วิกฤต “ตลาดเกิดใหม่” กลับมาป่วนโลกอีกครั้ง

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

 

ภายหลังจากตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) เกิดปัญหาเงินอ่อนค่าอย่างมาก โดยเฉพาะล่าสุดก็คือกรณีเงินลีราของประเทศตุรกี ซึ่งร่วงลงไป 40% นับจากต้นปีนี้ ภายหลังจากพิพาทกับสหรัฐและถูกสหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าเพื่อลงโทษ และยังซ้ำด้วยปัญหาของอาร์เจนตินา ที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐานสูงถึง 60% เพื่อพยุงค่าเงินและสกัดปัญหาเงินเฟ้อ พร้อมทั้งเร่งรัดขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทำให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์เริ่มกังวลมากขึ้นว่า “วิกฤตตลาดเกิดใหม่” อาจจะกลับมาอีกรอบ

อันที่จริงบรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่เริ่มตกอยู่ภายใต้แรงกดดันนับตั้งแต่ปี 2556 เมื่อสหรัฐเริ่มลดขนาดของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือคิวอี หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และแรงกดดันนั้นมากขึ้นเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เงินทุนทยอยไหลกลับสหรัฐ

เมื่อปี 2556 มอร์แกน สแตนลีย์ ได้จัดให้ตลาดเกิดใหม่ 5 ประเทศอยู่ใน “กลุ่มเปราะบาง 5 ประเทศ” หรือ Fragile Five ได้แก่ บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี และแอฟริกาใต้ เนื่องจากมีปัญหาคล้ายกัน คือ ค่าเงินอ่อนค่ารุนแรง ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง และการเมืองในประเทศไร้เสถียรภาพ จึงมีความเปราะบางกว่าใครเมื่อถูกกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายการเงินในสหรัฐ

สัตยจิต แดส อดีตนายธนาคารและถูกบลูมเบิร์กจัดให้เป็น 1 ใน 50 คนที่ทรงอิทธิพลทางการเงินของโลกชี้ว่า ขณะนี้เราอาจกำลังประสบกับวิกฤตของตลาดเกิดใหม่ในเชิงตำรานั่นก็คือ หลายประเทศมีหนี้สูง เกิดฟองสบู่

สินเชื่อมีการใช้เงินลงทุนไปในโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือเก็งกำไร มีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นสูง ภาคธนาคารอ่อนแอ ขาดดุลงบประมาณและดุลบัญชีเดินสะพัด ทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอ

โดยจะเห็นว่ามีตลาดเกิดใหม่จำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยงนอกเหนือจากตุรกีและอาร์เจนตินา เพราะตลาดเกิดใหม่โดยรวมมีการกู้ยืมเพิ่มขึ้นจาก 21 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 145% ของจีดีพี

ในปี 2550 ไปเป็น 63 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 210% ของจีดีพีในปี 2560 ขณะที่หนี้ต่างประเทศในรูปดอลลาร์ ยูโร และเยนของประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวไปอยู่ที่ 9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งต้องชำระหนี้หรือรีไฟแนนซ์ประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปีหน้า และอีกครั้งในปี 2563 ซึ่งหลายประเทศอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้

สัตยจิตระบุว่า จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เม็กซิโก แอฟริกาใต้ บราซิล และบางประเทศในยุโรปตะวันออก มีหนี้ต่างประเทศระหว่าง 20-50% ของจีดีพี

ทั้งตุรกีและอาร์เจนตินาขาดดุลแฝดหรือขาดดุลงบประมาณและดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมกันในสัดส่วน 8.7 และ 10.4% ของจีดีพีตามลำดับ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน ขณะที่บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ ยูเครน ขาดดุลเกิน 5% และตัวเลขยังสูงขึ้นอีกในประเทศจีน มาเลเซีย เม็กซิโก โคลอมเบีย ชิลี โปแลนด์

เมื่อหันมาดูทุนสำรองระหว่างประเทศพบว่า ตุรกีและอาร์เจนตินามีเพียง 0.4 และ 0.6 เท่า ของภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอ ส่วนจีนนั้นแม้จะมีทุนสำรองสูง 3.1 เท่า หรือ 3 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ส่วนใหญ่แล้วเงินจะถูกใช้ไปในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตุรกีและอาร์เจนตินาแสดงให้เห็นความอ่อนแอที่ถูกซ่อนอยู่ ความอ่อนแอนั้นถูกเผยออกมาเมื่อสภาพคล่องทั่วโลกเริ่มตึงตัวขึ้น หลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยและลดการซื้อพันธบัตร ลดการไหลเวียนของเงินทุน และเพิ่มต้นทุนการกู้ยืม บวกกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน การแซงก์ชั่น ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น

สัตยจิตระบุอีกว่า ตุรกีและอาร์เจนตินาอาจเป็นกรณีพิเศษ แต่เมื่อพิจารณาจากปัญหาพื้นฐานแล้ว ประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ มีแนวโน้มจะตกอยู่ใต้แรงกดดันเช่นกัน ดังนั้น แม้ปัญหาอาร์เจนตินาและตุรกีดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่อะไรก็ตามที่เน่าเปื่อยสามารถแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว