ประชานิยม-ชาตินิยม “ภัยคุกคาม” สหภาพยุโรป

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

ความเคลื่อนไหวของสหภาพยุโรป (อียู) ยังคงถูกจับตาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงกรณีอังกฤษที่อยู่ระหว่างกระบวนการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียูเท่านั้นที่ถูกติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะนี้ หากแต่ยังมีประเด็นของอิตาลีและเยอรมนีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งล้วนนับว่ามีอิทธิพลที่จะชี้ชะตาและความเป็นไปของอียูในอนาคต

ความเปลี่ยนแปลงในอังกฤษ อิตาลี และเยอรมนี จนอาจส่งผลต่อชะตากรรมของอียู และทำให้นักลงทุนทั่วโลกหวั่นไหว ล้วนมีสาเหตุมาจากประชาชนรู้สึกมีความเป็นชาตินิยมสูง และเห็นว่าประเทศตัวเองเสียเปรียบจากการต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู ประกอบกับได้แรงบันดาลใจจาก โดนัลด์ ทรัมป์ นักชาตินิยมและประชานิยมที่ชนะการเลือกตั้งด้วยสโลแกน “อเมริกาต้องมาก่อน”

ในอิตาลีฝ่ายที่ต่อต้านอียูและไม่อยากให้ใช้เงินสกุลยูโร หรืออีกนัยหนึ่งซีกที่มีนโยบายประชานิยมชนะเลือกตั้ง ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลใหม่จึงโน้มเอียงไปในทางขัดขืนต่อกฎระเบียบของอียู โดยประเด็นท้าทายล่าสุดก็คือ กรณีคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) แถลงไม่รับร่างแผนงบประมาณขาดดุล 2.4% ของจีดีพีอิตาลี และเรียกร้องให้ไปดำเนินการมาใหม่ เพราะปัจจุบันอิตาลีมีหนี้สูงมากจะกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปโดยรวม

ถือเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมาธิการยุโรปปฏิเสธแผนงบประมาณของสมาชิก โดยอิตาลีมีเวลาอีกราว 2 สัปดาห์ในการเสนองบประมาณเข้าไปใหม่ ซึ่งยังไม่มีใครรับประกันว่าอิตาลีจะทำตามหรือไม่ เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามาเพื่อดื้อแพ่งขัดขืนอียู

เฟรด เคมพ์ ประธานสภาแอตแลนติก ระบุว่า ถึงแม้สุดท้ายแล้วอิตาลีอาจจะยอมปรับเปลี่ยนงบประมาณตามข้อเรียกร้องของอียู และอาจลดความเสี่ยงที่จะถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือลดอันดับตราสารหนี้ของประเทศไปสู่ระดับ “ขยะ” แต่สิ่งหนึ่งที่จะไม่ยอมจางหายไปคือรัฐบาลอิตาลีจะชักชวนให้ประชาชนเบนเป้าโจมตีไปที่คณะทำงานอียู และสร้างความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์มากขึ้น

ในกรณีของเยอรมนีซึ่งมีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นไปเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผลคือพรรค “ซีดียู” ของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรี ที่ครองอำนาจมา 4 สมัย และพรรคร่วมรัฐบาลพ่ายแพ้ครั้งใหญที่สุดในรอบหลายปี ขณะที่พรรคขวาจัดอย่างเอเอฟดีก้าวเข้าสู่สนามการเมืองได้เป็นครั้งแรก

เยอรมนีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในยุโรป และร่วมมือกับฝรั่งเศสมาโดยตลอดในการผลักดันให้ยุโรปผนึกเป็นหนึ่งเดียวกัน เยอรมนีภายใต้การนำของนางแมร์เคิลถูกมองว่ามีอิทธิพลสูงมากต่อบรรดาผู้นำในยุโรป เธอมีบทบาทเป็นกาวทรงอิทธิพลที่สุดในการประสานระหว่างยุโรปด้วยกัน แต่เมื่อพรรคของนางแมร์เคิลพ่ายแพ้เลือกตั้งท้องถิ่นและเธอประกาศว่าจะไม่ลงชิงตำแหน่งใด ๆ ทางการเมืองในอนาคต ก็ย่อมส่งผลต่อสถานะในอนาคตของอียู โดยเหตุผลหนึ่งที่พรรคของเธอแพ้เลือกตั้งก็เพราะประชาชนไม่พอใจนโยบายรับผู้อพยพ ตลอดจนการแก้ปัญหาหนี้สินยุโรปที่ถูกมองว่าเงินภาษีของชาวเยอรมันถูกนำไปช่วยชาติสมาชิกที่ก่อหนี้มาก

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นนับว่ายุโรปกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งในแง่การเมืองและเศรษฐกิจ แนวโน้มที่เกิดขึ้นคือจะมีการแบ่งขั้วกันชัดยิ่งขึ้นระหว่างประเทศที่มีรัฐบาลประชานิยมกับไม่ประชานิยม โดยฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และอื่น ๆ จะอยู่ขั้วหนึ่ง ส่วนอีกขั้วหนึ่งจะประกอบด้วย อิตาลี โปแลนด์ และฮังการี

ในส่วนของอังกฤษนั้น มีแนวโน้มว่าจะต้องออกจากอียูโดยไร้ข้อตกลงใด ๆ (no deal Brexit) ซึ่งไม่น่าปรารถนาเพราะอังกฤษคงประสบวิกฤตและปั่นป่วนอีกหลายเดือน หลังออกไปแล้วอังกฤษคงอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ลง มีบทบาทในโลกน้อยลง

ประชานิยมและชาตินิยมกำลังกลายเป็นอุปสรรคสำคัญอันหนึ่งในโครงการทดลองที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก ที่ค่อย ๆ วิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ นับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีเป้าหมายคือผนึกยุโรปให้เป็นหนึ่งเดียวและขยายให้ใหญ่ขึ้น โดยมีจุดประสงค์ร่วมกัน คือ สร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตย