
ไทยเสี่ยง ดร.อาร์มมอง จีนทุ่มสุดตัวไหลทุนไปอาเซียน และซีกโลกใต้ ชี้ทรัมป์เอาจริง พลิกระเบียบโลกใหม่ ด้วยวิธีคิดพิสดาร
วันที่ 26 มีนาคม 2568 ที่ห้องฉัตรา บอลรูม โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ อาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร เผยในเวทีสัมมนา “NEXT MOVE Thailand 2025 ตามหาโอกาส…โลกป่วน เกมเปลี่ยน” จัดโดย ประชาชาติธุรกิจ เกี่ยวกับสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบันว่า แท้จริงแล้วเป็นการแข่งขันกันระหว่างจีนและสหรัฐ และการพลิกกลับของโลกาภิวัตน์
โลกาภิวัตน์พลิกกลับ
ดร.อาร์มพูดถึงระเบียบโลกจากเดิมที่ดำเนินภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ซึ่งมีการค้าเสรีที่เอื้อให้ประเทศต่าง ๆ สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างไร้พรมแดน และช่วยให้ประเทศรายเล็กมีความได้เปรียบในการผลิต ด้วยต้นทุนที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม สหรัฐเชื่อว่าหากปล่อยให้กระแสเป็นเช่นนี้ต่อไป จีนจะร่ำรวยแซงหน้าสหรัฐในที่สุด
ดังนั้น เพื่อขัดขวางความก้าวหน้าของจีน ทรัมป์ไม่ต้องการสู้ด้วยวิธีตามขนบการค้าเสรี และหันมาใช้ท่าพิสดารผ่านมาตรการกีดกันทางการค้าแทน เพราะเชื่อว่าจะเอาชนะจีนได้ด้วยวิธีนี้ แม้การค้าโลกจะหดตัวลง และแม้ทุกประเทศจะจนลงเหมือนกันหมด แต่ทรัมป์เชื่อว่าสหรัฐจะเจ็บน้อยสุด และประเทศที่เจ็บหนักที่สุดคือจีน
ขนบใหม่ วิธีคิดใหม่
บรรดากลุ่มชนชั้นนำทั้งสามในสังคม ได้แก่ นักการเมือง เทคโนแครต และนักธุรกิจ ดร.อาร์มเชื่อว่าปัจจุบัน สหรัฐกำลังถูกนำโดยนักธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่นักธุรกิจแบบขนบเดิม แต่มีวิธีคิดใหม่ ๆ เช่น อีลอน มัสก์ (Elon Musk) และสก็อต เบสเซนต์ (Scott Bessent)
นอกจากทำให้จีนเจ็บหนักแล้ว ทรัมป์ยังต้องการเปลี่ยนแปลงโลกด้วย ซึ่งไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงนิด ๆ หน่อย ๆ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการค้าโลก ตามที่แสดงในเอกสาร ‘คู่มือการปฏิรูประบบการค้าโลก’ (A User’s Guide to Restructuring the Global Trading System) ซึ่ง สตีเฟน มิแรน (Stephen Miran) ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ (Council of Economic Advisers) ของทรัมป์เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024
ดร.อาร์มกล่าวว่า ในเอกสารดังกล่าว เต็มไปด้วยไอเดียพิสดารมากมาย นอกจากมาตรการภาษี ไม่ว่าจะเป็นการออกพันธบัตรถาวรไม่มีดอกเบี้ยให้ประเทศพันธมิตรถือ โดยมีเป้าหมายเพื่ออ่อนค่าสกุลเงินดอลลาร์ในระยะยาว ซึ่งทรัมป์มีกลยุทธ์ให้ประเทศต่าง ๆ ชินชากับความผันผวนและความตื่นตระหนก
ไหนจะเป้าหมายเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ และช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจผ่าน ‘นโยบาย 3-3-3’ ซึ่งได้แก่ หนึ่ง เพิ่ม GDP 3% ต่อปี สอง ลดการขาดดุลงบประมาณให้เหลือ 3% ของจีดีพี และสาม ขุดน้ำมันเพิ่ม 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ตาม มีข้อสงสัยตามมาด้วยเช่นกันว่าทรัมป์จะทำได้จริงหรือไม่ ดร.อาร์มสำทับว่า นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ทำตลาดหุ้นสหรัฐตกมากสุดในประวัติศาสตร์ แต่เขาก็ยังอยู่รอดปลอดภัยดี ปัจจุบัน ชาวอเมริกันจะต้องเผชิญกับช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งทรัมป์จะชดเชยผลกระทบผ่านมาตรการลดภาษีในประเทศ สอง ลดต้นทุนพลังงานผ่านการขุดเจาะน้ำมันที่เพิ่มขึ้น สาม บริหารเศรษฐกิจให้อ่อนตัวลงเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ แม้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายจะประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสถดถอยสูงถึง 40%
ก้าวต่อไปของจีน
ระเบียบโลกแบบเดิม ตามกระแสโลกาภิวัตน์ สหรัฐเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของโลก ส่วนจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตาม เมื่อสหรัฐต้องการจะพึ่งพาจีนให้น้อยลงและผลิตสินค้าเองแล้ว คำถามที่ตามมาคือ จีนจะขายสินค้าให้ใครแทน
ขณะที่สหรัฐต้องการแก้ปัญหาด้านอุปทาน ปัจจุบัน ปัญหาหลักของจีนกลับเป็นอุปสงค์ที่ซบเซา หากดูการประชุมสองสภาที่ผ่านมาของจีน จีนตั้งเป้าการเติบโต 5% และตั้งเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณใหม่เป็น 4% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 30 ปี และบอกชัดเจนว่า เป้าหมายหลักของปีนี้คือการกระตุ้นการบริโภค
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ในจีน และมีนัยสำคัญมหาศาลต่อก้าวต่อไปของประเทศไทย คือ จีนกำลังทุ่มสุดตัวให้กับ 2 สิ่ง หนึ่งคือด้านเทคโนโลยี ได้แก่ โซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ และรถยนต์อีวี (EV) ซึ่งปัจจุบันจีนกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่แล้ว มากกว่านั้น ดร.อาร์มชี้ว่าเทคโนโลยีใหม่ชิ้นต่อไปของจีน คือ Humanoid Robot ที่กำลังจะมาในอีก 2 ปีข้างหน้า
ไม่เพียงเท่านั้น จีนยังทุ่มสุดตัวให้ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และซีกโลกใต้ (Global South) ซึ่ง ทุนจีนและสินค้าจีนจะมีการไหลทะลักท่วมตลาดที่รุนแรงขึ้นในยุคทรัมป์ 2.0
ทรัมป์เอาจริงหรือแค่ขู่
ดร.อาร์มกล่าวว่า หลายคนอาจจะยังไม่เชื่อว่าคราวนี้ทรัมป์เอาจริง ไม่ใช่แค่ขู่ ดร.อาร์มชี้ว่าให้ตั้งตารอมาตรการภาษีใหม่ในวันที่ 2 เมษายนนี้ ซึ่งทรัมป์เรียกว่าเป็นวัน ‘ประกาศอิสรภาพ’ (Liberation Day) อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยตามมาอีกว่า สหรัฐจะทำร้ายตัวเองด้วยมาตรการภาษีทำไม ไม่กลัวนานาชาติเลิกคบอย่างนั้นหรือ
ดร.อาร์มชี้แจงว่า มาตรการภาษีไม่ได้เป็นเรื่องหายนะสำหรับสหรัฐ แถมยังช่วยให้ตลาดหุ้นสหรัฐได้มีการปรับฐาน ซึ่งทรัมป์รู้จังหวะเร่ง จังหวะผ่อนให้ตลาดหุ้นได้ปรับตัว ไหนจะแผนกดต้นทุนพลังงาน รวมถึงมาตรการลดภาษีคนในประเทศ สหรัฐจึงไม่ได้รับผลกระทบเงินเฟ้อมากนัก
นอกจากจะไม่เสียหายแล้ว สหรัฐยังมองว่าตัวเองเป็นประเทศผู้ซื้อรายใหญ่สุดของโลก ไม่ว่าอย่างไร ประเทศอื่น ๆ จะต้องยอมโอนอ่อนอยู่แล้ว ตามวลีลูกค้าถูกเสมอ
ทั้งนี้ ดร.อาร์มมองว่า สหรัฐจะยังคงเป็นลูกค้าที่ยินดีซื้อสินค้าในระดับราคาที่เห็นว่าเหมาะสม เพียงแต่จะเลิกทำตัวเป็นนักบุญ หรือนักวิชาการที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ และคอยรักษาระเบียบโลกอีกต่อไป
สุดท้ายนี้ สถานการณ์ปัจจุบันซึ่งดูเหมือนว่ากระแสโลกกำลังหมุนไปทางขวา ดร.อาร์มทิ้งท้ายว่าแท้จริงแล้ว เป็นการหมุนตรงข้ามกับขั้วอำนาจเดิมต่างหาก