หุ้นผวา “เฟด” หั่นดอกเบี้ย 0.5% กระตุ้น Unwind “เยน” รอบใหม่

FED
บรรยากาศในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE)/ บันทึกภาพเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2024 (Photo by ANGELA WEISS / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

หลังจากตลาดหุ้นโลกดิ่งรุนแรงไปเมื่อต้นเดือนสิงหาคม จากฤทธิ์การเทขายสินทรัพย์ดอลลาร์สหรัฐของนักลงทุนที่กู้ยืมเงินสกุล “เยน” ของญี่ปุ่นมาลงทุน หรือที่เรียกว่า unwind yen carry trade เพื่อนำเงินไปคืนเงินกู้สกุลเยน หลังจากเงินเยนแข็งค่าขึ้น เพราะธนาคารกลางญี่ปุ่นขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งในช่วงนั้นมีนักวิเคราะห์หลายคนออกมาเตือนว่า การ unwind ยังไม่สะเด็ดน้ำ อาจยังมียอดคงค้างเหลืออีกมาก โดยอาจมีการ unwind อีกครั้งเมื่อมีปัจจัยมากระตุ้น

ล่าสุด “เคธี เหลียน” กรรมการผู้จัดการด้านกลยุทธ์อัตราแลกเปลี่ยนของ บีเค แอสเซต แมเนจเมนต์ ชี้ว่าการ unwind yen carry trade ครั้งใหญ่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนกันยายน เนื่องจากประเมินว่าผลตอบแทนของสินทรัพย์ดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มจะต่ำลง และนั่นก็จะผลักดันให้เงินเยนแข็งค่ามากขึ้น

“ตอนนี้เรามีภาวะกลัวความเสี่ยงทั่วตลาดเงิน และจะนำไปสู่การ unwind บรรดานักค้าเงินเยนจะจับตาดูราคาหุ้นท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐที่พบกับอุปสรรค เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ที่อาจจะเห็นการ unwind อย่างรุนแรงแบบเดือนสิงหาคม หากว่ามีการเทขายหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ” เหลียนระบุ และว่าปกติแล้วกันยายนมักจะเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนอยู่แล้ว เนื่องจากปัจจัยด้านฤดูกาลหลังจากสิ้นสุดฤดูร้อน

ก่อนหน้านี้ “ริชาร์ด เคลลี” หัวหน้ากลยุทธ์ระดับโลกของ ทีดี ซีเคียวริตี้ส์ บอกว่า เมื่อดูจากเงินเยนที่ยังต่ำกว่ามูลค่าจริงอยู่มาก ตนคิดว่ายังมีเหลืออีกมากที่รอการ unwind ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่า การ unwind เดือนสิงหาคม อาจมีมูลค่ามากถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์

เยนเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ถูกนำไปทำ carry trade มากที่สุดในโลก เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้นโยบายดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ไปจนถึงติดลบเป็นเวลานานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในการประชุมวันที่ 18 กันยายน ยังถูกจับตามอง ว่าอาจจะส่งผลกระทบด้านลบต่อตลาดหุ้นสหรัฐอีกด้วย เพราะจะเกี่ยวพันกับการ unwind yen carry trade โดยเฉพาะหากเฟดลดดอกเบี้ยแรงเกินไป

ADVERTISMENT

ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญของบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐทำผลงานได้ยอดแย่ที่สุดสำหรับสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน โดยลดลงมากถึง 4.25% ตลอดสัปดาห์ ซึ่งนักสังเกตการณ์ชี้ว่า ไม่บ่อยนักที่ดัชนีดังกล่าวจะเริ่มต้นสัปดาห์แรกด้วยผลงานที่ย่ำแย่ขนาดนี้ ที่ผ่านมามีเพียง 4 ครั้งที่ดัชนีลดลงเกิน 2.5% ในสัปดาห์แรกของเดือน ส่วนสาเหตุแท้จริงนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าเกิดจากอะไร

นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าเป็นเพราะนักลงทุนกลัวว่าเฟดเคลื่อนไหวช้าเกินไปในการลดดอกเบี้ย ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังแย่ลง ส่วนคนอื่น ๆ เชื่อว่าเป็นเพราะตลาดมีการปรับมุมมองมูลค่าหุ้นที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ไมเคิล วิลสัน นักกลยุทธ์หุ้นของมอร์แกน สแตนลีย์ เชื่อว่าเกิดจากทั้งสองอย่าง ดังนั้น นักลงทุนก็จะเริ่มตั้งคำถามว่า ในเมื่อเศรษฐกิจอ่อนแอ โดยเฉพาะเมื่อดูจากตัวเลขการจ้างงานล่าสุด ถ้าเฟดลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมวันที่ 18 กันยายน จะเพียงพอไหม

แต่วิลสันเตือนว่า ใครก็ตามที่คิดอยากให้เฟดลดดอกเบี้ยมากถึง 0.5% ต้องระวังว่าหากลดมากเกินไปอย่างรวดเร็วจะเป็นเหตุให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น และส่งผลด้านลบต่อสินทรัพย์ดอลลาร์ เพราะนักลงทุนที่กู้เงินเยนมาลงทุนอาจเทขายสินทรัพย์ดอลลาร์ ดังนั้น ในระยะสั้นตลาดหุ้นจะยังผันผวนเพิ่มขึ้น

ขณะที่ผลการสำรวจล่าสุดของรอยเตอร์ ซึ่งสอบถามนักเศรษฐศาสตร์ 101 คน พบว่าส่วนใหญ่ 92 คนเชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยเพียงครั้งละ 0.25% ตลอดการประชุมที่เหลืออยู่ของปีนี้ เพราะหากดูจากคำพูดของกรรมการเฟดบางคนไม่ได้มีการส่งสัญญาณว่าจะต้องมีการลดมากถึง 0.5% ถึงแม้ตัวเลขการจ้างงานล่าสุดจะอ่อนตัวลง แต่ไม่ได้เลวร้าย ขณะเดียวกัน จะสังเกตเห็นว่าเฟดประเมินเศรษฐกิจไปในทิศทางค่อนข้างดี