมายถึงว่าเงินจำนวน 1 ล้านล้านดอลลาร์ พร้อมจะเผ่นหนีแบบแตกตื่น” เจิ้นระบุและว่า

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม การเทขายสินทรัพย์ดอลลาร์จะยังไม่เกิดขึ้นทันทีหลังเฟดลดดอกเบี้ย แต่อาจจะเกิดขึ้นต่อเมื่อการอ่อนค่าของดอลลาร์เร่งตัวขึ้นจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มจะซอฟต์แลนดิ้ง

มุมมองของเจิ้น สอดคล้องกับ “กวน เต๋า” นักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ ออฟ ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งชี้ว่า ค่าเงินหยวนมีความเสี่ยงที่จะพุ่งขึ้น ถ้าหากเกิดสถานการณ์คล้าย ๆ กับที่นักลงทุน “ปิดสถานะ” การทำ “เยน แครี่ เทรด” หรือที่เรียกว่า Unwind Yen Carry Trade หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่นขึ้นดอกเบี้ยและเงินเยนแข็งค่าขึ้น จนทำให้มีการเทขายสินทรัพย์ดอลลาร์อย่างหนักเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อนำเงินไปคืนเงินกู้สกุลเยน

ADVERTISMENT

“หากมีการ Unwind เงินหยวน ที่นักลงทุนกู้มาเพื่อลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ ก็จะก่อคลื่นความตระหนกตกใจลูกใหม่ให้กับตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดเอเชีย” เต๋าระบุ

อย่างไรก็ตาม เจิ้นเชื่อว่าธนาคารกลางจีนสามารถควบคุมไม่ให้เกิดความโกลาหลมากเกินไป เพราะรัฐบาลจีนมักจะระวังไม่ให้เงินหยวนแข็งค่ามากเกินไป เพราะจะลดความสามารถการแข่งขันส่งออกและส่งผลเสียต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในภาวะซึมเซาอยู่แล้ว

ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า การเกิด Unwind Yuan Carry Trade นั้น หากเกิดขึ้นในช่วงเงินหยวนอ่อนค่าน่าจะสมเหตุสมผลกว่า เมื่อพิจารณาจากพื้นฐานเศรษฐกิจแบบผสมผสานของจีน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากส่วนต่างผลตอบแทนของหยวนกับดอลลาร์ที่ยังคงกว้าง แม้ในระยะหลังนี้ผลตอบแทนดอลลาร์จะหดตัวลงก็ตาม ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ อาจจะยังไม่เทขายเงินตราต่างประเทศที่พวกเขาถือครองอยู่ในเวลาอันใกล้นี้

ตามการประเมินของแมคควอรี บริษัทให้บริการการเงินระดับโลก เชื่อว่าผู้ส่งออกจีนได้สะสมและถือครองดอลลาร์สหรัฐไว้ประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ นับจากปี 2022