
ท่าเรือเมืองสีหนุวิลล์ของกัมพูชา จะขยายขีดความสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์อีกราว 5 เท่าภายในปี 2030 คาดจะกลายเป็นประตูเชื่อมเศรษฐกิจโลก ทำให้ส่งสินค้าได้โดยตรง ด้วยความช่วยเหลือในรูปแบบเงินให้กู้ยืมจากญี่ปุ่น
นิกเคอิ เอเชีย รายงานเมื่อวันที่ 19 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่นญี่ปุ่นว่า ท่าเรือเมืองสีหนุวิลล์จะขยายขีดความสามารถขึ้นอีกเกือบ 5 เท่า ภายในปี 2030 จะกลายเป็นประตูเชื่อมเศรษฐกิจกัมพูชาเข้ากับเศรษฐกิจโลกโดยตรง ด้วยความช่วยเหลือและสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น
เมืองสีหนุวิลล์เป็นแหล่งที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกเพียงแห่งเดียวของกัมพูชา รองรับการขนตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเลของประเทศสัดส่วน 70 % และตามข้อมูลกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟระบุว่า เศรษฐกิจกัมพูชาตามหลังชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ แต่จีดีพีต่อหัวจะเกิน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 99,000 บาทในปี 2026 บ่งชี้ว่าการค้ากำลังเติบโต ซึ่งหลัก ๆ มาจากการส่งออก
รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มเงินให้กู้ยืมในโครงการท่าเรือรวมกว่า 80,000 ล้านเยน หรือราว 18,000 ล้านบาท มาตั้งแต่ปี 1999 โครงการที่เสร็จสมบูรณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ขยายขีดความสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มอีกราว 80% เมื่อเทียบกับปี 2023 โดยโครงการอัพเกรดส่วนของท่าเทียบเรือตู้คอนเทนเนอร์และรถเครนเคลื่อนที่ ทำให้ขณะนี้ท่าเรือสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต จำนวน 1 ล้านตู้ต่อปี และภายในปี 2030 โครงการขยายท่าเทียบเรือ 3 เฟสนี้คาดว่า จะสามารถรองรับตู้ขนสินค้าเพิ่มสู่ 2.63 ล้านตู้ หรือทีอียู (หน่วยของตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต) หรือเกือบ 5 เท่าของปี 2023 จากนั้นท่าเรือจะเชื่อมโดยตรงกับท่าเรือโลก โดยไม่มีข้อจำกัดด้านความลึก
นายฮุน มาเน็ต นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวสรุปสุดท้ายในพิธีเสร็จสิ้นโครงการส่วนขยาย เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ระบุว่า การสร้างโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งจะช่วยให้ประเทศมีเสถียรภาพและศักยภาพเพิ่มขึ้นในอนาคต ด้านเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชากล่าวว่า ท่าเรือสีหนุวิลล์เป็นใจกลางความร่วมมือญี่ปุ่นและกัมพูชาเสมอ
ประตูเชื่อมเศรษฐกิจโลก
นายเลา กิม ชุน ประธานและซีอีโอ ผู้ดำเนินงานท่าเรืออัตโนมัติสีหนุวิลล์ระบุว่า จากปัจจุบันสินค้าจำนวนมากของกัมพูชาส่งออกผ่านไทยและเวียดนาม แต่ท่าเรือสีหนุวิลล์จะกลายเป็นประตูเชื่อมเศรษฐกิจกัมพูชาเข้ากับเศรษฐกิจโลกโดยตรงและหากกัมพูชา สามารถส่งออกสินค้าโดยตรงออกจากสีหนุวิลล์ได้ จากนั้นจะทำให้กัมพูชาสามารถลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงของเศรษฐกิจ
ภาคการผลิตของกัมพูชาขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมการเย็บอย่างมาก ซึ่งใช้แรงงานค่าจ้างถูก การส่งออกทางท่าเรือส่วนใหญ่จึงเป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้าและเครื่องรองเท้า รัฐบาลกัมพูชามุ่งที่จะเปลี่ยนประเภทสินค้าที่บรรทุกทางเรือไปเป็นรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม
กัมพูชาหันไปร่วมมือกับญี่ปุ่น เนื่องจากหลายบริษัทญี่ปุ่นทำธุรกิจที่ท่าเรือสีหนุวิลล์ ยกตัวอย่าง รถบรรทุกจากอิซูซุมอเตอร์บรรทุกเครนของท่าเรือที่ผลิตโดยบริษัทมิตซุย อีแอนด์เอส รวมถึงระบบการประมวลข้อมูลสำหรับการดำเนินงานของท่าเรือ สร้างโดยบริษัทเอ็กซ์ซีโอ กรุ๊ป อีกทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษติดกับท่าเรือได้รับการพัฒนาด้วยความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นอีกเช่นกัน โดยอีออน มอล ห้างค้าปลีกรายใหญ่ตั้งศูนย์โลจิสติกส์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ ซึ่งไม่เพียงรองรับสินค้าสำหรับอีออน มอลในกรุงพนมเปญ แต่ยังรวมถึงสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนไปยังสิงคโปร์และไทยด้วย ตลอดจนโลจิสติกส์สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์และสินค้าอื่น ๆ จากบริษัทลูกค้า
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นประโยชน์ต่อกัมพูชาในด้านอื่น ๆ อีก เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โตโยต้า มอเตอร์ กรุ๊ปเริ่มดำเนินงานที่โรงงานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ในกรุงพนมเปญ ผลิตรถโตโยต้าขายในประเทศก่อน แต่รัฐบาลกัมพูชามุ่งไปไกลกว่า ตั้งเป้าส่งออกรถยนต์ในอนาคต นอกจากนี้ บ๊อช ซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์ สัญชาติเยอรมันแสดงความสนใจสร้างโรงงานในกัมพูชาด้วย
ฮุน มาเน็ตกล่าวอีกว่า ท่าเรือสีหนุวิลล์ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ท่าเรือ แต่ยังเป็นฮับโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคด้วย และเพื่อดึงดูดการลงทุน กัมพูชาจำเป็นต้องพัฒนาเครือข่ายคมนาคมเชื่อมกรุงพนมเปญและพื้นที่อุตสาหกรรมอื่น ๆ เข้าด้วยกัน ถนนทางหลวงเชื่อมเมืองสีหนุวิลล์ไปยังกรุงพนมเปญได้รับเงินทุนจากจีน เหมือนกับโครงการคลองฟูนัน เตโช ซึ่งเริ่มงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลอาวุโสของกัมพูชาระบุว่า การลงทุนจากจีนเพียงลำพังนั้นก็พอแล้ว แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตต้องการการลงทุนจากญี่ปุ่นและชาติตะวันตกด้วย